"สมบัติ-บรรเจิด"ผิด 157 ไม่ผ่าน นศ.จบวิทยานิพนธ์
ศาลอาญาฯ พิพากษารอกำหนดโทษ "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์-บรรเจิด สิงคะเนติ" อดีตคณะบริหารนิด้า 3 ปี หลังวินิจฉัยปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทำ "นศ.ชาย ป.โทนิติศาสตร์" ไม่จบ
12 ต.ค.60 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษา รอการกำหนดโทษ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า เป็นเวลา 3 ปี ในคดีหมายแดง อท. (ผ.) 35/2560 ที่นายธนกฤต ปัญจทองเสมอ หรือนายสมศักดิ์ ทองเสมอ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดย นายธนกฤต หรือนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นนักศึกษานิด้า ได้ยื่นฟ้องคดีรวม 2 สำนวน คือคดีหมายเลขดำ อท.(ผ) 95/2559 และ อท.(ผ) 45/2559 ซึ่งหลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งรับฟ้องจำเลยรวม 22 คน และให้รวมพิจารณาทั้ง 2 สำนวนเข้าด้วยกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งจำเลย ประกอบด้วย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า , นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ , นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า , นายนเรศร์ เกษประยูร , นายสุนทร มณีสวัสดิ์ , น.ส.วริยา ล้ำเลิศ , น.ส.วนาภรณ์ วนาพิทักษ์ , นายกิตติ ภูมิเนียมหอม , นางอัจชญาสิงคาลวาณิช , น.ส.ภัทริน วรเศรษฐมงคล , นายธวัชชัย ศุภดิษฐ์ , น.ส.บุญอนันต์ พินัยทรัพย์ , นายบุญชัย หงส์จารุ , น.ส.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล , น.ส.วัชรีภรณ์ ไชยมงคล , นายพิชัย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต , นายสมบัติ กุสุมาวลี , นายสุดสันต์ สุทธิพิศาล , นางอุบลวรรณ เปรมศรีรัตน์ , นายปราโมทย์ ลือนาม , น.ส.รุ่งทิพย์ ศิริปิ่น และน.ส.จารุณี พันธ์ศิริ เป็นจำเลยที่ 1-22 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ซึ่งโจทก์ฟ้อง ระบุว่า โจทก์เป็นนักศึกษาของนิด้า เรียนจบภาควิชาการ รวม 24 หน่วยกิตแล้วมีผลการเรียนได้เกรดเฉลี่ย 4.00 และโจทก์สอบผ่านวิชาวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของคณะนิติศาสตร์และนิด้าในขั้นตอนการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์และสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ผ่านในระดับดี , จัดทำรูปเล่มตามข้อแนะนำจากคณะนิติศาสตร์ นิด้า และผ่านการอนุมัติรูปแบบเล่มวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของสำนักบรรณสารการพัฒนา นิด้า โดยโจทก์ได้ส่งเล่มวิทยานิพนธ์ 4 เล่มพร้อมซีดี 1 แผ่นครบตามหลักเกณฑ์ของคณะนิติศาสตร์และนิด้าแล้ว จึงมีสิทธิจบการศึกษาตามความในข้อ 79(6) และข้อ 42 แห่งข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
แต่จำเลยทั้งหมด ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติฯ เนื่องจากไม่พอใจที่โจทก์ร้องเรียนการดำเนินงานการบริหารคณะนิติศาสตร์ของนายบรรเจิด จำเลยที่ 3 ที่ดำเนินการไม่เรียบร้อยก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิด้า และนักศึกษา ซึ่งโจทก์ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมา โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 พร้อมเรียกค่าเสียหายในค่าลงทะเบียน , ค่าใช้จ่ายในการเรียนถ้าขาดประโยชน์จากการที่จะได้รับเงินเพิ่มตามวุฒิการศึกษาที่เพิ่มขึ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 604,700 บาท กับค่าเสียหาย ที่เป็นเงินค่าเล่าเรียน , ค่าใช้จ่ายในการเรียนและค่าขาดประโยชน์ที่จะได้รับหากโจทก์สำเร็จการศึกษาอีกรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,484,700 บาท จำเลยทั้ง 22 คน ให้การปฏิเสธ
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความผิดพลาดทั้งหลายในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการทำวิทยานิพนธ์ของโจทก์ เป็นผลจากการที่คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่เพิ่งเปิดใหม่ อาจารย์ในคณะมาจากหน่วยงานอื่นๆ ยังมีความเข้าใจไม่เพียงพอในเรื่องโครงสร้างหลักเกณฑ์ขั้นตอนกระบวนการแนวปฏิบัติดังที่ปรากฏในบันทึกข้อความของคณะนิติศาสตร์ ซึ่งการแก้ไขความผิดพลาดควรเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่การแก้ไขดังกล่าวนั้นหากก่อให้เกิดผลกระทบแก่ผู้เกี่ยวข้องก็จะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนด้วย ซึ่งเป็นปัญหาในทางปกครอง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง อันเนื่องมาจากการที่โจทก์ มีกรณีร้องเรียนหรือขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการของนายบรรเจิด จำเลยที่ 3 ต่อเนื่องตลอดมา ทำให้เชื่อว่ากระบวนการตัดสินใจดำเนินการของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่กรณีโดยตรงกับโจทก์ที่ร้องเรียนให้ตรวจสอบโดยเปิดเผยตัวตนชัดเจน ทำให้เชื่อว่าเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 3 เลือกตัดสินใจกระทำการโดยเลือกกระบวนการที่ทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบมากเกินสัดส่วนของประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับ และกระทำโดยเจตนาที่จะยังไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา อันอยู่ในขอบข่ายของความรับผิดทางอาญา
