"แจงยิบ"ที่มาก่อสร้างบ้านพักขรก.ศาล !
"ศาล"แจงยิบที่มาก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักตุลาการ-ขรก.หากยกเลิกสัญญาโดยไม่มีปัญหาศาลถูกฟ้องกลับได้ 9 เม.ย.ประชุมกก.บริหารศาลสรุปมติพร้อมแจงนายกฯรู้แนว
5 เมษายน 2561 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ พร้อมฉายภาพแผนที่และภูมิทัศน์พื้นที่การก่อสร้างบนจอโปรเจกเตอร์ แสดงให้สื่อมวลชนทำความเข้าใจและเผยแพร่ต่อไป
โดย "นายสราวุธ" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เริ่มกล่าวชี้แจงถึงความเป็นมาของการก่อสร้างว่า บ้านพักดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ทำตามขั้นตอนถูกกฎหมาย ไม่ได้รุกป่า เดิมทีศาลสังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้เริ่มดูแลการก่อสร้างบ้านพักตุลาการและอาคารศาล ต่อมาในปี 2543 ศาลได้แยกจากกระทรวงยุติธรรม ก็มีสำนักงานศาลยุติธรรมดูแลดำเนินการต่อ ซึ่งการก่อสร้างได้ใช้ที่ดินราชพัสดุ ขออนุญาตจากกรมธนารักษ์ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ 147 ไร่ แต่เราใช้เพียง 89 ไร่
โดยการก่อสร้างทำสัญญากับเอกชนรวม 3 สัญญา ประกอบด้วยสัญญาฉบับแรก เป็นการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยและได้เข้าใช้อาคารแล้วส่วนสัญญาที่ 2 และ 3 เป็นการก่อสร้างอาคารชุดที่พักตุลาการและข้าราชการ ประกอบด้วยบ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง และอาคารชุดของตุลาการ 16 หน่วยกับอาคารชุด 36 หน่วยอีก 1 หลัง
รวมทั้งอาคารชุดของเจ้าหน้าที่ 6 หน่วย และ 36 หน่วยอีก 1 หลัง ซึ่งทั้งหมดอยู่บริเวณที่ติดกัน โดยกำลังดำเนินการก่อสร้างใกล้เสร็จพร้อมจะส่งมอบเมื่อครบสัญญาในวันที่ 9 และ 18 มิ.ย.นี้ โดยสัญญาทั้งสองมีมูลค่า 321 ล้านบาท และ 342 ล้านบาท การดำเนินการในปัจจุบันสัญญาก็ยังเดินต่อไป เพราะมีความผูกพันตามสัญญา
นายสราวุธ กล่าวต่อไปว่า แต่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างนี้ เราไม่ได้ทำลายป่า จำนวนต้นไม้ที่มีการขุดย้ายในพื้นที่ ต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.30 ซม.ขึ้นไป ประกอบด้วยต้นประดู่ 29 ต้น , ต้นพลวง 86 ต้น , ต้นสัก 4 ต้น , ต้นกระบาก 77 ต้น และไม้เนื้ออ่อนอีก 44 ต้น เราก็ได้ขุดล้อมแล้วเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปก่อน ทั้งนี้ ในอนาคตกับแผนที่จะดำเนินการต่อไป ประกอบด้วยแผนระยะสั้น ระยะที่ 1 คือไม่มีการตัดต้นไม้ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการปรับพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มเติมจะดูแลรักษาสภาพพื้นที่ให้สมบูรณ์
โครงการก่อสร้างทั้งหมดใน จ.เชียงใหม่ เราได้กันพื้นที่ป่าที่เราไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยอีก 58 ไร่ ส่วนแผนระยะกลาง ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ซึ่งตรงกับวันศาลยุติธรรม เราจะร่วมกันปลูกพันธุ์ไม้ตามแบบภูมิทัศน์ในสัญญา โดยมีไม้ยืนต้น เช่น พะยูง 60 ต้น , ต้นแคนาป่า 94 ต้น , ลีลาวดี 299 ต้น และไม้ประเภทต่าง ๆ อีก6,400 ต้น และแผนระยะยาว จะเป็นการปลูกป่าเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ ในแต่ละปี โดยจะแบ่งปลูกเป็นโซน ๆ ไป
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ภาพรวมพระตำหนักจะอยู่ด้านบน ส่วนพระธาตุดอยสุเทพอยู่ด้านซ้าย และบริเวณที่สร้างบ้านพักอยู่ด้านขวาสุด อย่างไรก็ดี ต่อไปในอนาคต สำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะหน่วยงานทางธุรกาศาลยุติธรรม ที่มีหน้าที่พิพากษาอรรถคดี ในฐานะคู่สัญญาก่อสร้างกับเอกชนนั้น ก็จะรับผิดชอบต่อไป แม้การก่อสร้างจะไม่ได้เริ่มต้นจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่เริ่มต้นจากบทบาทหน้าที่ซึ่งเดิมศาลเคยสังกัดอยู่กระทรวงยุติธรรม แล้วกระทรวงเป็นฝ่ายดำเนินการ แต่เมื่อปัจจุบันมีสำนักงานศาลยุติธรรมดูแลแทน ดังนั้นความรับผิดชอบต่าง ๆ ก็จะมีคณะกรรมการตรวจรับงานของสำนักงานศาลยุติธรรม ก็จะดำเนินการตามความผูกพันทางสัญญาและกฎหมายต่อไป
