ข่าว

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

18 ต.ค. 2560

“พระจิตกาธาน” หรือ “เชิงตะกอน” แรกเริ่มคงจะมีที่มาจากธรรมเนียมการปลงศพของอินเดีย โดยใช้กองฟืนวางซ้อนกันให้สูง จำนวนฟืนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับชั้นยศของผู้วายชนมม์

      8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

         “พระจิตกาธาน” สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ ถือเป็นองค์ประกอบหัวใจที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากหน้าที่หลักสำคัญยังมีความหมายถึงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศตามชั้นฐานานุศักดิ์ของเจ้านายพระองค์นั้นด้วย 

        ตามประวัติของ “พระจิตกาธาน” หรือ “เชิงตะกอน” แรกเริ่มคงจะมีที่มาจากธรรมเนียมการปลงศพของอินเดีย โดยใช้กองฟืนวางซ้อนกันให้สูงใหญ่ จำนวนฟืนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชั้นยศของผู้วายชนม์ ต่อมาจึงคิดสร้างพื้นยกขึ้นเรียกว่า “ร้านม้า” สำหรับตั้งศพคร่อมเหนือกองฟืน ซึ่งร้านม้าที่ยกขึ้นนั้น ทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับเผาศพ โดยใช้ไม้ไผ่หรือต้นหมากมาปักเรียงกัน ประมาณ 3 คู่ นำฟืนเรียงใส่ให้เต็มในช่องว่าง นำหีบศพวางบนร้านม้าแล้วจุดไฟเผา ลักษณะเช่นนี้จะพบการปลงศพตามหมู่บ้านชนบท ที่นิยมปลงศพในป่าช้า เพราะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้นๆ 

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

    ต่อมาเริ่มมีวัดเป็นศาสนสถานสำหรับประกอบกิจทางศาสนา มีการก่อสร้างเมรุปูนขึ้น ใช้สำหรับฌาปนสถานในหมู่บ้านหรือชุมชน ก่อเป็นปูน กั้นเป็นคอกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วฌาปนกิจศพบนฐานปูนนั้น ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “สามส้าง” หรือ “ส้างเผาศพ” 

    พัฒนาการอีกขั้นหนึ่งสำหรับการเผาศพที่คลี่คลายมาตามระบบชนชั้นปกครองตามประเทศที่มีระบบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ เมื่อถึงคราวที่จะถวายพระเพลิงส่งเสด็จกลับสู่สวรรคาลัย ก็จะมีการก่อสร้างพระเมรุ หรือ พระเมรุมาศ ตามคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ภายในพระเมรุหรือพระเมรุมาศ จะเป็นที่ประดิษฐาน “พระจิตกาธาน” ภายในองค์พระเมรุมาศจึงได้รับการตกแต่งประดับประดาด้วยงานช่างประณีตศิลป์ ประเภทงานเครื่องสดต่างๆ อย่างวิจิตรตระการตา ตามฝีมือของงานช่างราชสำนัก ตามจารีตขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

  มีกฎเกณฑ์รูปแบบที่ระบุไว้อย่างมีแบบแผนปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน โดยชั้นพระบรมศพ พระจิตกาธานจะทำเป็นชั้นเครื่องยอดทรงบุษบก ถวายพระเกียรติยศสูงสุด ทำเป็นชั้นเรือนยอด 9 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ตั้งฉัตรดอกไม้สด 7 ชั้น 4 มุม ส่วนชั้นสำหรับพระบรมราชินี พระราชวงศ์ก็จะทำชั้นเรือนยอด 7 ชั้น มุมจิตกาธานประดับฉัตรดอกไม้สด 5 ชั้น นอกจากนี้ก็จะมีทรงมณฑป ใช้สำหรับเจ้านายทรงพระอิสริยยศลดหลั่นลงมา และทรงเบญจา (หลังคาปะรำ) ใช้สำหรับเจ้านายชั้นพระยศต่ำลงมา การประดับตกแต่งจะทำด้วยกระดาษสี ลวดลายประดับและรูปแบบก็จะมีกฎเกณฑ์วางไว้อย่างเป็นแบบแผน

     เรื่องราวของ “พระจิตกาธาน” มีมานานหลายร้อยปี แต่ไม่เคยถูกเผยแพร่ จวบจนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนอธิบายเรื่องเครื่องประดับพระจิตกาธานในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการจัดสร้างพระจิตกาธานตามโบราณราชประเพณี 

