ใครเคยกิน? "กล้วยทอดนางเลิ้ง"
ใครที่ผ่านถนนนครสวรรค์มุ่งหน้าสี่แยกจักรพรรดิพงษ์ คงจะเคยเห็นกลุ่มคนถือถุงกล้วยทอดยืนขายอยู่ริมทาง กล้วยทอดนางเลิ้งนั้นมีดียังไงกันนะ?
‘พระเจ้าช่วยกล้วยทอด!!’ เป็นประโยคฮิตติดปากคนในยุคนี้ เมื่อเห็นว่าบนถนนสายสั้นๆในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คึกคักไปด้วยร้านขายกล้วยทอดด้วยกันถึง 7 ร้าน เรียงรายยาวตลอดถนนเส้นสั้นๆ
เมื่อเลี้ยวรถเข้าสู่ถนนนครสวรรค์มุ่งหน้าสี่แยกจักรพรรดิพงษ์ จนกระทั่งถึงสี่แยกหลานหลวง จะพบเห็นปรากฎการณ์ “กล้วยทอดฟีเวอร์” ที่บรรดาผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคันหยุดจอดแวะซื้อกล้วยทอดเป็นระยะ รวมไปถึงพนักงานใส่เอี๊ยมหลากสี ไม่ว่าจะเป็น ชมพู, แดง, ขาว, น้ำเงิน, ส้ม, เขียว และ ม่วง เดินขายกล้วยทอดกันให้ควั่ก จนตำรวจจราจรในท้องที่ต้องติดป้ายประกาศ “ห้ามจอดรถซื้อกล้วยทอดบนถนน” ซึ่งความโด่งดังนี้เอง กลายเป็นที่บอกเล่าปากต่อปากให้ผู้ที่ชื่นชอบรับประทานกล้วยทอด หรือ กล้วยแขก ไม่พลาดที่จะแวะมา ตั้งแต่ศิลปิน ดารานักร้อง ไฮโซ ตลก ยันรัฐมนตรี โดยมีจุดเริ่มต้นจากแค่แผงขายกล้วยทอดเล็กๆ ในตรอกแคบๆ ใกล้สี่แยกจักรพรรดิพงษ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
เดิมทีนั้นในตรอกมีร้านกล้วยทอดของ “แม่กิมยุ้ย” เป็นผู้บุกเบิกทอดกล้วยขาย จากนั้นก็มี “แม่กิมล้ง” มาขายแทนที่รสชาติอร่อยเป็นที่เลื่องลือนานกว่า 40 ปี จนเมื่อแม่กิมล้งเสียชีวิต ลูกสะใภ้และเครือญาติก็ได้แยกย้ายมาเปิดร้านขายกล้วยทอดของตัวเองเพราะเหตุผลส่วนตัว โดยต่างใช้คำว่า ‘เจ้าเก่าดั้งเดิม’ จนหลายคนก็สงสัยว่าที่จริงแล้วเจ้าไหนกันแน่ที่เป็นเจ้าดั้งเดิม?!