"ส่วนที่ผ่านมาถ้าถามว่าเราเคยรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนหรือไม่ เราไม่ได้ตอบว่าเราทำถูกกฎหมายอย่างเดียว แต่สิ่งที่พี่น้องประชาชนให้ความห่วงใยเราก็พร้อมที่จะรับฟัง และรับข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งจากแผนที่เราดำเนินการอยู่ก็คิดว่ามันจะดีขึ้น และทุกคนจะอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ได้มีปัญหา เพราะเราไม่ได้เข้าไปทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องการจะอยู่กับสิ่งแวดล้อมและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้" นายสราวุธ ระบุ
อย่างไรก็ดี การดำเนินการต่าง ๆ อาจไม่เป็นที่ถูกใจของทุกคน แต่ตนก็มีความสามารถจำกัด ไม่สามารถทำให้ทุกคนถูกใจได้ แต่เราพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การที่จะดำเนินการใด ๆ ก็ตาม ตนก็ต้องดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ จะไปสั่งทุบทำลาย ตนก็ทำไม่ได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัว แต่เป็นทรัพย์สินของราชการที่มาจากภาษีของประชาชน
ดังนั้นสำนักงานศาลยุติธรรมจึงพร้อมที่จะรับข้อมูลและข้อเสนอแนะในทางที่สร้างสรรค์ ที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ จากท่านที่ไม่เห็นด้วยว่าต้องการจะให้ปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ซึ่งหากเห็นว่าแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวของเรายังไม่เพียงพอ จะมีข้อเสนอแนะอย่างไรเราก็พร้อมดำเนินการ ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 9 เม.ย.นี้ เวลา 9.00 น. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ซึ่งเปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรีของศาล มีหน้าที่บริหารกำกับดูแลกิจการทั่วไปของสำนักงานศาลฯ ที่มีตนเป็นเลขานุการ
ก็จะเสนอที่ประชุมในประเด็นนี้ว่า ก.บ.ศ.จะมีความเห็นหรือมติให้สำนักงานศาลฯ ดำเนินการอย่างไร ก็จะปฏิบัติตาม และจะแจ้งผลมตินี้ให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วย เพื่อจะได้พิจารณาว่าในส่วนของศาลเรามีกรอบบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีประธานศาลฎีกาเป็นผู้บังคับบัญชา และก็มี ก.บ.ศ.ที่มีหน้าที่บริหารกิจการของศาลเป็นผู้พิจารณาเรื่องเหล่านี้ และก่อนที่จะได้รับการจัดสรรต่าง ๆ ก็ผ่านการพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการมา ดังนั้นช่องทางในการแก้ไขปัญหาก็จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ก.บ.ศ. โดยในช่วงบ่ายวันที่ 9 เม.ย. ตนก็พร้อมจะแถลงข่าวให้ทราบถึงผลต่อไป
ขณะที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้ประชุม 3 ฝ่ายปรึกษาหารือกันภายในวันที่ 9 เม.ย.นั้นว่า ที่จะให้ประชุม ตนเข้าใจว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นและประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งการจะประชุม 3 ฝ่ายนั้น ขอเรียนว่าเนื่องจากการบริหารจัดการของตนขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา คือประธานศาลฎีกา และการบริหารจัดการของ ก.บ.ศ. ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือต้องเดินไปตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่มีหนังสือหรือคำสั่งจากฝ่ายบริหารที่จะให้ประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายส่งมาถึงสำนักงานศาลยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าจำเป็นที่จะต้องประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ศาลยินดีที่จะประชุมหรือไม่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นทำได้หลายทาง ก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไรเพียงแต่ว่าเนื่องจากการทำงานของตนมีประธานศาลฎีกาเป็นผู้บังคับบัญชา และ ก.