คอลัมนิสต์

สนามม้า-สนามการเมือง

สนามม้า-สนามการเมือง

31 ต.ค. 2555

สนามม้า-สนามการเมือง : มนุษย์สองหน้าโดยแคน สาริกา

              ข่าวการชุมนุมมวลชนของ "องค์การพิทักษ์สยาม" เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงวันที่ "ไฮโซสปอร์ตคลับ" กลุ่มหนึ่งใช้ "ราชกรีฑาสโมสร" เป็นสถานที่แถลงข่าวขับไล่รัฐบาลทักษิณเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
 
              พ.ศ.นี้ มีการใช้ "ราชตฤณมัยสมาคม" เป็นสถานที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มันเป็นความเหมือนในด้านเนื้อหา แต่มีความแตกต่างในรูปขบวนการขับเคลื่อนทางการเมือง
 
              ในแง่ของตำนานการก่อเกิดราชกรีฑาสโมสร และราชตฤณมัยสมาคม ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะสนามแข่งม้าทั้งสองแห่ง เป็นมรดกการพัฒนาสังคมไทยก้าวสู่ความเป็นตะวันตกของรัชกาลที่ 5
 
              หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจาก ประพาสยุโรป เมื่อ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2441) ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่นา 200 ไร่ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระคลังข้างที่ โอนให้เป็นสมบัติของสนามแข่งม้าและสโมสรกีฬาแบบตะวันตกแห่งแรกในสยามประเทศ ภายใต้นาม "ราชกรีฑาสโมสร" หรือ "สปอร์ตคลับ" แหล่งประทับตราความเป็นชนชั้นนำของสังคมไทย
 
              ต่อมา สปอร์ตคลับไม่พอรองรับกับความต้องการของชนชั้นนำใหม่ จึงมีการขอพระราชทานที่ดินของหลวงที่บริเวณนางเลิ้ง จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างเป็นสโมสรกีฬาแห่งใหม่ในนาม "ราชตฤณมัยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์" เมื่อปี 2459
 
              ว่ากันว่า ราชกรีฑาสโมสรกับราชตฤณมัยสมาคม เป็นสนามแข่งม้าและสโมสรกีฬาแบบตะวันตก แต่มีการบริหารต่างกัน จึงมีเรียกขานให้เข้าใจกันง่ายๆ ว่า "สนามฝรั่ง" กับ "สนามไทย"
 
              นักวิเคราะห์สังคมไทยมองว่า นับตั้งแต่ปี 2500 มีการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจไทย เห็นได้ชัดว่าที่ "สนามฝรั่ง" คือป้อมปราการของผู้ดีเก่า ไม่เปิดให้เศรษฐีใหม่เดินเข้ามาง่ายๆ ผิดกับ "สนามไทย" ที่ตกอยู่ในมือกลุ่มอำนาจในชนชั้นปกครองผสมผสานกับผู้ดีเก่า
 
              จากวัตถุประสงค์เดิมเพื่อการสมาคมสังสรรค์ กีฬาและเริงรมย์ ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นแหล่งการพนันถูกกฎหมาย และแน่นอนว่ามันได้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งทุนทางการเมืองระดับหนึ่ง
 
              ก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุค 14 ตุลาคม 2516 มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนเข้ามาคุมสนามม้านางเลิ้ง เริ่มจากยุคของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา, พล.อ.สุรสิทธิ์ จารุเศรณี และ พล.อ.โชติ หิรัณยัษฐิติ
 
              หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ประชาธิปไตยเบ่งบาน บุญวงศ์ อมาตยกุล ได้รับการสนับสนุนจาก ประทวน รมยานนท์ นักการเมืองแห่งพรรคชาติไทย เข้ามาคุมสนามนางเลิ้ง พร้อมกับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคชาติไทย
 
              พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ (ยศขณะนั้น) เริ่มเข้าสู่ราชตฤณมัยสมาคมฯ ในฐานะนายทหารคนสนิท พล.อ.ฉลาด จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ถนนสายเลือกตั้ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็แผ่บารมียึดสนามม้านางเลิ้งไว้เบ็ดเสร็จ
 
              เมื่อ พล.ต.สนั่น วางมือจากสนามม้านางเลิ้ง ก็ส่งไม้ต่อให้เพื่อนร่วมชะตากรรม "กบฏ 26 มีนา" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ซึ่งทั้งคู่ก็เป็นลูกน้องคนสนิทของ พล.อ.ฉลาด
 
              ปัจจุบัน โครงสร้างคณะกรรมการอำนวยการของราชตฤณมัยสมาคมฯ ประกอบด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งสภานายก พล.อ.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ ประธานกรรมการ, พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เลขาธิการกิตติมศักดิ์และประธานอำนวยการแข่งม้า
 
              พล.อ.วัฒนา สรรพานิช นายสนาม, พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต กรรมการกีฬาและประชาสัมพันธ์, พล.อ.จำลอง บุญกระพือ กรรมการอำนวยการ, พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา กรรมการอำนวยการ และสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ ปฏิคม
 
              คนในแวดวงอาชาต่างทราบกันดีว่า "เสธ.อ้าย" กับ "เสธ.ไอซ์" มีภารกิจช่วยกันอุ้มสนามม้าให้อยู่รอดปลอดพ้นจากมรสุมเศรษฐกิจ