ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่ง รื้อท่าเรือระยองรีสอร์ท
ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่ง รื้อท่าเรือระยองรีสอร์ท ระบุเจ้าของขออนุญาติกรมเจ้าท่าแล้ว ชี้ กฎหมายไม่ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างในอุทยานฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ ศาลปกครองระบองมีคำพิพากษากรณีที่ บริษัท รีเสิชแอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ ซิสเท็มส์ จำกัด ฟ้อง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด โดยคดีนี้ ผู้ฟ้องประกอบกิจการโรงแรม (ระยองรีสอร์ทและได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือออกไปในทะเล ขนาดความยาวประมาณ 400 เมตร เมื่อปี พ.ศ. 2530 และ พ.ศ. 2533 ฟ้องว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนสะพานท่าเทียบเรือ โดยให้เหตุผลว่าสะพานดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติฯ และเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (หรือกรมป่าไม้เดิม) ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง
ศาลปกครองระยองวินิจฉัยโดยมีสาระสำคัญสรุปว่า ผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีออกไปทะเล เพื่อใช้รับส่งลูกค้าของโรงแรม อันเป็นการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำของทะเลภายในน่านน้ำไทย ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดี ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งในขณะนั้น คือ
กรมป่าไม้ ในการเข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงถือได้ว่าเป็นการก่อสร้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือโดยไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มิได้เกิดจากเจตนาที่จะกระทำการ ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เป็นเพราะผู้ฟ้องคดีไม่รู้ว่าทะเลดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากความ ไม่ชัดเจนของกฎหมายที่มิได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ที่ดิน” และ “อุทยานแห่งชาติ” ไว้อย่างชัดเจนเพียงพอ ทั้งมิได้บัญญัติเรื่องการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติไว้ชัดเจนดังเช่นที่บัญญัติในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และแม้กระทั่งกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเช่นเดียวกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ยังไม่ทราบว่าการก่อสร้างสะพาน ท่าเทียบเรือดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ด้วย จึงมิได้แนะนำให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนจนกระทั่งผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนั้น
ขณะที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือดังกล่าว กรมป่าไม้ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเขตอุทยานแห่งชาติก็มิได้ตรวจสอบและแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการให้ถูกต้อง ตลอดจนเมื่อมีการจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ขึ้นเป็นกรมในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติมาเป็นของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อปี พ.ศ. 2545 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็มิได้ตรวจสอบหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องแต่อย่างใด
ทั้งที่สะพานดังกล่าวก็อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด ไม่มากนัก อันถือเป็นความบกพร่องของหน่วยงานในภาครัฐส่วนหนึ่งด้วย ประกอบกับตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ก็มิได้บัญญัติห้ามการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยเด็ดขาด แต่บัญญัติให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอนุญาตเป็นกรณีไป และ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้ออกระเบียบว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยว และ พักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตให้บุคคลดำเนินกิจการบางประเภทในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสะพานท่าเทียบเรือดังกล่าวก็เป็นกิจการที่มีความจำเป็นแก่การท่องเที่ยวที่พนักงานเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตให้ดำเนินการในเขตอุทยานแห่งชาติได้ ซึ่งหากมีการขออนุญาตและได้มีการอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานดังกล่าวได้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าฯ ก็ไม่จำต้องสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสะพานท่าเทียบเรือแต่อย่างใด อีกทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า ก่อนที่กรมเจ้าท่าจะได้อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือ กรมเจ้าท่าได้พิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว
ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของการดูแล รักษา คุ้มครอง ป้องกันทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เช่นกัน และโดยหลักการของการใช้อำนาจของ ฝ่ายปกครอง จะต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นหลักกฎหมายปกครองทั่วไป โดยฝ่ายปกครองจะต้องเลือกใช้มาตรการทางปกครองที่สามารถบรรลุผลได้จากเบาไปหาหนัก เพื่อให้กระทบกระเทือนผู้รับผลจากมาตรการดังกล่าวน้อยที่สุด
การที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าฯ เลือกใช้วิธีการออกคำสั่งให้รื้อถอนสะพานในทันที ทั้งที่สามารถใช้มาตรการที่เบากว่า โดยการแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการขออนุญาตก่อนได้ จึงไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนของการใช้อำนาจทางปกครอง และถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีทำลายหรือ รื้อถอนสะพานท่าเทียบเรือ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด ที่ให้ผู้ฟ้องคดีทำลายหรือรื้อถอนสะพานท่าเทียบเรือ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว โดยให้คำสั่งศาลที่ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองมีผลต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุดหรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา คือ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าฯ จะต้องแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือที่พิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 16(13) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เสียก่อน หากไม่ได้รับอนุญาต จึงจะมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสะพานดังกล่าวได้