บ.ศ.กำกับดูแลการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นจึงจะใช้ช่องทางนี้ในการดำเนินการ ถ้า ก.บ.ศ.มีมติอย่างไรก็จะปฏิบัติตาม เราก็ต้องรับฟังก่อนว่าจะยุติโครงการหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าจะทำอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีหรือไม่และผิดสัญญาหรือไม่ เราก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เราไม่อยากให้ความเสียหายเกิดขึ้นกับภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา มีดำริ มายังเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมโดยตรงหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ประธานศาลฎีกามีดำริว่าให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ก.บ.ศ. ตนในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาแต่จะเสนอได้ก็ต้องโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา
ส่วนรองนรายกรัฐมนตรี บอกว่าแนวโน้มที่จะได้ข้อยุติเรื่องนี้ ก็คือจะให้ยุติการก่อสร้างโครงการนี้ ศาลมีความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะนี้อย่างไร นายสราวุธ กล่าวว่า ก็ยังไม่เห็นจนกว่า ก.บ.ศ.จะพิจารณาแล้วเสร็จ คงไม่สามารถให้ความเห็นส่วนตัวได้ เพราะการดำเนินงานของผมมีขั้นตอนอยู่ ซึ่งคำสั่งจะให้ยุติการก่อสร้างนั้นไม่ทราบเพราะยังไม่ได้รับคำสั่ง หรือไม่ได้รับแจ้งอะไร ขณะนี้ในพื้นที่ผู้รับจ้างยังคงปฏิบัติตามสัญญา แต่ส่วนการดำเนินงานตนไม่ได้ไปดูในรายละเอียด ยอมรับว่าการก่อสร้างลุล่วงไปแล้วกว่า 98%
ต่อข้อถามที่ว่า ผู้รับจ้างก็จะดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งจากศาล คู่สัญญาจะสั่งยุติเอง ไม่ได้ฟังคำสั่งจากฝ่ายบริหารใช่หรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ตนมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญาเพราะถ้าจะยกเลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็อาจจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและสัญญาที่มีอยู่ ซึ่งหากยกเลิกสัญญาหรือยุติการก่อสร้างแล้วจะเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง คู่สัญญาก็คงจะฟ้องศาล ในฐานะคู่สัญญาว่าเราผิดสัญญา เพราะอยู่ดีดีไปยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่มีข้อที่ผิดตามสัญญา
ส่วนที่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านมีความเข้าใจในข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า เราคงไม่ไปกล่าวหาใครว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ แต่ความเห็นของแต่ละฝ่ายอาจจะแตกต่างกัน ตนไม่สามารถบริหารให้ถูกใจทุกคนได้ แต่ต้องยึดหลักศีลธรรมถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจอยู่ดี ๆ จะไปทำลายทรัพย์สินของส่วนรวมไม่ได้ ถ้าไม่มีคำสั่งให้อำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้เข้าใจตนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดถึงว่าอยากให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ ศาลเห็นว่าอย่างไร "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" กล่าวว่า ก็ไม่มีความเห็นอะไร คนที่มีอำนาจหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ในส่วนของตนก็อย่างที่เรียนแล้วว่ามี ก.บ.ศ.เป็นผู้พิจารณา ส่วนใครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรก็ทำในส่วนนั้น ส่วนถ้าใช้มาตรา 44 แล้วจะขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่นั้น เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจะไม่สมมติเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ซึ่งขั้นตอนที่มาแถลงเพราะต้องการแถลงจุดยืน ให้เห็นว่าเราพร้อมที่จะฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมกับทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแนวทางจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้พิพากษาที่จะต้องมาอยู่ที่บ้านพักดังกล่าวกว่า 30 หลัง มีท่านใดหรือไม่ที่เสนอให้ยุติการสร้างไปเลย และยินดีพร้อมที่จะไม่อยู่บ้านพักบริเวณก่อสร้างดังกล่าว "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" กล่าวว่า ยังไม่ได้สำรวจความคิดเห็นเนื่องจากระบบราชการเราไม่ได้อาศัยแค่ความสมัครใจของคนใดคนหนึ่ง แต่เราต้องทำให้ถูกต้องด้วย จะทำแค่ถูกใจแล้วเอาความพอใจของแต่ละคนไม่ได้ และขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเสียงสะท้อนใดในเรื่องนี้จากผู้พิพากษา
ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแม้จะไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดทั้งประเทศ แต่เขาได้มองถึงความไม่เหมาะสมในการใช้พื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งในฐานะประชาชนก็ต้องการเข้ามาใช้สาธารณประโยชน์ แล้วศาลจะชี้แจงได้อย่างไรว่านอกจากก่อสร้างอาคารศาลพิจารณาคดีแล้วพื้นที่นี้ประชาชนจะใช้สาธารณประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ก็เป็นการใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งเราก็ยินดีที่จะปลูกป่า
โดยในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ก็ขอเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาร่วมปลูกป่ารักษาสิ่งแวดล้อมกับเรา และขอให้เสนอมาด้วยว่าถ้าต้องการใช้สาธารณประโยชน์ ต้องการใช้แบบใด เพราะเราไม่ได้ปิดกั้นข้อเสนอแนะใด ๆ เลยเพียงแต่ทุกคนต้องเสนอด้วยพื้นฐานเหตุและผล ไม่ใช่ความโกรธความไม่พอใจหรือความรุนแรงเพราะไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ซึ่งศาลเองก็พร้อมจะรับฟังข้อคิดเห็นที่ประชาชนเสนอแนะมา โดยจะเสนอให้ ก.บ.ศ.พิจารณา
ทั้งนี้ "นายสราวุธ" ยังตอบคำถามสื่อมวลชนกล่าวย้ำถึงการใช้พื้นที่ดังกล่าวก่อสร้างด้วยว่า เหตุผลที่ตัดสินใจใช้พื้นที่ตรงนั้นก็เพราะทุกวันนี้การก่อสร้างอาคารสถานที่ของราชการก็ดีและที่พักก็ดี พื้นที่นั้นเหลือน้อยทุกที ดังนั้นก็ต้องหาจากพื้นที่ส่วนที่เป็นราชพัสดุที่ราชการจะอนุญาตให้ใช้ได้ และที่สำคัญเราก็ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยตนไม่อยากให้คนมาโจมตีว่าเราพูดแต่แง่กฎหมาย ซึ่งเราก็ไม่ได้เข้าไปทำลายป่า
โดยเรื่องนี้จะไปเปรียบเทียบกับกรณีคนที่เข้าไปบุกรุกแล้วรื้อถอนไม่ได้เพราะเป็นคนละกรณีกัน อย่างไรก็ดีก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง ถามว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่ก็อย่างที่แจ้งเริ่มแรกนั้นเขาได้เลือกพื้นที่นี้ ไม่ใช่ตนเป็นผู้เลือกและที่เลือกก็เพราะมีอาคารที่ทำการอยู่ด้านหน้า ซึ่งการทำงานของราชการที่สะดวกก็ให้ข้าราชการอยู่ใกล้ที่ทำงาน เพื่อความสะดวกและลดภาระการเดินทางและก็จะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากย้อนปัจจุบันถ้ารู้ว่าจะมีปัญหาขนาดนี้และถ้าเลือกได้ก็คงไม่เลือก
ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมอาจจะเห็นว่าเมื่อบ้านที่พักยิ่งอยู่บนพื้นที่สูง จะเหมือนเป็นบ้านพักต่างอากาศ แล้วศาลมีแนวโน้มที่จะรื้อบ้านพักนี้และย้ายสถานที่ก่อสร้างบ้านพักไปอยู่ด้านล่างหรืออำนวยความสะดวกให้ข้าราชการด้วยการจัดรถรับส่งหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือไม่ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" กล่าวชี้แจงว่า ประเด็นนี้ต้องให้เป็นข้อเสนอก่อนแล้วตนจึงจะเสนอ ก.บ.ศ.พิจารณาได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะโดยลำพังตนไม่มีอำนาจที่จะสั่งรื้อถอนสถานที่ราชการได้ ตน พยายามมองโลกในแง่ดี ว่าเงินที่ลงไปก็เป็นเงินภาษีของประชาชนและถ้าเราปลูกป่าแล้วคืนสู่สภาพแวดล้อมเดิม และทำให้พื้นที่ตรงนั้นเขียวเหมือนเดิม รวมทั้งการช่วยอยู่ดูแลพื้นที่ก็จะทำให้เห็นว่าคนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้ และทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวที่เราเสนอก็เชื่อว่าทำได้