ข่าว

"กระเบน"น่าห่วง-หวั่นสารพิษลามแม่กลองพบปลากระชังตายอื้อ

"กระเบน"น่าห่วง-หวั่นสารพิษลามแม่กลองพบปลากระชังตายอื้อ

10 ต.ค. 2559

"กระเบนน้ำจืด"น่าห่วง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อตายถึง 100 ตัวแล้ว เผยผลตรวจรับสารพิษชนิดเดียวกัน หวั่นลามแม่กลองพบปลากระชังตายอื้อ ผู้ว่าฯสมุทรสงครามสั่งเร่งแก้ปัญหา

      ยังคงเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับสถานการณ์กระเบนน้ำจืด หรือปลาราหูลอยตายอย่างไม่รู้สาเหตุในแม่น้ำแม่กลองจำนวนหลายสิบตัว จากการตรวจสอบเชื่อว่า ปลาราหูทั้งหมดได้รับสารพิษที่มีฤทธิ์ต่อร่างกายอย่างเฉียบพลันส่งผลให้ลอยน้ำตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ

       ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์กระเบนน้ำจืด หรือปลาราหู ลอยตายในแม่น้ำแม่กลองยังคงน่าห่วง ก่อนหน้านี้เมื่อ 9 ตุลาคม ชาวบ้านพบซากปลาราหูตายอย่างต่อเนื่องบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองหน้าวัดแม่น้ำ ต.ท้ายหาด อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม มีขนาด 1.50 เมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม สภาพเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็น ก่อนที่จะเก็บกู้ซากขึ้นมาฝังกลบ ซึ่งปลาราหูตัวที่ถูกพบเป็นตัวที่ 27 ขณะเดียวกันประมงจังหวัดสมุทรสงครามรับแจ้งจากชาวบ้านว่า ทยอยพบปลาราหูลอยขึ้นเหนือน้ำเป็นจำนวนมาก รวมยอดทั้งสิ้น 38 ตัว ส่วนกระเบนราหูที่เจ้าหน้าที่ช่วยไว้ได้ 2 ตัว ยังมีชีวิตอยู่ โดยเจ้าหน้าที่นำไปพักฟื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่งจังหวัดสมุทรสงคราม ขณะนี้อาการอยู่ในสภาพเกือบจะปกติแล้ว

         ด้าน นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวถึงความคืบหน้าการหาสาเหตุปลากระเบนราหูจำนวนมากตายในแม่น้ำแม่กลอง ว่า กำลังตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่ โดยวันนี้ (10 ต.ค.) นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน จากนั้นจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนดิน และชิ้นเนื้อซากปลาที่ตรวจพิสูจน์ เพื่อหาสาเหตุการตายของปลากระเบนจำนวนมากในแม่น้ำ และป้องกันไม่ให้ตายเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบพอสมควร โดยเบื้องต้นช่วงที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำฝนชะล้างหน้าดิน สิ่งปฏิกูล ปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลง จากสวนและไร่นาต่างๆ ไหลลงแม่น้ำแม่กลอง และตกตะกอนใต้ก้นแม่น้ำจนส่งผลกระทบต่อปลากระเบนราหูจำนวนมาก เพราะไปกินตะกอนดินดังกล่าว

        “ตอนนี้ปลาราหูตายไม่ทราบสาเหตุแล้วจำนวน 38 ตัว ส่วนอีก 2 ตัวรอดชีวิต อาการเริ่มดีขึ้น เบื้องต้นพบว่าปลาราหูทั้ง 2 ตัว เป็นเพศเมีย และมีลูกในท้องด้วย ทำให้ต้องเร่งหาสาเหตุให้เร็วที่สุด เนื่องจากแม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งกำเนิดของปลาราหู” นายคันฉัตร กล่าว

        ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวต่อว่า ซากปลาที่เน่าเสียได้ดำเนินการเผาทำลายแล้ว ส่วนปลาที่ตายแต่ยังมีชิ้นเนื้อสดอยู่ได้เก็บชิ้นเนื้อมาตรวจสอบที่สถานีวิจัยประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เช่น ตรวจเลือด อย่างไรก็ตามจังหวัดสมุทรสงครามได้จัดชุดเฝ้าระวังที่เป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบปลาราหูลอยหัวก็ขอให้รีบแจ้งจังหวัดเพื่อเร่งช่วยชีวิตได้ทันท่วงทีที่ศูนย์เพาะเลี้ยงประมงชายฝั่งจังหวัดสมุทรสงคราม

         รศ.สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด กล่าวถึงผลการตรวจซากปลาราหูจำนวน 3 ตัว ว่า จากการตรวจสอบพบผลที่ตรงกันคือ ปลาราหูได้รับสารพิษชนิดเดียวกัน โดยสารนี้ส่งผลให้ปลาตายในทันที หรือภาษาทางวิชาการคือตายแบบเฉียบพลัน โดยสารพิษดังกล่าวเข้าไปทำลายระบบไต หัวใจ และประสาท ส่วนสารพิษนี้จะมาจากที่ใดนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกรมควบคุมมลพิษ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการงานร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้พบยอดกระเบนตายไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ซึ่งตามหลักธรรมชาติจะมีมากกว่านั้น เนื่องจากกระเบนตายส่วนหนึ่งจะลอยอืด ขณะที่อีกส่วนจะจมลงใต้น้ำ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ ประเมินว่า อาจจะตายถึง 100 ตัว

        วันเดียวกัน รศ.สพญ.นันทริกา และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมปัญหาปลาในกระชังของชาวบ้าน ล่าสุดพบว่าตายยกกระชังหลายสิบแห่ง โดยตายในระยะเวลาเดียวกันกับที่ปลาราหูตาย ซึ่งเรื่องนี้ รศ.สพญ.หญิงนันทริกาตั้งข้อสังเกตว่า ปลาในกระชังน่าจะได้รับสารพิษชนิดเดียวกัน เพราะแม้ปลาในกระชังจะแข็งแรง แต่หากถูกขังไม่สามารถว่ายหนีได้ก็จะตายได้เช่นกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้สะท้อนได้ว่า แม่น้ำแม่กลองมีปัญหาอย่างหนัก เพราะเกิดเหตุสัตว์ที่ไวต่อสารเคมีอย่างปลาราหู และสัตว์น้ำทั่วไป ตายในห้วงระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเป็นวาระแห่งชาติ เพราะแม่น้ำแม่กลองกินพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องบูรณาการตรวจสอบหาสาเหตุการตายของสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์สงวนจำนวนมาก