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

     สำหรับรูปแบบและเครื่่องประกอบของ “พระจิตกาธาน” ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังยึดตามแบบของเก่าที่ระบุไว้เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 8 มีลักษณะเป็นทรงบุษบกเรือนยอด 9 ชั้น ยอดพรหมพักตร์ ประดับด้วยเครื่องสด แบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.งานแทงหยวก 2.งานแกะสลักของอ่อน (เครื่องถม) 3.งานกรองดอกไม้ (ดอกไม้ประดิษฐ์) ส่วนฐานลายบัวเชิงบาตร ขาลายฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ถือได้ว่าเป็นรูปแบบงานช่างเครื่องสดราชสำนักอย่างเต็มรูปแบบตามโบราณราชประเพณี 

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

     ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีการจัดสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความสมดุลและงดงาม มีการ “ขยายแบบพระจิตกาธาน” ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตาม ด้วยขนาดความกว้าง 4.80 เมตร ความยาว 6.50 เมตร และความสูงราว 13 เมตร บวกกับตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 บรรทมพระหีบเช่นเดียวกับเมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จย่า เมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีความต่างจากพระมหากษัตริย์ในอดีตที่ประทับในพระบรมโกศลองใน พระจิตกาธานจึงมีขนาดเล็ก

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

     ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “ตัวแทนนายช่างแทงหยวกจาก 4 ภูมิภาค” อันประกอบด้วย ช่างราชสำนัก สำนักพระราชวัง, ช่างแทงหยวกสกุลช่างจังหวัดสงขลา, ช่างแทงหยวกสกุลช่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมหาสารคาม, ช่างแทงหยวกสกุลช่างเพชรบุรี นักศึกษาวิชาช่างแทงหยวกจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) และตัวแทนช่างฝีมือจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานจากสถาบันวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้ง 4 ภูมิภาค ได้มีโอกาสเข้าร่วมถวายงานในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมบรรดาช่างฝีมืองานช่างวิจิตรศิลป์ มารวมกัน เพื่อแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

     ในส่วนของการดำเนินงานการประดับตกแต่งพระจิตกาธานชั้นเรือนยอด 9 ชั้นนั้น รูปแบบการตกแต่งของหลังคาเรือนยอดประกอบด้วย งานแทงหยวก งานกรองดอกไม้สด งานแกะสลักของอ่อน ตามลายพระหัตถ์กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงเขียนอธิบายไว้อย่างชัดเจนเมื่อครั้งงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทำให้เป็นหลักฐานสำคัญให้ได้ยึดตามแบบที่ระบุไว้ ดังนั้นจึงมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างช่างราชสำนักและช่างแทงหยวกจาก 4 ภูมิภาค กระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ลายแทงหยวกของ “ชั้นรัดเกล้า” นั้นนำแบบมาจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 5  ส่วนชั้นเรือนยอด 9 ชั้น ได้นำลวดลายแทงหยวกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 6 และในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งมีความเหมือนกัน สันนิษฐานว่าเป็นช่างสายเดียวกันที่ถวายงาน มาใช้ในงานครั้งนี้

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

     ขณะเดียวกันการร้อยดอกไม้สดเป็นตาข่ายทุกชั้น ขอบปิดประดับด้วยลวดลายแทงหยวกที่เรียกว่า “หยวกรัดเกล้า” สาบลายช่องกระจกด้วยกระดาษทองอังกฤษ ประดับด้วยลายดอกประจำยามที่ทำจากเปลือกมะละกอดิบ ซ้อนชั้นเป็นดอกดวง ที่มุมชั้นของเรือนยอดแต่ละชั้นจะประดับด้วย กระจังทิศ กระจังเจิม ประดิษฐ์จากกาบกล้วยตานี สาบกระดาษทองอังกฤษ ด้านบนจะปักประดับด้วยดอกไม้ไหวที่ประดิษฐ์เป็น “ดอกปาริชาต” ซึ่งดอกปาริชาตนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งงานใหม่ที่จัดทำขึ้นสำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 จำนวน 70 ดอก ประดับชั้นรัดเกล้า แทนจำนวน 70 ปีทรงครองราชย์ อีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ “ดอกไม้เอว” สำหรับใช้ตกแต่ง “ชั้นรัดเอว” โดยประดิษฐ์เป็น “ดอกปาริชาต...จากดอกไม้สด" ซึ่งกลีบดอกทำมาจาก กลีบกล้วยไม้ขาวย้อมเป็นสีเหลือง 16 ดอก ใบไม้ประดิษฐ์จากปีกแมลงทับ และเถาทำจากใบต้นแก้ว ส่วนสาเหตุที่มีจำนวน 16 ดอกนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสวรรค์ชั้น 16 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดที่พระพรหมประทับอยู่นั่นเอง

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

      อีกหนึ่งภาคส่วนของงานพระจิตกาธานที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ “งานกรองดอกไม้” ซึ่งฝ่ายชั้นในเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด สมัยโบราณพระจิตกาธานมีขนาดเล็กใช้ดอกมะลิกรอง 4 ก้าน 4 ดอก ถักตาข่ายทุกชั้น ส่วนอุบะทำด้วยดอกจำปาเป็นสีเหลือง ประดับด้วยดอกเข็มแดงประดับเลื่อมทอง ครั้นมาถึงปัจจุบัน พระจิตกาธานมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ระยะการทำงานกับดอกไม้สดนั้นมีเวลาค่อนข้างจำกัด ในส่วนของ “เรือนยอด 9 ชั้น” จึงเปลี่ยนจาก “ตาข่ายดอกมะลิ” มาใช้ “ตาข่ายดอกรัก” แทน แต่สำหรับ “ชั้นรัดเกล้า” ยังคงใช้ตาข่ายดอกมะลิ เช่นเดิม ส่วนชาย “อุบะ” ในสมัยโบราณใช้ “ดอกจำปาสด” ผสมผสานกับ “ดอกจำปาประดิษฐ์” ซึ่งทำจากผ้าย้อมสีเหลืองแล้วนำไปชุบกับขี้ผึ้งจากนั้นจึงนำมาเข้าเป็นดอก เรียกว่า “จำปาชุบเทียน” ทว่าในงานพระราชพิธีครั้งนี้ใช้ “ดอกจำปาประดิษฐ์” โดยนำ “ดอกกล้วยไม้สีขาว” มาผ่านขั้นตอนการดูดสีเหลืองจำปา ด้วยภูมิปัญญาของช่างสมัยโบราณ จากนั้นจึงเข้าดอกเป็น “ดอกจำปา” หรือบางคนรู้จักในชื่อว่า “ตุ้งติ้ง”

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

      นอกจากนี้ ที่บริเวณ “ชั้นเรือนไฟ” ไม่เพียงลายแทงหยวกประดับเสาเล็ก ยังมีการคิดลวดลายขึ้นใหม่เรียกว่า “เถาไขว้ลายเลขเก้าไทย (๙)” เป็นเชิงสัญลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะเดียวกันที่บริเวณฐานเรือนไฟยังมีงานประดิษฐ์ “เทวดาชั้นพรหมวรรณะกายสีขาวนวล” ซึ่งเป็นเทพชั้นสูงสุดในสรวงสวรรค์ ในลักษณะนั่งคุกเข่า พระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์ ประดับบริเวณหน้าของเสาเรือนไฟจำนวน 8 องค์ เปรียบประหนึ่งเฝ้าพิทักษ์รักษาและร่วมส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

      อย่างที่ทราบกันดีว่า ในงานเชิงช่างให้ความสำคัญต่อครูผู้สอนเป็นลำดับต้นๆ ดังนั้น ก่อนลงมือทำงานใดก็ตามจึงต้องมีพิธีบวงสรวง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมาย โดย​พิธีบวงสรวงสังเวยการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพิธีฯ ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 19 ตุลาคม 2560 เวลา 09.00 น. และหนึ่งในพิธีการสำคัญคือการอ่าน “โองการสังเวยบวงสรวงช่างเครื่องสดราชสำนัก” ของคณะช่างราชสำนักและช่างจาก 4 ภูมิภาค โดย นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นายช่างศิลปกรรม ทำหน้าที่ผู้ประกอบพิธีอ่านโองการบวงสรวง 

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

      ทั้งนี้ “ตำราโองการฯ” ต้นฉบับนั้น ครูวิเชียร เปรมจันทร์ เป็นผู้บันทึกไว้ และก่อนท่านเสียชีวิตลงได้มอบให้แก่ อ.บุญชัย ทองเจริญบัวงาม ผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งตำราเล่มดังกล่าวเคยนำมาใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญ อย่าง พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก....เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 

8 สิ่งใหม่ในพระจิตกาธาน น้อมถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

      คณะช่างราชสำนักจึงจัดทำ “โองการสังเวยบวงสรวงช่างเครื่องสดราชสำนัก” ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยนักเรียนและศิษย์เก่าช่างฝีมือในวังชาย เนื้อหาด้านในนอกจากบทโองการแล้ว ยังมีภาพเขียนเกี่ยวกับเรื่องไตรภูมิต่างๆ ขณะที่ปกประดับด้วยปีกแมลงทับลายรังผึ้งและเปลือกมุกประดับด้านขอบ ซึ่งใช้เวลาประดิษฐ์ทั้งสิ้น 9 เดือน 15 วัน