ข่าว

"วราวุธ"ฟิตจัดสั่งหาข้อมูลเอาผิดคลิปแฉประมงลอบจับ"โลมา" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562

 

 

          “รมต.ท็อป” เห็นคลิปของขึ้น สั่งเอาผิดประมงจับจับโลมาติดอวนนับสิบขึ้นเรือ ชี้ไร้จิตสำนึกพบเป็นเรืองประมงมาเลย์ที่ซื้อไปจากคนไทยเตรียมลงพื้นที่หาสาเหตุ"พะยูน"ตายถี่

 

 

 

          จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “อนุวัต จัดให้” ได้เผยแพร่คลิปความยาว 5 นาที เป็นเหตุการณ์บนเรือประมงที่ชาวประมงนำโลมานับสิบตัวที่ติดอวนขึ้นมาบนเรือ ท่ามกลางภาพที่พบว่าลูกเรือประมงบางส่วนใช้เท้าเหยียบไปบนตัวโลมาและบางส่วนใช้รอกชักโลมาขึ้นเรือและจับโลมาเหวี่ยงกลับลงในทะเล ทำให้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้กรมประมงหาเรือต้นเหตุเพื่อลงโทษ เพราะโลมาเป็นสัตว์คุ้มครองนั้น

 

          เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ได้เห็นคลิปที่มีชาวประมงจับโลมาขึ้นมาบนเรือกว่า 10 ตัว ซึ่งมีการแชร์กันในโลกโซเชียล เมื่อเห็นแล้วถึงกับของขึ้นว่าเขาทำอย่างนี้ได้อย่างไรโดยไม่มีจิตสำนึก ไม่นึกถึงหน้าตาของประเทศชาติ ทั้งนี้คาดว่าคลิปดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในน่านน้ำสากลในต่างประเทศ โดยเป็นการจับปลาทูน่าแล้วโลมาตามเข้ามากินปลาในอวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจหรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องเร่งติดตามและดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตามการดำเนินการทางกฎหมายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งหมายถึงความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องกวดขันและสร้างจิตสำนึกให้แก่ทุกคนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเล โดยเฉพาะไต้ก๋งเรือที่ต้องมีจิตสำนึก เรื่องของทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของวันนี้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้และอนาคตที่เราต้องส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป




          นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 18 กรกฎาคม จะลงพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เป็นภารกิจแรก เพราะล่าสุดเกิดกรณีพะยูนตายลงถึง 5 ตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้ัรับการแก้ไข เบื้องต้นได้ขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และกำชับให้เร่งหาสาเหตุการตายของพะยูน และดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก และอาจจะต้องมีการสำรวจจำนวนประชากรพะยูนให้ชัดเจนและต้องมีการติดจีพีเอสแทร็กหรือไม่ โดยต้องถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ เพราะวันนี้พะยูนตายลงมากเกินไปแล้ว ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ขาดเหลืออะไรในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามก็ต้องจัดหาให้เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้ในการปราบปรามการกระทำผิดด้วย 


          สำหรับในส่วนของพะยูนมาเรียม ก็จะไปดูว่าเจ้าหน้าที่จัดการอย่างไร เพราะเป็นห่วงเรื่องคนที่เข้าไปดูมาเรียมว่าจะเป็นการรบกวนการใช้ชีวิตตามธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องหาแนวทางบริหารจัดการและจำกัดจำนวนคนเพื่อให้สมดุลและไม่เป็นการรบกวนมาเรียมมากเกินไป


          ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่ ทช.สืบทราบแล้วว่าเรือประมงที่จับโลมาปากขวดนั้น เป็นเรือประมงในทะเล จ.ปัตตานี ซึ่งให้เจ้าหน้าที่นำตัวเจ้าของเรือมาสอบสวนเบื้องต้นแล้ว หากได้รายละเอียดจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพราะไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วมีการปล่อยโลมาทั้งหมดกลับสู่ทะเลหรือเปล่า หรือโลมาทั้งหมดตายหรือเปล่า ทั้งนี้การนำสัตว์อย่างโลมาขึ้นมาบนเรือถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว และหากทำให้โลมาทั้งฝูงนั้นตายก็ย่อมผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า 2535 แน่นอน เบื้องต้นโทษก็คือปรับ 4 หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี


          อธิบดี ทช. ยังกล่าวถึงกรณีมีพะยูนเกยตื้นตายค่อนข้างถี่ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมาว่า ยอมรับว่าเป็นแบบนี้จริงๆ คือต้องเจอเรื่องเศร้าเกี่ยวกับพะยูนมากถึง 7 ตัว คือ ตายไป 5 ตัว และรอดมาให้ดูแลอีก 2 ตัว คือ มาเรียม และยามีล โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่ จ.กระบี่ ทั้งสิ้น ซึ่งวันนี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สั่งการให้ไปร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ว่าเกิดอะไรขึ้นรวมทั้งต้องหารือมาตรการเร่งด่วนและค่อนข้างซีเรียสเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะพะยูนถือเป็นสัตว์หายากและถือว่าใกล้จะสูญพันธุ์


          “ยังไม่ตัดประเด็นปัญหาการลักลอบล่าเขี้ยวพะยูน ไม่ตัดประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือสารพิษในน้ำ และอาจจะมาจากสัตว์ป่วยตายเอง โดยกำชับให้ทีมสัตวแพทย์พิสูจน์หาสาเหตุการตายของพะยูนแต่ละตัวอย่างละเอียดเพื่อไขข้อสงสัยให้แก่สังคม” อธิบดีทช.กล่าว


          ต่อมา นายกมล ผิวเหมาะ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง จ.ปัตตานี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบไปที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง จ.ปัตตานี เพื่อขอข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ที่มีการจับโลมาขึ้นเรือจนเป็นข่าวครึกโครม พบข้อมูลเบื้องต้นว่าเรือประมงดังกล่าวชื่อ ส.พรเทพนาวี 9 ทะเบียนเรือ ทบ.302102291 รายการแจ้งเรือออก (PO) ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 และมีรายการแจ้งเรือเข้า (PI) ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559


          สำหรับเรือประมงลำนี้ได้ขอยื่นถอนทะเบียนเรือไทยเพื่อซื้อขายให้แก่ชาวมาเลเซียไปแล้ว ได้รับการยกเลิกทะเบียนเรือและเพิกถอนทะเบียนเรือไทยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 โดยข้อมูลการโอนทะเบียนเดิมเป็นของคนไทย ชื่อนายสุรัตน์ บัวผุด และเรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ MR.MOHD.AMIR. BIN HASHIM ชาวมาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ตามหลักฐานจากกรมเจ้าท่าภูมิภาค สาขาปัตตานี และได้เดินทางออกจากท่าปัตตานี และได้รับหมายเลขทะเบียนเรือมาเลเซีย KNF 7779


          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจากการตรวจสอบเรือประมงลำดังกล่าว ได้ทำการประมงอยู่ในมาเลเซียตั้งแต่ถอนทะเบียนเรือไทยไปแล้ว โดยไม่ได้กลับมาในประเทศไทย และตรวจสอบถึงปัจจุบันเรือลำนี้ยังคงทำการประมงอยู่ประเทศมาเลเซีย


          นายกมล กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีคลิปนำโลมาขึ้นเรือประมงเผยแพร่แล้วต่อมามีการระบุว่าเป็นเรือประมงจาก จ.ปัตตานี เรื่องนี้ทางจังหวัดปัตตานีไม่ได้นิ่งนอนใจโดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันตรวจสอบรายละเอียดภาพเหตุกการณ์ที่อยู่ในคลิปจนได้ข้อเท็จจริงตามที่ได้เปิดเผยไป แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าคลิปเป็นของใครและลงไว้เมื่อไร ไม่รู้เจตนาปล่อยคลิปเพื่ออะไร แต่ถ้าคลิปเหล่านั้นยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่เรือประมงลำนี้ยังเป็นของคนไทยก็พร้อมที่จะดำเนินตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้

