ข่าว

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัย กับ 'การศึกษา' อย่างหาที่สุดมิได้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัย กับ 'การศึกษา' อย่างหาที่สุดมิได้

05 ธ.ค. 2562

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัย ทรงให้ความสำคัญ ส่งเสริม และ พัฒนาด้าน "การศึกษา" ด้วยเป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาคน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป 

 

             

              ดังพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2524 ความตอนหนึ่งว่า

           อ่านข่าว : ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์

 

               “...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคลสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคม และ บ้านเมืองนั้น ก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด...”

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัย กับ \'การศึกษา\' อย่างหาที่สุดมิได้

               ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัยเรื่องการศึกษาของประเทศ มีพระบรมราโชบายเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศในทุกระดับ ทุกประเภท ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนดูแลให้การศึกษาเข้าถึงเด็กทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ไหนถิ่นทุรกันดารเพียงใด ก็ต้องนำการศึกษาเข้าไปให้ถึง ด้วยพระอัจฉริยภาพได้พระราชทานแนวทางในการยกระดับและแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษามากมาย

 

               “การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” หรือ “ครูตู้” หนึ่งในโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนทั้งในเมืองหรือชนบทให้ใกล้เคียงกัน เริ่มต้นในปี 2538 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัด“โครงการการศึกษาสายสามัญด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม” เพื่อเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

 

                ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัย กับ \'การศึกษา\' อย่างหาที่สุดมิได้

 

               โดยใช้ “โรงเรียนวังไกลกังวล” อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแม่ข่าย ถ่ายทอดสัญญาณไปยังโรงเรียนที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม โดยไม่คิดมูลค่าตั้งแต่เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาทิ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นต้น

 

               ปีเดียวกันได้ขอพระบรมราชานุญาตจัดตั้ง“มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม”เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในมหามงคลวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (กาญจนาภิเษก) ในครั้งนั้นได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 50 ล้านบาทที่เป็นทุนประเดิมก่อตั้ง“มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” ขึ้น

 

               การนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานความรู้แก่นักเรียนด้วยพระองค์เองครั้งแรกผ่านรายการ “ศึกษาทัศน์” ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2544 ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรัขันธ์

 

               จวบจนวันนี้กว่า 20 ปี “การศึกษาพระราชทานด้วยเทคโนโลยี” ยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน จากรุ่นสู่รุ่น ยึดหลักสำคัญคือ“สอนง่าย ฟังง่าย เขียนง่าย เข้าใจง่าย”…

                     

 

 

           และด้วยทรงห่วงว่าเด็กและเยาวชนที่สนใจหรืออยากรู้เรื่องใด จะไม่มีแหล่งข้อมูลที่สามารถอ้างอิง และหาความรู้เพิ่มเติมได้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”ขึ้น แบ่งวิทยาการออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เล่มแรกพิมพ์ขึ้นในพ.ศ.2516 ปัจจุบันยังมีการจัดพิมพ์และจัดทำในรูปแบบซีดีรอม นับเป็นการพัฒนาวิชาการที่สำคัญยิ่งในวงการศึกษา

 

              ไม่เพียงเท่านั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเด็กที่ยากไร้ ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทรงพระทานจัดตั้งมูลนิธิ ตลอดจนทุนการศึกษาพระราชทาน อันประกอบด้วย "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์"ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ องค์กรการกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506 ภายหลังจากที่เกิดมหาวาตภัยภาคใต้แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อนจากสาธารณภัย และจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มาตั้งแต่ปี 2506 ปัจจุบันมี 51 โรง นักเรียนจะได้รับการสนับสนุนเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และอุปกรณ์การกีฬา .

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัย กับ \'การศึกษา\' อย่างหาที่สุดมิได้

              "โครงการพระดาบส" ในพระราชดำริฯ เริ่มดำเนินการในพ.ศ.2519 เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่มีอาชีพและไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะศึกษาต่อในสถาบันวิชาชีพ แต่สนใจใฝ่ศึกษา ให้ได้รับโอกาสฝึกวิชาชีพและฝึกอบรมคุณธรรมศีลธรรม เพื่อให้สามารถประกอบสัมมาอาชีวะ สร้างตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว สังคมและประเทศชาติ จดทะเบียนเป็นโรงเรียนพระดาบส เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2532 และจัดตั้งมูลนิธิพระดาบสเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2533 ทรงพระราชทานทุนประเดิมจัดตั้งกองทุนโรงเรียนพระดาบส 5 ล้านบาท ปัจจุบันเปิดการสอนใน 8 สาขาอาชีพ ได้แก่ วิชาชีพช่างยนต์,ช่างไฟฟ้า,ช่างอิเล็กทรอนิกส์,ช่างซ่อมบำรุง,การเกษตรพอเพียง,ช่างไม้เครื่องเรือน,ช่างเชื่อม,และวิชาเคหบริบาล

                       

 

   

            สำหรับ “ทุนการศึกษาพระราชทาน” เพื่อส่งเสริมนิสิต นักศึกษาที่เรียนดีอย่างยอดเยี่ยมแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีโอกาสศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย ทุนมูลนิธิภูมิพล ,ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนการสงเคราะห์ (King's Scholarship) ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย ทุนรวฤกษ์ ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี เช่น ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา, ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษาและรางวัลพระราชทานแก่นักเรียน และโรงเรียนดีเด่น

   

         ยังมีโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชนเช่น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้การอุปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียน พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียนด้วย

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่พระราชหฤทัย กับ \'การศึกษา\' อย่างหาที่สุดมิได้

              ตลอดรัชสมัย 70 ปีแห่งการครองสิริราชย์สมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงงานอย่างหนัก พระราชกรณียกิจนานับประการ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่ล้วนให้พสกนิกรชาวไทยที่อาศัยใต้ร่มพระบารมี ชีวิตอยู่ดี มีสุข พระกรณียกิจด้านการศึกษามากมาย ล้วนสร้างคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ดังพระราชสมัญญานาม “พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน” ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ถวายวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ใน พ.ศ. 2554

 

              ในยามนี้พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จะน้อมนำคำสอนและร่วมกันสืบสานพระราชปณิธาน ในการพัฒนาการศึกษาชาติให้เจริญ ยั่งยืน สืบไป

 

...กมลทิพย์  ใบเงิน...รายงาน