คอลัมนิสต์

  มช.โชว์ผลวิจัยตรวจสารเสพติดจากเส้นผม

มช.โชว์ผลวิจัยตรวจสารเสพติดจากเส้นผม

17 ส.ค. 2558

มช.โชว์ผลวิจัยตรวจสารเสพติดจากเส้นผม : สายตรวจระวังภัย โดยอายุทัย นนท์นิติรัตน์

             ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาปัญหาในเรื่องของการตรวจหาสารเสพติด จากเดิมตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ว่า ให้ตรวจหาสารเสพติดจากทางระบบปัสสาวะเท่านั้น จึงอาจทำให้การตรวจมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาควิชานิติเวชศาสตร์ ทำการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มช่องทางการตรวจหาสารเสพติดจากเส้นผม โดยได้ผลอย่างแม่นยำ และสามารถตรวจสอบถึงประวัติระยะเวลาการใช้สารเสพติดได้

             เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาควิชานิติเวชศาสตร์ ได้เริ่มต้นทำการวิจัยการตรวจหาสารเสพติดในเส้นผมตั้งแต่ปี 2540 โดยได้มีการศึกษารูปแบบจากต่างประเทศ นำมาปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของเครื่องมือที่มีอยู่  กระทั่งปัจจุบันนี้ มีเครื่องมือการตรวจวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้การตรวจหาสารเสพติดจากเส้นผม มีความแม่นยำ ถือได้ว่าเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งสามารถตรวจพบผู้ที่ใช้ยาเสพติดได้ผลมากกว่าวิธีพื้นฐานตามที่กฎหมายระบุไว้ คือ วิธีการตรวจจากปัสสาวะ โดยวิธีการตรวจจากเส้นผมนี้สามารถแยกตรวจหาสารเสพติดประเภทยาบ้า เฮโรอีน ยาอี แอลกอฮอล์ และสารเสพติดชนิดอื่นได้เป็นอย่างดี

             สำหรับการตรวจสารเสพติดจากเส้นผม มีข้อดีแตกต่างจากการตรวจจากทางระบบปัสสาวะ และทางเลือด เพราะบางครั้งเมื่อผู้ที่ใช้สารเสพติด หยุดใช้สารเสพติดประมาณ 2-3 วัน ก็ไม่สามารถตรวจพบสารเสพติดได้  แต่ถ้าใช้วิธีตรวจจากเส้นผม จะสามารถตรวจย้อนหลัง และหาช่วงเวลาการใช้สารเสพติดได้ เพราะเมื่อมีการใช้สารเสพติดนั้น สารที่เสพก็จะเข้าสู่กระแสเลือด และเลือดจะไปหล่อเลี้ยงเส้นผม หรือเส้นขนตามร่างกาย ทำให้สารเคมีจะไปเกาะติดที่โคนเส้นผม และเส้นผมก็จะมีความยาวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถตรวจหาสารเคมี ที่อยู่ในเส้นผมและเส้นขนที่อยู่ตามร่างกายได้

             โดยความยาวของเส้นผม 1 เซนติเมตร สามารถตรวจสอบย้อนหลัง ถึงประวัติการใช้สารเสพติดได้ประมาณ 1 เดือน หากต้องการที่จะตรวจย้อนหลังประมาณ 3 เดือน ก็ใช้เส้นผมที่มีความยาว 3 เซนติเมตรได้ อีกทั้งวิธีการนี้มีความรวดเร็วในการตรวจ โดยใช้เวลา 30 นาที ก็สามารถทราบผลได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองและการทำวิจัยจากกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน รวมถึงจากกลุ่มพนักงานประมาณ 400 ราย จากโรงงานแห่งหนึ่ง โดยผลจากการตรวจทางปัสสาวะ พบผู้ที่มีการใช้สารเสพติดเพียง 1 ราย แต่เมื่อจากเส้นผม กลับพบว่า มีผู้ใช้สารเสพติดถึง 40 คน นับได้ว่าการตรวจจากเส้นผมนี้สามารถตรวจพบได้ 100 เปอร์เซ็นต์

             ทั้งนี้ ปัจจุบันกฎหมายได้ระบุไว้ว่า การตรวจหาสารเสพติดมีเพียงวิธีการตรวจจากปัสสาวะเท่านั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นซึ่งการตรวจหาสารเสพติดจากเส้นผมก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยปัจจุบันนี้ทางภาควิชานิติเวชศาสตร์ก็ได้เดินหน้าเปิดให้บริการการตรวจหาสารเสพติดจากเส้นผมมาแล้วกว่า 2,000 ราย พร้อมด้วยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อการตรวจหาประวัติของผู้ที่มีการใช้สารเสพติดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย