บอร์ดค่าจ้างไร้มติเลื่อนเป็น 17 ม.ค.- แนะใช้ม.44
บอร์ดค่าจ้างไร้มติ ยื้อเวลาออกไปเป็น 17 ม.ค. “ชาลี”ชงยกเลิกอนุคกก.ค่าจ้างจังหวัด แนะ"บิ๊กตู่"ใช้ม.44 ปรับค่าจ้าง ยันตัวเลข 360 บาททั่วประเทศ
10 มกราคม 2561 ความคืบหน้าการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างทั้ง 3 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมพิจารณาการปรับค่าจ้าง ซึ่งมาประชุมครบทุกคน แต่พบกว่าตัวเลขที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกันมาก บางจังหวัดอัตราค่าจ้างต่ำ บางจังหวัดอัตราค่าจ้างสูงเกินไป บางจังหวัดไม่มีตัวแทนลูกจ้าง
“บอร์ดค่าจ้างจึงไม่สามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ได้ ขอให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกลับไปทบทวนอัตราค้าจ้าง ก่อนเสนอมาอีกครั้งในการประชุมบอร์ดค่าจ้างนัดต่อไปวันที่ 17 มกราคม 2561”นายจรินทร์ กล่าว
นายจรินทร์ กล่าวยืนยัน ปี 2561 จะมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ต้องอยู่ได้ ส่วนจะปรับขึ้นค่าจ้าง 15 บาท นั้นเป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น อาจจะมากหรือน้อยกว่าก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาคณะกรรมการค่าจ้างตามระบบไตรภาคี ที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่อนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขเข้ามา
"ส่วนจะมีการปรับขึ้นเท่าไหร่ ต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบ อาทิ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ความสามารถในการผลิต ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รวมถึงศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ไม่มีการปรับขึ้นมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 เพิ่งจะปรับ ในปีที่ผ่านมา สูงสุด 310 บาท”ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวกับ“คมชัดลึกออนไลน์”ว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างวันนี้แม้ครบองค์ประชุม แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดค้าจ้างแล้ว กลับมีข้อท้วงติงจากส่วนกลางมากมาย เหมือนไม่เชื่อใจอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 76 จังหวัด ที่เสนอตัวเลขมามีความแตกต่างกัน จึงถูกตีตกไป ทำให้เสียเวลาในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี2561ออกไปอีก
“ผมมองว่าบอร์ดค้าจ้าง ยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ อาศัยอนุกรรมค่าจ้างจังหวัดเป็นเกราะกำบัง หรือเป็นข้ออ้างในการเตะถ่วงไม่ยอมปรับค่าจ้างขั้นต่ำเสียที ผมขอเสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการต่าจ้างจังหวัด เพราะเสนอตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำมาแต่ละครั้งก็ถูกส่วนกลางตำหนิหรือตีตกไปทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาเสียโอกาส”นายชาลี กล่าว
นายชาลี กล่าวอีกว่า ควรจะมีหน่วยงานกลางหรือคนกลาง เช่น สถาบันทีดีอาร์ไอ หรือมหาวิทยาลัยทำการศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่นายจ้าง ลูกจ้างอยู่ได้ ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยังยืนยันตัวเลขเดิม ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศที่ 360 บาท ส่วนข้อเสนอให้ปรับ2-15 บาทนั้น ในสภาพความจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะเงิน 2 บาทแทบจะทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย
“ผมไม่มั่นใจว่า 17 ม.ค. 2561 บอร์ดค่าจ้างจะสามารถเคาะค่าจ้างขั้นต่ำปี2561ได้หรือไม่ ผมขอเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ใช้ม.44 ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะดีกว่า”นายชาลี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมบอร์ดค่าจ้างวันนี้ล่าช้ากว่าเดิม 1ชั่วโมง เนื่องจากกรุงเทพฯฝนกตกต่อเนื่อง ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมถึงเวลาช้ากว่ากำหนด แต่ตลอดเวลาปลัดกระทรวงแรงงานได้ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า จะเคาะตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำได้แน่ และได้นัดหมายให้พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แถลงข่าว แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัดหมายช่วงบ่ายๆ ก็มีการเลื่อนนัดออกไปอีก จนในที่สุด ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้แถลงข่าวกับสื่อมวลชน
ทั้งนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำประเทศไทย อยู่ที่ 300 บาท ซึ่งการปรับค่าจ้าง ตามขั้นตอนเมื่อผ่านมติบอร์ดค่าจ้าง หลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป