ยธ.รุกดูแล 5 หมื่นคนไทยในเกาหลีใต้
ยธ.รุกให้ความคุ้มครองคนไทยในเกาหลีใต้ กรณีตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เน้นเฉพาะ 5 หมื่นราย เข้าเมืองถูกกฎหมาย คาดให้มีผลก่อนวันครบรอบ 60 ปี สัมพันธ์ "ไทย-เกาหลี"
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ-20 ก.ค.61-ยธ.รุกให้ความคุ้มครองคนไทยในเกาหลีใต้ กรณีตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เน้นเฉพาะ 50,000 ราย เข้าเมืองถูกกฎหมาย คาดให้มีผลก่อนวันครบรอบ 60 ปี สัมพันธ์ "ไทย-เกาหลี" ระบุเป็นกฎหมายต่างตอบแทน ดูแลคนของสองประเทศ
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยความคืบหน้าในการทำบันทึกข้อตกลงการให้ความคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญากับกรมสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐเกาหลีใต้ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเนื้อหารายละเอียดข้อกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ ว่ามีประเด็นและเนื้อหาที่สอดคล้องกันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา การให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการยุติธรรม เบื้องต้นมีข้อมูลว่า คนไทยที่เข้าไปใช้แรงงานและพำนักอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายกว่า 50,000 คนและอีกกว่า 100,000 คนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา ไทยกับเกาหลีใต้ยังไม่เคยมีข้อตกลงการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญาแต่อย่างใด ยกเว้นในกรณีที่มีชาวต่างชาติ ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือตามพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนฯแก่จำเลยในคดีอาญาตามกฎหมายของไทย
น.ส.ปิติกาญจน์. กล่าวอีกว่า ภายในเดือนก.ค.นี้จะเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้พิจารณาเพื่อลงนามความตกลงระดับกระทรวงต่อไป โดยกรมฯจะพยายามผลักดันให้มีการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เนื่องจากครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ หากทำเอ็มโอยูเสร็จเร็ว คนไทยที่อยู่ในประเทศเกาหลีก็จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น และคนเกาหลีใต้ก็จะได้รับการดูแลตามกฎหมายไทยเช่นกัน เนื่องจากเป็นกฎหมายในลักษณะต่างตอบแทนของทั้ง 2 ประเทศ
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากรมฯได้มีการทำบันทึกข้อตกลงฯกับมหาวิทยาลัย 20 แห่งที่มีการเปิดสอนสาขานิติศาสตร์ในประเทศมาเลเซียและได้มีการส่งนักศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมายผ่านสภาเนติบัญฑิต ด้วยการจัดหาทนายความให้ความช่วยหากต้องมีการขึ้นศาล นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องดังกล่าวกับประทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนเพื่อขยายความคุ้มครองประชาชนไทยในกลุ่มประเทศเหล่านี้ให้ได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมาย กรณีที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา และการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะประโยชน์ต่อคนไทยและคนต่างชาติในกรณีที่ประสบปัญหาถูกทำร้ายหรือถูกฆาตกรรมในประเทศนั้นๆ