ผุด 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขยายโอกาสการศึกษาสู่ชุมชน
"สุรเชษฐ์" ลงพื้นที่ จ.ลำปาง ติดตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำรอบ 4 ปี ชูดึงเด็กเข้าสู่ระบบเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ
"สุรเชษฐ์" ลงพื้นที่ จ.ลำปาง ติดตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำรอบ 4 ปี ชี้ทุกหน่วยงานทำการบ้านดีได้ผลน่าพอใจ ชูดึงเด็กเข้าสู่ระบบเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ ขณะที่ สพฐ. ชี้ 3 สาเหตุหลักทำการศึกษาเหลื่อมล้ำ ตั้งเป้าปีการศึกษา 2562 ผุดโรงเรียน 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพขยายโอกาสการศึกษาสู่ชุมชนเพิ่มขึ้น
ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเขลางค์ จังหวัดลำปาง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ศธ. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารสถานศึกษา ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของ ศธ. รอบ 4 ปี (ปี 2557-2561) และพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียนเข้าร่วม
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลโดยเรื่องหลักที่ดำเนินการ คือ ประกันโอกาสทางการศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษา และการประกันประสิทธิภาพการศึกษา ซึ่งภาพรวมของการดำเนินงานขององค์กรหลัก ศธ. ที่มีสถานศึกษาในกำกับดูแล พบว่าผลการดำเนินงานเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งเรื่องว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก คือ การนำประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบการศึกษา ที่เริ่มต้นจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และตนได้มอบนโยบายให้ขยายผลไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ โดยมีสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานใน ศธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธาณสุข เป็นต้น โดยจะต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562
"ภาพรวมผมพอใจมากเป็นความร่วมมือที่ดีของทุกฝ่ายทั้งราชการ ภาคเอกชน ที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา สนับสนุนลูกหลานกลับเข้ามาเรียน โดยเฉพาะช่วงวัย 3 ขวบถึง 18 ปีควรต้องอยู่ในระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม การผลักดันเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทยได้รับความชื่นชมจากองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ว่าทำได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ ผมได้เน้นย้ำว่าจากนี้ให้มุ่งสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องสู่สาธารณชนในวงกว้าง เพื่อที่ประชาชนจะได้เข้ามารับบริการทางการศึกษาตามเป้าหมาย เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมและยั่งยืนอีกด้วย" พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ด้าน นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ.พบว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.สภาพภูมิประเทศที่หลายพื้นที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่เกาะแก่ง 2.สภาพเศรษฐกิจและสังคม 3.สภาพร่างกาย จิตใจ ดังนั้น สพฐ.จึงมุ่งแก้ไขปัญหา โดยในด้านการประกันโอกาสทางการศึกษา ตั้งแต่ปี 2558-2561 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วประมาณ 27 ล้านคน สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้พิการ ได้เข้าถึงการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อสามารถพึ่งพาตนเอง โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้ขยายการจัดการศึกษาเรียนรวมให้เด็กพิการได้เรียนกับเด็กปกติในสถานศึกษา 23,488 แห่ง ผู้พิการเรียนรวม 387,678 คน นอกจากนี้ ยังขยายผลระบบดูแลช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียน ตั้งศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน 226 ศูนย์ให้การคุ้มครองดูแลเด็กและช่วยเหลือเด็กที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการศึกษา เด็กตกหล่น เด็กออกกลางคันกลับเข้าได้จำนวน 11,332 คน เป็นต้น
สำหรับการประกันคุณภาพทางการศึกษา ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ทั้งโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีทางไกล หรือ DLTV ให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก 10,505 โรง ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น นักเรียนได้เรียนผ่านระบบทางไกลที่มีครูสอนตรงสาขาวิชา ยังมีโครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านทีวีสาธารณะ (ติวเข้มต็มความรู้) ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV และโทรทัศน์อื่น ๆ จำนวน 666 รายการ ยังมีการจัดติวเข้มสัญจรไปยังสถานศึกษาต่าง ๆด้วย ปัจจุบันมีผู้รับบริการติวเข้มเติมเต็มความรู้ จำนวน 2,410,376 คน รวมถึงยังส่งเสริมการสอนภาษาไทยให้แก่นักเรียนที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก พบว่าระดับ ป.1-3 อ่านได้ระดับดีมาก ระดับ ป.4-6 อ่านตามหลักภาษาไทยได้ระดับพอใช้-ดี เป็นต้น ส่วนด้านประสิทธิภาพทางการศึกษา ยังมีการร่วมมือกับภาคเอกชนในโครงการสำคัญ อาทิ โครงการสานพลังประชารัฐ โรงเรียนร่วมพัฒนา ยังมีการจัดโครงการอบรมพัฒนาครู หรือ คูปองครู ที่ให้ครูได้พัฒนาความรู้เพิ่มเติมเพราะครูมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและผู้เรียนด้วย
"ในปีการศึกษา 2562 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. มีนโยบายจะกระจายโรงเรียนคุณภาพไปสู่ทุกตำบล โดยจะดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ เปิดโอกาสให้มีโรงเรียนที่ดีอยู่ใกล้กับชุมชนมากที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่มโอกาสเข้าถึงการศึกษา สถานศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนมากขึ้น" นายอัมพร กล่าว.