คอลัมนิสต์

ฉากชีวิต'ลุงแขกรักชาติ'

ฉากชีวิต'ลุงแขกรักชาติ'

26 มี.ค. 2558

ฉากชีวิต'ลุงแขกรักชาติ' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

                พลิกแฟ้มข่าวการชุมนุมของมวลมหาประชาชน ในช่วงที่แกนนำ กปปส.สายนักธุรกิจสีลมคนหนึ่ง ถูกศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ออกหมายจับและเตรียมเนรเทศออกจากผืนแผ่นดินไทย

                แวดวงสื่อสารมวลชนทุกแขนง เร่งทำงานค้นหาตรวจสอบข้อมูลกันยกใหญ่ว่าแท้จริงแล้ว สาธิต เซกัล เป็นใครกัน? จากแฟ้มประวัติในโลกออนไลน์มีเพียงสั้นๆ ว่าเป็นนักธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ชาวอินเดีย เจ้าของนิตยสารภาษาอังกฤษ

                ผ่านมาถึงวันนี้ หากใครอยากรู้เรื่องของ "ลุงแขกรักชาติ" ควรไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน

                หนังสือ "ภารตะหัวใจไทย สาธิต เซกัล" จะพาย้อนเส้นทางชีวิตของสาธิต เซกัล ชาวภารตหัวใจไทย ผู้ใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมาเกือบ 70 ปี และรักในหลวงสุดหัวใจ

                คนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำได้ และสร้างเส้นทางชีวิตใหม่ของตนเองได้

                พ.ศ.2471 ชายหนุ่มสี่คนจากรัฐปัญจาบ ตอนเหนือของประเทศอินเดีย ตัดสินใจพากันเดินทางออกจากบ้านเกิดมุ่งสู่ประเทศสยาม เพราะได้ยินคำเล่าลือสมัยนั้นว่า ประเทศสยามมีกษัตริย์ผู้รักความเป็นธรรม และมีความเมตตาต่อทั้งประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศด้วย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสของชีวิต เปิดกว้างให้ทำมาหากินได้อย่างอิสระ ทุกชาติ ทุกภาษา

                ในจำนวนสี่คนนี้ มีคนหนึ่งชื่อ ดาไย ลาล ไปรับจ้างอยู่ในร้านขายผ้า เพราะไม่มีเงินทุนมากพอ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเพียงเสื้อผ้าสองชุดเหมือนกับเพื่อนๆ ของเขา แต่ด้วยความที่ครอบครัวเป็นตระกูลค้าขายมาก่อนจึงพอมีวิชาคิดเลขคำนวณกำไรติดตัวมาบ้าง พอเก็บเงินได้สักระยะจึงไปเปิดร้านขายผ้าของตัวเอง

                ต่อมา หนุ่มปัญจาบขายผ้าแต่งงานกับ ไกรลาศ วันตี โชปรา และมีลูกชายชื่อ สาธิต เซกัล

                หลังจากนั้น พ่อแม่ของสาธิตได้ไปดูแลร้านผ้าที่สาขา จ.อุบลราชธานี และที่หัวเมืองใหญ่แห่งนี้ ไม่ใช่แค่ร้านผ้าทำมาหาเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัว "เซกัล" อย่างแท้จริง

                เดิมทีพ่อของสาธิตก็ไปดูแลร้านผ้าของลุง ก่อนจะแยกออกมาจากร้านเดิม มาเปิดร้านใหม่ของตัวเองแล้วชื่อ "รักไทยพาณิชย์" ชื่อร้านน่าจะสะท้อนถึงความรู้สึกของครอบครัวดาไล ยาล เซกัล ที่มีต่อแผ่นดินไทยได้เป็นอย่างดี

                ประสบการณ์ชีวิตอันควรจดจำของสาธิตในวัยหนุ่มที่เมืองอุบล คือ การสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสิทธิธรรม โดยได้รับการชักชวนจาก อ.ฟอง สิทธิธรรม ผู้ให้กำเนิดและตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในอีสาน

                เหนืออื่นใด สายใยสัมพันธ์ระหว่างสาธิตกับอุบลฯ ไม่เคยขาดหาย ดังที่สาธิตได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับอุบลฯ ไว้ครั้งหนึ่งในนิตยสาร LOOKEAST ว่าด้วยชีวิตวัยเยาว์ที่ผูกพันมั่นยืนกับอุบลฯ กระทั่ง "เว้าลาว" ได้สบาย

                ด้วยความรักแผ่นดินไทย และรักสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเท่าชีวิต วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 สาธิตจึงขึ้นเวที กปปส. ตอบคำถามเปิดใจในรายการของ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เวทีแยกปทุมวัน

                วันนั้นน่าจะเป็นวันที่มวลชนคน กปปส.ไปรวมตัวกันมากที่สุดอีกวันหนึ่ง นอกจากได้รับทราบความรู้สึกของสาธิตแล้ว ทางเวที กปปส.ยังได้ย้อนภาพการขึ้นเวทีครั้งแรกของสาธิตที่เวทีสามเสนโดยบังเอิญอีกด้วย เนื่องจากปกติสาธิตจะนำริบบิ้นธงชาติและผ้าโพกศีรษะ "เรารักในหลวง" ไปแจกเป็นประจำอยู่แล้วตามงานที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก

                และเป็นคนแรก คนเดียวที่ขึ้นเวทีปราศรัยประเด็นสถาบันและปกป้องสถาบัน

                นับแต่นั้นประวัติความเป็นมาของเขาจึงเริ่มเป็นที่รับรู้ทั่วกัน ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการปลุกจิตสำนึกความเป็นไทย และชักชวนให้คนไทยผู้รักในหลวงและแผ่นดินไทย ให้ออกมาแสดงออกถึงความรู้สึกทั้งหลายเหล่านั้น

                "แขกรักในหลวง คนจีนรักในหลวง ฝรั่งรักในหลวง คนไทยส่วนใหญ่ก็รักในหลวง แต่มีกลุ่มหนึ่งไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ ท่านจะรักหรือไม่รักก็สุดแต่ แต่อย่ามาจาบจ้วงสถาบันที่พวกท่านและพวกผมรักและเคารพ"

                นี่คือส่วนหนึ่งของหนังสือ "ภารตะหัวใจไทย สาธิต เซกัล" ซึ่งจะมีการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ณ เวทีกิจกรรม โซนเอเทรียม ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2558 เวลา 11.00-12.00 น. ซึ่งวันนั้น ลุงแขกรักชาติจะขึ้นเวทีพูดคุยกับ อัญชะลี ไพรีรัก ดาวไฮด์ปาร์คประจำเวที กปปส.

                บนทางชีวิตของครอบครัว "เซกัล" จากรัฐปัญจาบ จนมาถึงเมืองดอกบัว มีเรื่องราวมากมายให้ชวนติดตาม ลุงแขกรักชาติคนนี้ ไม่ธรรมดาจริงๆ