กรมปศุสัตว์ สั่งคุมเข้ม “ยีนดื้อยา”
กรมปศุสัตว์เอาจริงร่อนคำสั่งถึงสัตวแพทย์ทั่วไทย ห้ามใช้โคลิสตินผสมอาหารให้หมูกิน ขู่ส่งจนท.สุ่มตรวจเจอ โดนลงโทษ !
หลังทีมข่าว “คม ชัด ลึก” รายงานการพบฟาร์มหมูหลายพื้นที่ใช้ยาอันตราย “โคลิสติน” ผสมในอาหารให้หมูกินเป็นประจำ เพื่อป้องกันหมูจากอาการท้องร่วง ทั้งที่เป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นตัวการแพร่กระจายยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์-วัน” (MCR-1) ยิ่งไปกว่านั้นฟาร์มหมูหลายแห่งได้ใช้ยาโคลิสตินเถื่อนหรือยาไม่มีทะเบียนด้วย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือนพิษอันตรายที่ตกค้างในเนื้อหมู อาจทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอาการไตวายได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ลงนามคำสั่ง “เรื่อง การควบคุมการใช้ยา Colistin ในฟาร์ม” ส่งตรงถึง “นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย” ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 800 คน โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
จากรายงานการตรวจพบยีนดื้อยาโคลิสติน เอ็มซีอาร์–วัน (Colistin MCR-1) ในผู้ป่วยของประเทศจีน เนื่องจากยาโคลิสติน เป็นยาปฏิชีวนะที่แพทย์เก็บไว้ใช้ในกรณีจำเป็น โดยใช้เป็นยาชนิดสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ ที่ยาชนิดอื่นใช้ไม่ได้ผล สำหรับในสัตว์มีหลายประเทศทั่วโลกลดการใช้ยาโคลิสติน และบางประเทศไม่ให้ขึ้นทะเบียนยานี้ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาแพร่ระบาดในมนุษย์
ส่วนในประเทศไทย ยาโคลิสตินยังอนุญาตให้ใช้ผสมอาหารสัตว์ เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคท้องร่วง ดังนั้น เพื่อป้องกันการดื้อยาโคลิสติน กรมปศุสัตว์จึงขอให้สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มดำเนินการดังต่อไปนี้ 5 ข้อได้แก่
1.ห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินเพื่อเป็นการป้องกันโรคอย่างเด็ดขาด 2.หากสัตว์มีอาการป่วยให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มใช้หลักวิชาการทางสัตวแพทย์ในการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ใช่โคลิสตินเป็นลำดับแรก ส่วนยาโคลิสตินจะใช้ได้ต่อเมื่อไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดใช้แล้วได้ผล
3.ให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มรายงานการใช้ยาโคลิสตินแก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เมื่อมีการใช้ยาดังกล่าว 4.ให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มคัดกรองและตรวจสอบอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงสัตว์จะต้องไม่มียาโคลิสตินผสมอยู่ โดยให้มีการเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะ 5.กรมปศุสัตว์จะจัดเจ้าหน้าที่สุ่มเข้าฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อตรวจสอบการใช้ยาโคลิสตินหากพบว่ามีการใช้ที่นอกเหนือจากข้อสองจะพิจารณาสถานะของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มนั้น
นสพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจีนพบยีนดื้อยาโคลิสตินสายพันธุ์ใหม่ กรมปศุสัตว์ออกหนังสือด่วนมาก 9 ฉบับ ถึงสมาคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเสนอให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ใบสั่งสัตวแพทย์เท่านั้น รวมถึงจำกัดจำนวนขายให้ลดลงร้อยละ 70
“วันที่ 8 กุมภาพันธ์ อธิบดีออกหนังสือเป็นคำสั่งให้สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรต้องควบคุมการใช้ยาโคลิสตินอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาอาจเป็นหนังสือขอความร่วมมือ แต่ครั้งนี้เอาจริง ถ้ามีหลักฐานว่าคนไหนไม่ทำตามจะโดนลงโทษด้วย อาจใช้วิธีพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และถ้าเป็นกรณีร้ายแรงว่าพบว่าเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหรือใช้ยาเถื่อนหรือยาปลอม อาจถึงขั้นถอนเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ คำสั่งนี้จะช่วยควบคุมการใช้ยาโคลิสตินได้มาก เพราะจำนวนหมูที่เลี้ยงประมาณร้อยละ 70 ของประเทศไทยอยู่ภายใต้ฟาร์มมาตรฐานมีสัตวแพทย์ประจำดูแล”
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวย้ำว่า ยาโคลิสตินที่ใช้ผสมในอาหารถ้าใช้อย่างถูกวิธี จะไม่เหลือพิษหรือสารตกค้างถึงผู้บริโภคแน่นอน ยาตัวนี้ยังมีประโยชน์เพียงแต่ต้องคุมการใช้ทั้งในคนและสัตว์ให้ถูกวิธี หากทุกฝ่ายช่วยกันก็สามารถควบคุมเชื้อดื้อยาโคลิสตินในประเทศไทยได้
ด้าน นสพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า ได้รับเอกสารข้างต้นจากกรมปศุสัตว์แล้ว กำลังพิจารณาเพื่อส่งต่อให้สมาชิกของสมาคมรับทราบ สำหรับนโยบายควบคุมการใช้ยาโคลิสตินเพื่อป้องกันยีนดื้อยาแพร่กระจายนั้น กระทรวงสาธารณสุขควรออกคำสั่งเป็นยาควบคุมพิเศษ ห้ามซื้อขายทั่วไป เพราะไม่เช่นนั้นเจ้าของฟาร์มหรือเกษตรกรก็สามารถซื้อยาโคลิสตินมาใช้ได้เอง สัตวแพทย์ไม่สามารถไปควบคุมดูแลได้ทั้งหมด
สาเหตุที่วงการแพทย์ทั่วโลกเฝ้าระวัง “ยาโคลิสติน” ที่นิยมใช้รักษาหมูท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย “อี.โคไล” นั้น เนื่องจากปลายปี 2558 จีนพบหมูและคนดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมูชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ หรือ “ยีนเอ็มซีอาร์-วัน” ที่สามารถส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาสู่คน และจากคนไปสัตว์รวมถึงสัตว์เลี้ยง และยังถ่ายทอดไปยังเชื้อโรคตัวอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย ขณะนี้มีรายงานการพบยีนดื้อยาตัวนี้ในมนุษย์ หมู และไก่ ช่วงปี 2010–2015 จำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย จากสถิติที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 3–4 หมื่นคน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากทีมวิจัยสัตวแพทย์ จุฬาฯ ที่นำตัวอย่างเชื้อจากฟาร์มหมูขนาดกลางประมาณ 100-1,000 ตัว ที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2004–2014 มาวิเคราะห์ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด นครปฐม ราชบุรี และชลบุรี จำนวนตัวอย่าง 17 ฟาร์ม พบเชื้อดื้อยาโคลิสตินร้อยละ 40-100 และพบยีนดื้อยาเอ็มซีอาร์-วัน จำนวนร้อยละ 20–66 รวมถึงรายงานยืนยันการพบยีนกลายพันธุ์ชนิดนี้ในคนไทยเบื้องต้นแล้ว 3 คน