คอลัมนิสต์

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์'อุยกูร์-ฮั่น'

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์'อุยกูร์-ฮั่น'

16 ก.ค. 2558

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์'อุยกูร์-ฮั่น' : มนุษย์สองหน้า แคน สาริกา

              ในที่สุดประเทศไทยก็ตกอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ระหว่าง “ชนชาติฮั่น” ในฐานะผู้ปกครองแผ่นดินใหญ่ กับ “ชนชาติอุยกูร์” ที่อาศัยอยู่ใน “เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์”

              เมื่้อกลุ่มคนที่ถือ “ธงสีฟ้า” บุกสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพราะไม่พอใจที่ทางการไทยส่งชาวอุยกูร์กว่าร้อยคน กลับไปให้จีน

              กล่าวสำหรับ “ธงสีฟ้า” ที่ปรากฏอยู่ในภาพข่าวนั้น เป็นธงของชนชาติ “อุยกูร์” ในนาม “ขบวนการเอกราชเตอร์กีสถานตะวันออก” (East Turkistan Independence Movement) อันหมายถึงกลุ่มที่เรียกร้องเอกราชในมณฑลซินเจียง

              อุยกูร์แห่งซินเจียง เป็นชาติพันธุ์มองโกล-เตอร์กิช หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เติร์กอุยกูร์”

              นอกจากชาวอุยกูร์ในซินเจียงแล้ว ยังมีชาวคาซัค ชาวอุซเบก ซึ่งเคยเป็นชนกลุ่มน้อยใต้ร่มเงาสหภาพโซเวียต

              หลังปี 2534 เมื่อคอมมิวนิสต์โซเวียตล่มสลาย เขตปกครองเหล่านั้นก็ได้รับเอกราช กลายเป็นประเทศ “4 สถาน” คือ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน สังกัดอนุทวีปเอเชียกลาง ติดกับมณฑลซินเจียง

              ภายหลังชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานเหมา เจ๋อตุง ได้แบ่งชาวจีนออกเป็นชนชาติต่างๆ ทั้งหมด 56 ชนชาติ ซึ่งในจำนวนนี้มีชนชาติที่เป็นมุสลิมจำนวน 10 ชนชาติ

              แต่ชนชาติอุยกูร์มีความแตกต่างจากชาวมุสลิมในจีน เพราะเป็น “เติร์กอุยกูร์”

              คำว่า “ฮั่น” เป็นใหญ่ มาจากแนวคิดที่ ดร.ซุน ยัตเซ็น นำเข้าและได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ชาตินิยม “ดร.ซุน” ต้องการใช้แนวคิดนี้เพื่อระดมชาวจีนทั้งประเทศโค่นล้มราชวงศ์ชิง โดยพยายามบอกว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศจีนเป็นชนชาวฮั่น

              ปี ค.ศ.1942 พรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว โดย ประธานเหมา เจ๋อตุง ส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนไปยึดดินแดนทิเบต และซินเจียง

              เวลานั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดแนวการปกครองมาจากสหภาพโซเวียต คือให้มี “เขตปกครองตนเอง” สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งให้มีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในศาสนาได้

              กระทั่งเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ปี ค.ศ.1966 ขบวนการ “เรดการ์ด” ถูกส่งออกไปทั่วประเทศ รวมถึงซินเจียงและทิเบต ศาสนสถานถูกทำลาย นักบวชแต่ละศาสนาก็ถูกลงโทษ

              ปี ค.ศ.1976 การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง ความเจ็บปวดรวดร้าวของคนอุยกูร์และทิเบต จึงบรรเทาเบาบาง เมื่อ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ฟื้นแนวนโยบายเดิมสมัยที่พรรคอมมิวนิสต์จีนเถลิงอำนาจใหม่ๆ ให้มีกลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาได้เหมือนเดิม

              ครั้นมาถึงยุค “หู จิ่นเทา” ที่เคยเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำทิเบต ซึ่งนำชาวฮั่นไปช่วยคนท้องถิ่นพัฒนาด้านเศรษฐกิจจนประสบผลสำเร็จ จึงนำเสนอแนวนโยบายนำเอาชาวฮั่นเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของชนชาติพันธุ์

              กรณีของซินเจียง เมื่อชาวฮั่นเข้าไปทำมาค้าขายในพื้นที่ “เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์” มากขึ้น และได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวฮั่น

              กระทั่งความขัดแย้งทางเชื้อชาติถึงจุดระเบิด เกิดการจลาจลระหว่างชาวอุยกูร์และชาวฮั่น และการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนกับชาวอุยกูร์ในเขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

              ความขัดแย้งในซินเจียงแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ เรื่องของเชื้อชาติ และการแบ่งแยกดินแดน

              ชาวอุยกูร์ที่ต้องการแยกดินแดนมีอยู่ 2 ขบวนการ คือ องค์กรปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Liberation Organization: ETLO) กับ ขบวนการอิสลามิกเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement: ETIM)

              สองกลุ่มนี้ต้องการสร้าง “สาธารณรัฐอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก” ที่ถูกทางการจีนมองว่าเป็นเครือข่ายขบวนการก่อการร้ายสากล

              ส่วน “สภาอุยกูร์โลก” ที่รณรงค์เรียกร้องสิทธิของชาวอุยกูร์พลัดถิ่น ได้เคลื่อนไหวอยู่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ

              เกมอำนาจระหว่าง “วอชิงตัน” กับ “ปักกิ่ง” ยังดำรงอยู่และดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น โดยมีชาวอุยกูร์เป็นเบี้ยบนกระดานมหาอำนาจเกมนี้