ภาพยนตร์‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ฉายไม่ได้- ศาลปกครองยกฟ้อง
ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องคดีห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายในไทย เนื่องจากเห็นว่าการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ ถูกต้องแล้ว
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย เนื่องจากเห็นว่าการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ที่ไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์ดังกล่าวออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ซึ่งเป็นกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย
วันที่ 11 สิงหาคม 2560 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา คดีพิพาทระหว่าง นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และนางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กับ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง เกี่ยวกับการห้ามฉายภาพยนตร์ เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย
คดีนี้ศาลปกครองกลาง เห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ลงวันที่ 3 เมษายน 2555 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตายออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2555 เมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 25555 ที่มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ เพียงใด
ศาลปกครองพิเคราะห์เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้นำภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื่องจากมีเนื้อหาสาระบางส่วนอาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญของภาพยนตร์โดยตลอดเรื่องอย่างเชื่อมโยงร้อยเรียงเป็นเนื้อเดียวกันว่า มีเนื้อหาเข้าลักษณะก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติหรือไม่ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะกล่าวว่า ประเทศในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประเทศสมมุติก็ตาม แต่โดยที่มีเนื้อหาหลายฉากหลายตอน สื่อให้เห็นได้ว่าเป็นสภาพสังคมไทย และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มิใช่ประเทศสมมุติตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง
สำหรับฉากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า คล้ายกับเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นฉากที่พิพาทนั้น เป็นฉากที่มีกลุ่มผู้ชายใส่เสื้อสีดำ โพกผ้าสีแดงที่ศีรษะจำนวนหนึ่ง ถือท่อนไม้วิ่งเข้าไปในโรงละครแล้วทำร้ายคนดูละคร คณะนักแสดง มีชายสวมแว่นดำถือเก้าอี้เหล็กพับทุบตีร่างกายของผู้กำกับละคร โดยมีกลุ่มผู้ชายโพกผ้าสีแดงที่ศีรษะส่งเสียงสนับสนุนการกระทำนั้น เป็นการนำเหตุการณ์ร่วมสมัยมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นแก่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต หรือผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความรู้สึกเคียดแค้นชิงชัง อันอาจเป็นชนวนให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติได้ เมื่อในการเข้าร่วมประชุมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทภาพยนตร์ในฉากดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยืนยันที่จะไม่ทำการแก้ไขทั้งที่สามารถดำเนินการได้ โดยมิได้ส่งผลกระทบต่อเนื้อหาสำคัญของเรื่อง รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับด้านมืดและด้านสว่างของมนุษย์ บาปบุญคุณโทษ ผลกรรม และการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมภายในจิตใจคน ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองประสงค์จะนำเสนอให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้รับรู้
ศาลปกครองกลาง ยังมีคำวินิจฉัยต่อไปว่า และเมื่อพิจารณาหนังสืออุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 25555 ที่รับว่า ได้มีการถกเถียงกันอย่างมากถึงฉาก 6ตุลาคม 2519 และฉากที่มีการใช้สีแดง แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบและเข้าใจแล้วว่า บทภาพยนตร์ในส่วนใดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแก้ไขหรือตัดทอน ประกอบกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นรากฐานความดีงามของสังคมไทยที่รัฐธรรมนูญมุ่งหมายธำรงรักษา จึงบัญญัติให้เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถยกขึ้นใช้เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ แม้ว่าในการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์จะถือเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองให้ผู้ประกอบอาชีพมีสิทธิและเสรีภาพในการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์ก็ตาม แต่สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อจำกัดบางประการตามมาตรา 29แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551คือ ภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นมาจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย
ดังนั้น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ออกเผยแพร่ ด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ซึ่งเป็นกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำภาพยนตร์ดังกล่าวออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง