เชียงใหม่เปิดตัวเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยวิกฤติหมอกควัน
หอการค้าเชียงใหม่จับมือสถาบันการศึกษาสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยวิกฤติหมอกควันใช้ดัชนีวัดคุณภาพอากาศภาคปชช.ห่วงตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งในพื้นทีเพิ่มภายใน 10ปี
2 เม.ย.61-นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ่ จึงได้ร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าควรจะเสริมให้ความรู้กับประชาชนให้ตระหนัก รู้เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะ การใช้ดัชนีวัดคุณภาพอากาศภาคประชาชน (People AQI) โดยใช้เครื่องมือทางซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยวิกฤตหมอกควันให้เกิดขึ้น ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหอการค้าฯ จะได้มีส่วนแก้ไขปัญหาที่กระทบกับสังคม และสุขภาพในพื้นที่
วิธีการจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพา (Dustboy) โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นผู้สนับสนุน เป็นจำนวน 5 สถานี จากที่มีอยู่แล้ว 6 สถานี เพื่ ทำการเก็บข้อมูลปริมาณฝุ่น PM10 และ PM2.5 และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ได้แก่อุณหภูมิและ ความชื้น เพื่อรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงอันเนื่องจากปริมาณฝุ่นที่ตรวจวัดและเผยแพร่ข้อมูลแก่เครือข่ายและสาธารณะชน ดังนั้นหอการค้ามิได้มองแต่ดัชนีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับดัชนีความสุขและความเป็นดีอยู่ดีของสังคมด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร.สมพร จันทระ หน.ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มช. กล่าวว่า การวิจัยสาเหตุของหมอกควันพิษที่สะสมปกคลุมเมืองต่างๆ การจะเกิด ได้ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ ภูมิประเทศ ยิ่งเป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ ยิ่งจะกักเก็บหมอกควันไว้ระบายออกยาก เหมือนอยู่ในกระทะ, ช่วงฤดูหมอกควัน จะเป็นช่วงฤดูแล้ง อากาศค่อนข้างนิ่ง ลมน้อย ไร้ฝน ทำให้การกักตัวของมลพิษค่อนข้างดี และแม้วาไร้การเผาโดยสิ้นเชิงในประเทศไทย แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีการเผาอยู่ดี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องระดับประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ที่จะต้องได้รับความร่วมมือแก้ไขด้วยกัน
นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุลสาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 1 ที่ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในช่วงเดือนมกราคน-เมษายน ตนเห็นแต่หมอกควันพิษติดต่อกันมากว่า 10 ปีแล้วอย่างเรื่องหาแนวทางแก้ไขปัญหา มาก็ 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าจะจบสิ้น ตั้งแต่มีเกษตรแบบพันธสัญญาเกิดขึ้นและไม่ใช่เพียงแค่เชียงใหม่ หรือภาคเหนือแล้ว ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว เมียนมา จุดฮอตสปอตก็หนาแน่น หากดูจากจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจากดาวเทียม จะเห็นได้ชัดว่า เริ่มจากตอนใต้ของจีน จนไปถึงแอฟริกาแล้วในปัจจุบัน แปลว่า ปัญหาหมอกควันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในภาคเหนือ แล้ว แต่เป็นปัญหาระดับโลก ขณะเดียวกันหากชี้วัดเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตพลเมืองแต่ละพื้นที่ จากอายุขัยเฉลี่ย จะพบว่า ประชากรในภาคเหนืออายุเฉลี่ยต่ำที่สุดในประเทศ ตัวเลขไม่เป็นทางการพบว่า ชายไทยจังหวัดเชียงใหม่ อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 68 ปีเท่านั้น และน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าตัวแปรหลักมาจากผลกระทบจากหมอกควัน
ผศ.ดร.พนม กุณาวงค์ หน.ศูนย์สังคมดิจิทัล คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสน์ มช. กล่าวว่า ทางออกที่สำคัญที่สุดคือจะต้องสร้างการมีส่วนร่วม ที่ทุกคนจะสามารถเข้าใจและเดินไปในแนวทางเดียวกัน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ คน เมือง ป่า และอาชีพ ซึ่งก็คือ ระบบนิเวศน์ในเชิงการแก้ไขปัญหาหมอกควัน จากที่เมื่อก่อนแก้เฉพาะจุด ก็ได้รับการแก้ปัญหาที่ละจุด แต่เมื่อปัญหาเก่าหายไปปัญหาใหม่ก็ตามมา ขณะนี้จึงต้องเปลี่ยนความคิดว่า ทำอย่างไรให้ทุกจุดได้รับการบูรณาการแก้ไขไปพร้อมกัน เพราะหมอกควันไม่ได้เกิดขึ้นจากชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ไม่ได้มีความเสียหายจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และไม่ใช่แค่ประเทศไทย
นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร อดีตผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า ถ้ามองในมุมของผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กรอบใหญ่ๆ คือจะมีค่าใช้จ่ายทางด้านของค่ารักษาพยาบาล ที่นับวันยิ่งสูงมากขึ้น และมีผู้เจ็บป่วยสะสมมากขึ้น จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2555 เฉลี่ยต่อคน ประมาณกว่า 2 หมื่นบาท หรือราว กว่า 1 พันล้านบาท ต่อปี (ห้วง3-4เดือนที่เกิดหมอกควัน) และสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ คือศักยภาพของคนในภาคเหนือด้อยลง จากการเจ็บป่วยด้านสุขภาพและต้องจากไปก่อนวัยอันควร รวมทั้งมีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ที่จะลดลงโดยเฉพาะในห้วงที่มีหมอกควัน
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ในภาคอื่นๆ มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยประมาณ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน หากปัญหามลพิษทางอากาศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิผลแล้ว น่าเป็นห่วงว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการการติดตามและประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า เครื่องวัดคุณภาพอากาศแบบพกพา Dustboy ที่จะนำมาใช้ในงานวิจัยนี้ เป็นเครื่องวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์ เพื่ตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่นPM10 และ PM2.5รายงานความเสี่ยงเพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัย สถานการณ์ แนวทางปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือเตือนภัยให้ประชาชนได้รู้เท่ากันความเสี่ยงที่เกิดขึ้น