ข่าว

ในหลวง เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ทางชลมารค 24 ตุลาคมนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กองทัพเรือ แถลงรายละเอียดการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

          เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 5 กรกฎาคม ที่ห้องรับรองชั้น 2 อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือพื้นที่วังนันทอุทยาน กรุงเทพฯพลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นประธานในการแถลงข่าว “การเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พลเรือเอกสมหมาย วงษ์จันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนพระราชพิธี พลตำรวจโท สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นางสาวพรทิพย์ อุดมเวทยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเฉลิมพระเกียรติสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากร และนายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ ผู้แทนกรมเจ้าท่า

ในหลวง เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ทางชลมารค 24 ตุลาคมนี้

          พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบภารกิจในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ถือเป็นราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย ให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานอนุกรรมการ และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่น กรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการ คอยให้คําปรึกษาและข้อแนะนําการปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ โดยการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธีรวมทั้งสิ้น จํานวน 52 ลํา โดยมีเรือที่สําคัญเป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์นอกจากนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วย เช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น

          ในการนี้ กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการซ่อมทําบูรณะเรือพระราชพิธี โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนการซ่อมตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดย กรมอู่ทหารเรือ และส่วนการตกแต่งตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมบูรณะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำอยู่ในสภาพพร้อมเข้าร่วมพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ ซึ่งในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ จะได้ดำเนินการประกอบพิธีบวงสรวงเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ จำนวน 14 ลำ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และโรงเรือพระราชพิธีท่าวาสุกรี จากนั้นวันที่ 12 - 23 กรกฎาคม จะเชิญเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ลงน้ำ และลากจูงเรือเข้าเก็บที่อู่ทหารเรือธนบุรี เพื่อเตรียมงานพระราชพิธี โดยใช้กำลังพลประจำเรือพระราชพิธีจำนวน 2,200 นาย ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลที่ไม่เคยเป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีมาก่อน และได้ฝึกซ้อมต่อเนื่อง ปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปจะเป็นการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม เป็นต้นไป

ในหลวง เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ทางชลมารค 24 ตุลาคมนี้

พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์

          ทั้งนี้ ได้กําหนดการซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแผนการซ้อม จํานวน 10 ครั้ง แบ่งเป็นการซ้อมย่อย จํานวน 8 ครั้ง และซ้อมใหญ่ จํานวน 2 ครั้ง เป็นการซ้อมเสมือนวันพระราชพิธีฯ เพื่อให้มีความพร้อมที่ปฏิบัติงานในวันพระราชพิธีฯ ส่วนวันเสด็จพระราชดำเนินจริง กำหนดเป็นวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดําเนิน ที่ได้เตรียมไว้เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร

          สำหรับการจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

          1.ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

          2.ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

          และ 3.ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ

          อย่างไรก็ตาม สำหรับบทเห่เรือที่ใช้ประกอบพระราชพิธีนั้น ได้รับการประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดจำนวน 3 องก์โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเคยทำหน้าที่เห่เรือในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคในครั้งก่อนๆ ส่วนครั้งนี้จะเห่โดย นาวาเอกณัฏวัฒน์ อร่ามเกลื้อ

          “ในการจัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ ได้ยึดรูปแบบตามโบราณราชประเพณี แต่มีการปรับริ้วขบวนเรือเล็กน้อย อย่างเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราทางชลมารค ถวายผ้าพระกฐินล่าสุด ประทับเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ จึงใช้เรือดังกล่าวนำขบวน ขณะที่ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จึงนำขบวน และในส่วนของเครื่องแต่งกายฝีพายครั้งนี้ตัดเย็บโดยสำนักพระราชวัง ยึดถือรูปแบบเดิมตามโบราณราชประเพณี ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องแบบที่มีในคลังและตัดเย็บใหม่เพิ่มเติม โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จัดสร้างใหม่ทั้งหมด” พลเรือเอกลือชัย กล่าว

ในหลวง เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ทางชลมารค 24 ตุลาคมนี้

          พลเรือเอกลือชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกซ้อมทุกครั้ง ประชาชนสามารถมาร่วมชมได้ตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรือขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านตั้งแต่ท่าน้ำวาสุกรีถึงท่าน้ำวัดอรุณฯ รวมระยะทาง 4.2 กม. แต่ในวันซ้อมใหญ่ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยสมพระเกียรติ เพื่อเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          “นับเป็นบุญของพวกเราเหล่าทหารเรือ ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้จัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคถวายพระเกียรติท่านในครั้งนี้ และต้องขอบคุณรัฐบาลที่ได้มอบภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ให้แก่กองทัพเรือ ผมพูดแทนกำลังพลทุกนายของกองทัพเรือด้วยเลยว่า ทุกคนมีความภาคภูมิใจ จะทำให้ดีที่สุดให้ความเรียบร้อย สง่างาม สมพระเกียรติ เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพและเทิดทูนยิ่งของ ประชาชนชาวไทยทุกคน ที่สำคัญคือจะเหน็ดเหนื่อยยากประการใด กำลังพลทุกคนไม่เคยท้อแท้ มีอย่างเดียวคือต้องทำเพื่อสถาบันที่รักยิ่งของเรา ที่ทุกคนเทิดไว้เหนือเกล้า สุดท้ายคือ อยากเชิญชวนประชาชนอีกครั้งหนึ่ง จงมาร่วมกันชื่นชมพระบารมี ชื่นชมความสวยงาม ชื่นชมอารยธรรมอันเก่าแก่ของประเทศไทย ขอย้ำว่า ไม่มีชาติใดในโลกเหมือนเราอีกแล้ว ขอเชิญชวนเยาวชนรุ่นใหม่จงมาศึกษาหาความรู้และจงภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยตั้งแต่ครั้งอดีตว่าประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้ แรงบันดาลใจของลูกหลานเยาวชนจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้” พลเรือเอกลือชัย กล่าวเชิญชวน

ในหลวง เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ทางชลมารค 24 ตุลาคมนี้

          ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวกองทัพเรือยังได้นำกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีที่สวมเครื่องแต่งกายกำลังพลประจำเรือต่างๆ ในขบวนเรือพระราชพิธีฯ มาแสดงด้วย อาทิ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (ชุดฟ้า), คู่ฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (ชุดแดง สะพายดาบ), ชุดเรือรูปสัตว์ (ชุดม่วง) ,ชุดเรือพิฆาต (ชุดแดง ไม่มีสะพายดาบ), ชุดเรือแซง (เสื้อขาว) เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