ข่าว

ศรีสุวรรณ เรียกร้อง ศาลยุติธรรม คลี่ปมผู้พิพากษา

ศรีสุวรรณ เรียกร้อง ศาลยุติธรรม คลี่ปมผู้พิพากษา

05 ต.ค. 2562

"ศรีสุวรรณ" จี้ ศาลยุติธรรม คลี่ปมเบื้องหลังผู้พิพากษา พร้อมเรียกร้อง ฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกม.ห้ามแทรกแซงผู้พิพากษา ตั้ง คกก.อิสระตรวจสอบคนแทรกแซง

 

"ศรีสุวรรณ" จี้ ศาลยุติธรรม คลี่ปมเบื้องหลังผู้พิพากษายิงตัวเอง พร้อมเรียกร้อง ส.ส. ส.ว. ครม. ออกกม.ห้ามแทรกแซงผู้พิพากษา ตั้ง คกก.อิสระตรวจสอบ เอาผิด คนแทรกแซง

 

          เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 62 - นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 4 ต.ค.62 ที่ผ่านมาว่านายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองบนบัลลังก์ศาล พร้อมกับมีการเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว และคำแถลงความเพื่อฟ้องสาธารณชนว่า ถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชา ให้เปลี่ยนคำตัดสินคดีสำคัญคดีหนึ่ง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมไทยในขณะนี้นั้น

 

          นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เคยมีปรากฎในกระบวนการพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ในองค์กรตุลาการของไทยมาก่อน อันอาจเนื่องมาจากสังคมไทยให้ความยำเกรงและเคารพในความเที่ยงตรงของศาลสถิตย์ยุติธรรมมาอย่างยาวนาน แม้ข้อเท็จและข้อจริงอาจจะไม่สามารถไปด้วยกันได้ก็ตาม 

 

          แต่บัดนี้เสียงกระสุนปืน 1 นัดที่ศาลจังหวัดยะลา ได้ปลุกให้สังคมไทยหันมาเพ่งมองระบบการพิจารณาอรรถคดีต่างๆในกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมีข้อสงสัยว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ม.188 วรรคสอง ที่ว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง" หรือไม่ อย่างไร

 

           นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อไปว่า เพราะเหตุที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดยะลานั้น สะท้อนความจริงอีกมุมหนึ่งว่าผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีจริงหรือ หรือกระบวนการยุติธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายและคำพิพากษาได้ หากผู้บังคับบัญชาของศาล นักการเมือง และผู้มีบารมีชี้ธงให้ศาลพิพากษาตามที่ตนต้องการ ใช่หรือไม่ เมื่อข้อสรุปในคำแถลงของท่านคณากร เพียรชนะ ได้ระบุไว้ชัดว่าต้องส่งคำตัดสินคดีให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าคนหนึ่งพิจารณา ซึ่งตนยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน แต่ภายหลังกลับมีบันทึกส่งมาให้ตนเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา แต่ถ้าหากไม่ทำ ก็ให้ทำหนังสือส่งไปอธิบายว่าทำไมถึงไม่ทำ

     

 

          ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งรีบตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องของท่านคณากร เพียรชนะ คือ 1)ให้ออกกฎหมายห้ามแทรกแซงการพิพากษา และห้ามให้มีการตรวจคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และ 2)ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ส่วนท่านประธานศาลฎีกาและหรือสำนักงานศาลยุติธรรม ควรเร่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบและลงโทษเอากับผู้ที่มีพฤติการณ์แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาในกรณีดังกล่าวและสั่งให้มีการตรวจสอบ รื้อฟื้นคดีต่างๆ ที่สังคมมีข้อสงสัยว่ามีคำพิพากษาที่อาจขัดต่อหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหลายๆ อรรถคดีทั่วประเทศ ให้สมกับม๊อตโต้ของท่านคณากรที่ได้ฝากทิ้งท้ายถึงประชาชนคนไทยที่รักความยุติธรรมทุกคนว่า "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"