ข่าว

“หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว

“หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว

16 พ.ย. 2560

แนะสร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์

“หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว

         สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล สำหรับประเทศไทย ส่วนในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” อันมีคำขวัญ “หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว” รณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมมีการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว  โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ. พรชัย มูลพฤกษ์ รองคณบดี และ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีฝ่ายการคลังและการพัสดุ และผู้อํานวยการศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.) ให้เกียรติมาร่วมแถลงข่าวด้วย ณ บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน

“หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว

         พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว และต่อสุขภาพกายและจิตของบุคคลในครอบครัวอีกด้วย จึงต้องเริ่มที่ครอบครัวต้องมีการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน ให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา ก็จะช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะการสื่อสารต่อกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และการสื่อสารในเชิงให้กำลังใจจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มีความผูกพันรักใคร่ และครอบครัวมีความเข้มแข็งกันมากยิ่งขึ้น ซึ่ง พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็น 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) เหนื่อยไหม 2) รักนะ 3) มีอะไรให้ช่วยไหม  4) คำชมเชย (ภูมิใจ/ดี/เยี่ยม) 5) ไม่เป็นไรน่ะ 6) สู้ ๆ นะ 7) ทำได้อยู่แล้ว 8) คิดถึงนะ 9) ขอบคุณนะ 10) ขอโทษนะ ตามลำดับ พบว่า อันดับ 1 เหนื่อยไหม ร้อยละ 20.2 อันดับ 2 รักนะ ร้อยละ 16.1 อันดับ 3 มีอะไรให้ช่วยไหม ร้อยละ 15.2 และ 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) ไปตายซะ 2) คำด่า (เลว/ชั่ว) 3) แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย 4) ตัวปัญหา 5) ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ 6) น่ารำคาญ 7) ตัวซวย 8) น่าเบื่อ 9) ไม่ต้องมายุ่ง 10) เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง ตามลำดับ พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ไปตายซะ/จะไปตายที่ไหนก็ไป ร้อยละ 20.4 อันดับ 2 คำด่า (เลว/ชั่ว) ร้อยละ 19 และอันดับ 3 แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย ร้อยละ 16.5 

“หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว

         ด้าน ศ.คลินิก นพ. พรชัย มูลพฤกษ์ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและประเทศไทย การแก้ไขการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน เกี่ยวพันกับบุคคลใกล้ชิด การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจะต้องคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ จึงติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ในปีที่ผ่านมานี้ คณะฯ โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ได้มีการสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวโดยเป็นการสำรวจครั้งแรกและเป็นการสำรวจระดับประเทศ (National Survey) ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 

“หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว

          ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ กล่าวว่า ศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกจัดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2560 ศูนย์จัดการฯ ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจขนาดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับประเทศ โดยวิธีการสถิติสุ่มสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 2,280 ครัวเรือนจาก 5 ภาค “ความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับประเทศ” ผลสำรวจของโครงการฯ ที่จัดทำขึ้น ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 - มกราคม 2560 จาก 2,280 ครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 34.6 มีความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ซึ่งอันดับหนึ่ง เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ถึงร้อยละ 32.3 ทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 จากการสำรวจภาคที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือ “ภาคใต้” ที่มีมากถึงร้อยละ 48.1 ส่วนกรุงเทพมหานคร พบความรุนแรงในครอบครัวน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 26 ทั้งนี้ สาเหตุของความรุนแรงมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งลักษณะแต่ละครอบครัว สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ที่มีความไม่สงบทางการเมือง ทำให้มีความไม่แน่นอนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาแต่ละปัจจัย จะพบว่า ครอบครัวที่อยู่ในเขตเมืองจะมีความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่อยู่ในเขตนอกเมืองเกือบสองเท่า นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอจะมีการเกิดความรุนแรงมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้พอใช้ เพราะการที่ครอบครัวมีรายได้ไม่พอใช้อาจนำไปสู่ภาวะเครียด และมีแนวโน้มการเกิดความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ประเด็นการใช้สารเสพติดเช่นสุราบุหรี่ของคนในครอบครัวจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และกระบวนการคิด จึงทำให้มีแนวโน้มให้เกิดความรุนแรงได้มากกว่าครอบครัวที่ไม่ได้ใช้สารเสพติด ผลสรุปของการสำรวจรูปแบบความรุนแรงในครอบครัวไทยในครั้งนี้ พบว่า สาเหตุความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจาก การทำร้ายทางจิตใจด้วยวาจา จึงเป็นที่มาของการรณรงค์การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวไทยและกระตุ้นให้คนในครอบครัวใช้คำพูดที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างความปรองดองในครอบครัวและช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”

“หยุด! คำร้าย...ทำลายครอบครัว

        สุดท้าย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงถือเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และปัญหาด้านความรุนแรงไม่ใช่งานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญมีส่วนร่วมช่วยกัน เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์ในส่วนกลาง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร ถือเป็นการรวมพลังครอบครัว และพลังทางสังคมในการร่วมแสดงออก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สื่อมวลชน และศิลปินดารา ที่จะมาร่วมรวมพลังในการแสดงออกถึงการยุติความรุนแรงฯ และส่งเสริมให้เกิดพลังทางสังคมให้เกิดแนวทาง “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” กับแนวคิดดี ๆ “หยุด! คำร้าย ...ทำลายครอบครัว” อีกด้วย