 
          แหล่งข่าวจากกรมประมง ระบุว่า เรือดังกล่าวมีไต้ก๋งและคนงานส่วนหนึ่งเป็นคนไทยซึ่งกรมประมงกำลังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมถึงวันเวลาและพิกัดการทำประมงของเรือ รวมทั้งการจับโลมาขึ้นเรือว่าอยู่ในน่านน้ำไทยหรือไม่ ทั้งนี้กรมประมงไม่มีระบบติดตามเรืออิเล็กทรอนิกส์ของเรือสัญชาติอื่น แต่หากเข้ามาในน่านน้ำไทยอาจมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งของกรมประมงและหน่วยงานอื่นทราบเบาะแส หากกระทำการจับโลมาในน่านน้ำไทยจะมีความผิดฐานรุกล้ำน่านน้ำและสิทธิ์อาณาเขตการทำประมง โดยกรมประมงกำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลทุกด้าน เนื่องจากหากเป็นเรือสัญชาติอื่นมากระทำผิดในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่มีความละเอียดอ่อน จึงต้องมีหลักฐานครบถ้วน


          นอกจากนี้ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดด้วยว่าไม่ใช่เรือสัญชาติไทย เพราะถ้าเป็นเรือสัญชาติไทยแล้วจับโลมาขึ้นเรือตามคลิปจะมีความผิดตามมาตรา 66 ตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 ซึ่งมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดห้ามนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์น้ำหายาก 13 ชนิดขึ้นเรือ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000–300,000 บาท หรือปรับเป็น 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ


          ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พิกัดที่จับโลมาขึ้นมานั้นจากการประสานงานเบื้องต้นกับผู้ประกอบการประมงมาเลเซียยืนยันว่า ขณะจับโลมาอยู่ในน่านน้ำมาเลเซีย แต่ต้องรอฟังคำยืนยันจากกรมประมงของไทยถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเรือประมงลำดังกล่าวได้ทำการประมงอยู่ในมาเลเซียตั้งแต่ถอนทะเบียนเรือไทยไปแล้ว โดยไม่ได้กลับมาในประเทศไทย และตรวจสอบถึงปัจจุบันเรือลำนี้ยังคงทำการประมงอยู่ประเทศมาเลเซีย


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดให้สัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนำขึ้นเรือประมง ตามความในมาตรา 66 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 โดยความตามประกาศนี้ยกเว้นกรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำ ซึ่งประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2559 โดยมีสัตว์รายชื่อสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ 1.โลมาและวาฬทุกชนิดในอันดับ (Order) Cetacea 2.พะยูน (Dugong dugon) 3.เต่าทะเลทุกชนิดในวงศ์ (Family) Cheloniidae และ Dermochelyidae รวมทั้งไข่ของสัตว์ดังกล่าว 4.ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) 5.กัลปังหาดําทุกชนิดในอันดับ (Order) Antipatharia 6.กัลปังหาทุกชนิดในอันดับ (Order) Gorgonacea 7.ปะการังไฟทุกชนิดในสกุล (Genus) Millepora 8.ปะการังสีฟ้าทุกชนิดในอันดับ (Order) Helioporacea 9.ปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ (Order) Scleractinia และในอันดับ (Order) Stylasterina 10.ปะการังอ่อนทุกชนิดในอันดับ (Order) Alcyonacea 11.ดอกไม้ทะเลทุกชนิดในอันดับ (Order) Actiniaria 12.หอยมือเสือทุกชนิด (Tridacna spp.) และ 13.หอยสังข์แตร (Charonia tritonis)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