คอลัมนิสต์

วาทะแห่งความเกลียดชัง

วาทะแห่งความเกลียดชัง : บทบรรณาธิการประจำวันที่16ม.ค.2558

              ในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หยิบยกการกำหนด ควบคุม การใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนในทุกแขนง รวมทั้งในโลกออนไลน์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า hate speech เพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ ซึ่งแถลงประเด็นนี้ให้เหตุผลว่า เป็นการบัญญัติตามสภาพปัญหาในปัจจุบัน ที่ได้ใช้คำพูดยั่วยุ ซึ่งจะต้องมีกฎหมายหรือองค์กรวิชาชีพเข้ามาดูแลควบคุมเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

              ต้องยอมรับว่า อุบัติการณ์ "วาทะแห่งความเกลียดชัง" ในสังคมไทย นับเป็นผลิตผลแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ในยามที่สังคมถูกการเมืองแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่าย ในกระแสธารหลั่งไหลของสื่อสารสาธารณะที่เปิดกว้างในหลากหลายรูปแบบอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่วิทยุชุมนุม โทรทัศน์ที่ส่งสัญญาณผ่านระบบดาวเทียม เคเบิลทีวีท้องถิ่น และที่เปรียบเสมือนเป็นการติดอาวุธให้แก่ทุกคนได้ประหัตประหารกันด้วยวาจาก็คือ โลกออนไลน์ที่ทุกคน ผู้มีอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ ไม่เพียงแต่จะสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลก เข้าถึงข้อมูลของทุกกลุ่มในเน็ตเวิร์ก พวกเขายังมีอิสรภาพในการประดิษฐ์วาทกรรมของตนเองขึ้นมาเพื่อเชือดเฉือน ข่มเหง และทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งได้ไม่ยาก เพียงแค่ปักหลักหน้าคีย์บอร์ด ก็ออกอาวุธทำลายล้างได้ไม่หยุดหย่อน

              ในขณะเดียวกัน สภาพสังคมที่ผู้คนแตกแยกกันทางความคิดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ได้ซึมลงและซ่านกระจายไปทุกหัวระแหงผ่านเซลล์เล็กๆ ในระบบสื่อสารที่อยู่ในมือทุกคน ซ้ำร้ายคลื่นกระแสนี้ได้คืบคลานสู่องค์กรสื่อที่ถูกเรียกว่า สื่อกระแสหลักเสียด้วยซ้ำ ซึ่งบางครั้ง  "สำเนียง" ของภาษาที่สื่อสารออกมา อาจถูกตีความจากความแตกแยกแบ่งฝ่าย กลายเป็นสื่อเลือกข้าง นั่นอาจมาจากการคุกคาม แทรกแซงด้วยอิทธิพลทางการเมืองที่เข้าไปมีบทบาทเหนือในภาวะความอ่อนไหวทางอุดมคติของสื่อ โดยสรุปวาทะแห่งความเกลียดชัง คือดอกผลของความขัดแย้งภายใต้องค์ประกอบการสื่อสารในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากแต่ในลำดับต่อไป ในขั้นของการสร้างกติกา ในกรณีประเด็นนี้ผ่านความเห็นชอบ จะต้องผ่านกระบวนการอย่างดียิ่ง เพราะการตีความ วาทะแห่งความเกลียดชังนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความที่ไม่อาจปล่อยให้อคติเข้ามาครอบงำได้โดยเด็ดขาด
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