ขณะที่นายสมบัติ อดีตอธิการบดี นิด้า จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายบรรเจิด จำเลยที่ 3 แต่ในการวินิจฉัยสั่งการกลับกระทำเพียงให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริง ทั้งที่โจทก์ร้องเรียนกล่าวโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันที่จะยังไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา แม้จะเป็นการกระทำคนละเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีความมุ่งหมายเดียวกันในระยะเวลาและตามขั้นตอนที่ต้องอาศัยเวลาและต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว จึงพิพากษาว่า นายสมบัติ อดีตอธิการบดี นิด้า จำเลยที่ 1 และนายบรรเจิด อดีตคณบดี คณะนิติศาตร์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นข้าราชการและนักวิชาการที่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิด ศาลจึงเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 3 ปี
ส่วนการกระทำของจำเลยอื่นๆ แม้มีความเชื่อมโยงในทางที่ใกล้เคียงที่จะมีมูลเหตุจูงใจเพียงพอถึงขั้นเป็นคู่กรณีกับโจทก์ดังเช่นนายนเรศร์ จำเลยที่ 4 ได้ แต่ตามพยานหลักฐานยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้ต้องรับผิดทางอาญา รวมทั้งนายประดิษฐ์ จำเลยที่ 2 กับจำเลยอื่นในคณะกรรมการ ทคอ. การศึกษาปรากฏเพียงการร่วมลงมติตามข้อเท็จจริงที่นายบรรเจิดจำเลยที่ 3 นำเสนอ ซึ่งตามพยานหลักฐานไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยแต่ละคนในคณะกรรมการ ทคอ. การศึกษามีความเห็นชัดเจนอย่างไร อีกทั้งโจทก์ไม่ได้สร้างความชัดเจนในส่วนนี้จึงไม่เพียงพอที่จะต้องให้รับผิดทางอาญา ดังนั้น จึงพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 , 4 , 5-22
สำหรับความเสียหายนั้น ตามทางนำสืบแม้จะมีรายละเอียดในส่วนของค่าเล่าเรียน แต่เนื่องจากโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากผลของการเรียนการสอนที่ผ่านมา ขณะที่ความผิดพลาดในด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องโจทก์ก็มีส่วนที่ก่อให้เกิดด้วย จึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ ส่วนคำขออื่นทั้งในส่วนอาญาและในส่วนแพ่งก็ให้ยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี หากคู่ความคดีนี้ ไม่พอใจผลคำพิพากษา ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ที่วันที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาออกมาด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของการ "รอการกำหนดโทษ" นั้น นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้อธิบายความหมายว่า ความแตกต่างของการรอการกำหนดโทษ และรอการลงโทษ (รอลงอาญา) นั้นต่างกัน คือ กรณี "รอการกำหนดโทษ" ดังเช่นคดีนี้ ศาลเพียงแต่พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดแล้ว แต่ว่าจะลงโทษจำคุกเท่าใดนั้นศาลยังมิได้กำหนด โดยภายในระยะเวลาตามที่ศาลกำหนดไว้ในคดีนี้คือ 3 ปีหากจำเลยไม่ได้กระทำความผิดอีกก็พ้นผิดไปโดยไม่ต้องถูกจำคุกหรือลงโทษปรับแต่อย่างใด แต่หากภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดจำเลยกระทำความผิดขึ้นอีก และในคดีหลังศาลประสงค์จะลงโทษจำคุกหรือปรับ ศาลในคดีหลังจะย้อนกลับมากำหนดโทษในคดีนี้ แล้วนำไปรวมกับคดีหลังได้
ส่วน "รอการลงโทษ (รอลงอาญา)" นั้น ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดและกำหนดโทษแล้วว่าจะลงโทษจำคุกหรือปรับเท่าใด แต่โทษจำคุกศาลเห็นสมควรให้รอการลงอาญาไว้ก่อน ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดเช่นเดียวกัน หากต่อมาภายในระยะเวลานั้น จำเลยกระทำความผิดศาลในคดีหลังจะนำโทษที่ศาลคดีก่อนที่กำหนดไว้แล้วมารวมกับโทษที่จะกำหนดในภายหลังได้เลย โดยไม่ต้องกำหนดโทษใหม่ มาตรการในการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษนั้น เป็นมาตรการที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้นานแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการลงโทษของนานาอารยประเทศเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยอีกสักครั้ง เมื่อศาลพิจารณาแล้วว่า จำเลยยังสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือสังคมต่อไปได้ และการให้จำเลยต้องรับโทษโดยเฉพาะโทษจำคุกในทันทีเป็นประโยชน์แก่สังคมน้อยกว่าการรอการลงโทษจำเลยไว้ก่อนดังเช่นคดีนี้
โดยการรอการกำหนดโทษ และรอการลงโทษ (รอลงอาญา) ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 กำหนดไว้ว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับและในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือเคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่า 5 ปีแล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัยอาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรับรู้ความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเพื่อให้โอกาสกับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้..."