สำหรับสูตรนั้นมักใช้กล้วยห่าม ไม่ดิบหรือสุกเพื่อให้ทอดแล้วกรอบไม่อมน้ำมัน และรสชาติไม่หวานจนเกินไป เคล็ดลับคือส่วนผสมที่เคลือบกล้วยและการทอด โดยสูตรนั้นแตกต่างกัน บางเจ้าใช้กากมะพร้าวและงาขาวผสม บางเจ้าใช้แต่แป้ง บางเจ้าก็ใส่น้ำปูนใส เพื่อคงความกรอบหอมอร่อย
กล้วยลูกนึงจะฝานได้ประมาณ 3 ชิ้น นำไปคลุกส่วนผสม จากนั้นหย่อนลงกระทะน้ำมันที่เดือดจัดเพียงครึ่งเดียว เมื่อสีเริ่มเปลี่ยนจะยกขึ้นพักไว้ จากนั้นจะนำที่เหลือลงทอด จนสีใกล้เคียง แล้วนำกล้วยที่พักไว้ลงทอดตามพร้อมกันทั้งหมดเพื่อให้สีเหลืองสวยเท่ากัน ด้วยการที่กล้วยทอดนั้นทานสะดวก รสชาติอร่อยถูกปากคนไทย วัตถุดิบก็หาง่าย จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมีร้านกล้วยทอดผุดขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อมีหลายเจ้าบนพื้นที่ถนนที่ไม่ได้กว้างมากนัก การต่อสู้เริ่มเข้มข้นขึ้น จากที่ขายแค่หน้าร้านก็ต้องปรับกลยุทธ์จ้างเซลส์แมนขายกล้วยเดินสายส่งตรงถึงหน้าบานกระจกรถลูกค้าโดยไม่ต้องเดินลงมาให้เสียเวลา เข้าแนว “ใครเร็วใครได้” (First Come First Serve) บางเจ้าก็ส่งพนักงานปั่นจักรยานไปขายที่แยกอื่นๆ โดยจะแบ่งแยกร้านตามสีเอี๊ยม หน้าร้านใครหน้าร้านมัน ใครถูกใจรสชาติสีไหนก็กวักมือเรียก เตรียมเงินให้พร้อมเป็นอันได้กินแล้ว มีทั้งกล้วยทอด เผือก มัน ข้าวเม่า ถุงละ 20 บาท (ข้างในถุงมี 2 ถุงเล็ก ถุงละ 4 ชิ้น) เทคนิคง่ายๆก็จำนิ้วที่หิ้วเอา “นิ้วชี้ถึงนิ้วนางเป็นกล้วยทอด ส่วนนิ้วก้อยเป็นมันเผือกข้าวเม่า ต้องจำให้ถูกจะได้หยิบให้ลูกค้าก่อนรถจะออกตัว”
หลังจากเกิดปรากฎการณ์ขายตรงทำให้การจราจรติดขัดเพราะมัวแต่ซื้อกล้วยทอด จนในที่สุดทางเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งต้องติดป้ายประกาศ ‘ห้ามจอดรถซื้อกล้วยทอดบนถนน ฝ่าฝืนมีความผิดทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ’ โดยผู้ซื้อโดนปรับไม่เกิน 500 บาทส่วน ผู้ขายปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งหลายร้านก็ให้ความร่วมมือด้วยการไม่ลงไปเดินเร่ขายบนถนน แต่จะอาศัยยืนตรงริมทางเท้า เมื่อคนขับลดกระจกกวักมือตอนรถติดก็ค่อยวิ่งลงไปขาย แล้วกลับขึ้นมายืนริมทางเท้าเหมือนเดิม แต่ก็ยังมีบางเจ้าที่ปล่อยให้พนักงานลงไปเดินขายตรงบนท้องถนนอยู่
จริงๆ เป็นสิ่งที่น่าดีใจที่กล้วยทอดธรรมดากลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน แต่ก็น่าเศร้าที่กลุ่มคนบางกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์เกินพอดีจนทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ทุกวันนี้ยอดขายกล้วยทอดที่เคยเฟื่องฟู ค่อยๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเแย่งตลาดกันเอง จากแต่เดิมขายได้เกินวันละ 100 หวี ทอดไปเรื่อยๆ ปัจจุบันต้องลดเหลือแค่วันละ 100 หวี ขายถึง 6 โมงเย็นก็ปิดแล้ว เนื่องจากไม่อยากสั่งมาเยอะเพราะจะขายไม่หมด และอีกปัจจัยสำคัญคือคุณภาพที่ลดลงจนผู้บริโภคเริ่มคิดว่ากล้วยทอดนางเลิ้งไม่ได้อร่อยอย่างที่คิดอีกต่อไป
กล้วยทอดนางเลิ้งเป็นสิ่งสะท้อนนิสัยคนไทยได้อย่างดี ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมักจะพยายามลอกเลียนแห่ทำตามคนที่เขาประสบความสำเร็จ จนสุดท้ายเอกลักษณ์ รสชาติ และความน่ารักของนวัตกรรมการค้าขายแบบน่ารักตามแม่ค้าเจ้าเก่านั้นได้ค่อยๆ เลือนหายไป...และอาจหมดไปในที่สุด
เรื่อง-ภาพ ชาลินี ถิระศุภะ / NationPhoto