ข่าว

ปธ.ฎีกา ถามสังคมอยู่อย่างไร หากคนไทยไม่ยอมรับองค์กร รธน.

ปธ.ฎีกา ถามสังคมอยู่อย่างไร หากคนไทยไม่ยอมรับองค์กร รธน.

26 เม.ย. 2562

"ประธานศาลฎีกา" ถามสังคมจะอยู่ได้อย่างไร หากคนไทยไม่ยอมรับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

  วันที่ 26 เม.ย.-นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวกับผู้เข้ารับการอบรม ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง(บ.ย.ส.) รุ่นที่ 23 ในงานสัมมนา ตอนหนึ่งว่า การดำเนินชีวิต หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับแพทย์และศาล โดยเฉพาะศาล ฝ่ายชนะคดีก็จะพึงพอใจได้รับความเป็นธรรม หากแพ้คดีก็จะบอกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือแม้แต่คนๆ เดียวกันเวลามาใช้บริการชนะคดีก็ดีไป หากแพ้คดีก็จะพูดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้สังคมกังขาตลอด ซึ่งไม่ว่าศาลใดในโลก ความยุติธรรมคือความพึงพอใจ

 

      “ศาลไม่ได้มีส่วนได้เสียกับใคร ศาลเป็นองค์กรตั้งรับเราไม่ได้ทำงานเชิงรุก ทำงานต่อเมื่อมีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาล เราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ความเป็นธรรม ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้แพ้คดี ดังนั้น เราไม่มีทางทำให้ชนะคดีทั้งสองฝ่ายไม่มีทางเป็นไปได้”

       ประธานศาลฎีกา กล่าวต่อว่า ศาลโต้ตอบการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ต้องอดทน เพราะถึงพูดอย่างไรคนแพ้คดีก็ไม่มีทางเห็นด้วยกับเรา  ดังนั้นไม่มีประโยชน์ไปโต้ตอบหรือกลายเป็นคู่กรณี เพราะศาลมีหน้าที่ชี้ขาดแพ้ชนะให้แก่คู่กรณีที่นำคดีขึ้นมาสู่ศาล

      “ความเป็นผู้ใหญ่วัดกันที่ความอดทนเป็นสำคัญ จึงอยากให้แต่ละฝ่ายเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกันและกัน”

        นายชีพ ยังกล่าวถึง ปัญหาทุกวันนี้คนไทยเราไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดการปกครองประเทศ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่องค์กรต่างๆ ไว้ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ศาล องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเขียนไว้ในกฎหมายหมด แต่คนไทย สังคมไทยเราไม่ยอมรับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เมื่อวินิจฉัยชี้ขาดแล้วก็ไม่พอใจ คนไทยส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ ถามว่า สังคมเราจะอยู่ได้อย่างไร หากเราไม่ยอมรับ ก็จะกลายเป็นใช้ความพึงพอใจส่วนตัว สังคมไม่สงบสุข ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวที่เป็น ทั่วโลกแม้ประเทศซึ่งอ้างว่า ศิวิไลซ์ ประเทศเจริญแล้ว หากไม่พอใจรัฐ ก็ออกมาก่อความวุ่นวายมากมาย จึงอยากฝาก ถ้าเราไม่ยอมรับกติกา ไม่ว่ากติกาใดๆทั้งสิ้น ก็วุ่นวาย หากเราไม่เห็นด้วยกับกติกาก็ต้องแก้กติกาก่อน แต่เมื่อวินิจฉัยหรือตัดสินออกมาแล้ว ไม่มีทางพึงพอใจได้ทุกฝ่าย