อุบัติเหตุพรากชีวิต ล้มครืนทั้งครอบครัว ชุมชนต้องร่วมกันแก้
อุบัติเหตุพรากชีวิต ล้มครืนทั้งครอบครัว ชุมชนต้องร่วมกันแก้ : เสาวลักษ์ คงภัคพูนรายงาน
ความพยายามของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน ทั้งคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินการงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุจราจรทางถนนในระดับจังหวัด (สอจร.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิไทยโรดส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ต่างบทบาท แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ลดสถิติและอัตราการสูญเสียของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ที่ในเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก ปี 2558 ระบุว่า ประเทศไทยสถิติผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือภายใน 1 เดือน มีคนบาดเจ็บประมาณ 2 แสนคน เสียชีวิตประมาณ 2,000 คน การขับเคลื่อนของทุกหน่วยงานจึงมีการบูรณาการร่วมกัน สู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อลบสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของประเทศไทย ที่มีมากกว่าภาวะการเสียชีวิตอันเกิดจากสงครามไปให้ได้ เพราะ “ความตาย” ยังก่อให้เกิดความสูญเสียถึง “คนเป็น” ที่ระบบครอบครัวต้องล้มทั้งยืน เกิดความสูญเสียตามมาอย่างมากมาย
การขับเคลื่อนเครือข่ายเป้าหมายให้ประชาชนพ้นอุบัติเหตุ ได้ครอบคลุมอย่างกว้างขวางในทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่กู้ชีพ กู้ภัย ทำให้เกิดเครือข่ายนักกู้ชีพทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติเหล่านี้ เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางถึงจุดเกิดเหตุ หากมีการรวบรวมสภาพแวดล้อม ทั้งคน รถ ถนนอย่างละเอียด เพิ่มศักยภาพในการเก็บข้อมูลปฐมบทเบื้องต้นอย่างละเอียด รวมถึงหากมีการสื่อสารข้อมูลออกมาได้ดี ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการใช้สำหรับการสืบสวนหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ณ จุดเกิดเหตุนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องตรงจุด
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการประชุมเตรียมงานขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เป็นการเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อความปลอดภัยทางถนน ปี 2558 ณ กรุงบราซิลเลีย ปรากฏว่า องค์การอนามัยโลกประเมินผลการดำเนินงานในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (2011-2020) ประเทศที่มีรายได้สูงสามารถลดได้มากกว่า 50% ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ลดลงร้อยละ 40 ประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำลดเพียงร้อยละ 10
ด้านการบริหารจัดการเสาหลัก 5 ด้าน องค์การอนามัยโลกประเมินว่า มีปัญหาทุกเสาหลัก ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ด้านยานพาหนะปลอดภัย ด้านถนนปลอดภัย ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งประเทศไทยได้รับการยกย่องให้การแพทย์ฉุกเฉินมีการดำเนินงานที่ดีที่สุด
การนำเอาจุดเด่นดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงเป็นการเปิดมิติใหม่ คือ นำเอาปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในส่วนของการกู้ชีพมาประยุกต์เข้ากับแผนการเปลี่ยนจากฝ่ายรับภารกิจช่วยเหลือ มาเป็นการดำเนินงานเชิงรุก ด้วยการป้องกันอุบัติเหตุ โดยอาศัยข้อมูลที่เก็บบันทึกเพื่อส่งรายงาน ปรับทัศนคติและการปฏิบัติการในหน้าที่กู้ชีพ ให้เป็นทั้งแหล่งข่าวและผู้สื่อสารข่าวผ่านสื่อมวลชน ด้วยการสังเคราะห์ประเด็นข้อมูลที่เก็บจากที่เกิดเหตุมานำเสนอต่อสังคมในวงกว้าง นำเสนอเชิงอารมณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์เชิงวิศวกรรมจราจร การรักษาพื้นที่เกิดเหตุให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ รูปแบบสังเคราะห์ข้อมูลจากเหตุที่เกิดขึ้นและบันทึกไว้ และรูปแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนุบสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เล็งเห็นความสำคัญ จึงทำโครงการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารสาธารณะของเครือข่ายกู้ชีพผ่านสื่อมวลชนเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทำให้พลังของข้อมูลได้ปรากฏออกสู่พื้นที่สาธารณะ โดยหวังผลถึงการลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิตและการป้องกันอุบัติเหตุเชิงนโยบาย จนสามารถสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนได้ สอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักของแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ.2554-2559 ในการลดการเจ็บป่วยฉุกเฉินลงให้น้อยที่สุด จึงเกิดก้าวแรกของการบูรณาการการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนบรรเทาเบาบางลง เพราะฝ่ายนักกู้ชีพจะเป็นแหล่งข่าวสำคัญ สนับสนุนข้อมูลและสังเคราะห์ข้อมูลที่บันทึกไว้ถึงลักษณะของจุดเกิดเหตุ สภาพถนน สภาพของผู้ประสบเหตุ ขณะที่สื่อมวลชนสามารถนำข้อมูลมาใช้ด้วยการนำเสนอรูปแบบข่าว สารคดีเชิงข่าว ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์
นอกจากนี้ในส่วนของคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินการงานป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุจราจรทางถนนในระดับจังหวัด (สอจร.) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งมั่นในการลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดย นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงาน สอจร.มองว่า การทำงานด้านป้องกันอุบัติเหตุเริ่มมีสัญญาณที่ดี เพราะมีการขับเคลื่อนงานร่วมกันจากสหสาขาวิชาชีพช่วยกันถักทอ เชื่อม สานพลังการทำงานร่วมกัน เพื่อให้คนไทยตายลดลง แนวทางการขับเคลื่อนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี ต่อไปนี้จะมีการดำเนินงานรณรงค์เมาไม่ขับหรือขับขี่ปลอดภัย โดยไม่เน้นเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่จะดำเนินงานตลอดทั้งปี ในประเด็นสำคัญคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมวกกันน็อก เมาแล้วขับ คาดเข็มขัดนิรภัย ผู้ฝ่าฝืนให้มีบทลงโทษหนักขึ้น ให้มีระบบศูนย์กลางรวบรวมระบบข้อมูลฐานความผิด เช่น เคยถูกจับดำเนินคดีเมาไม่ขับ เมื่อไปถูกจับอีกครั้งในพื้นที่อื่นห่างไกล แต่หากมีระบบฐานข้อมูลที่ดี เมื่อใส่เลขบัตรประจำตัว 13 หลัก ข้อมูลการกระทำความผิดด้านการจราจรส่วนบุคคลทั้งหมดก็จะปรากฏขึ้น ทำให้เป็นหลักฐานในการดำเนินการเอาผิดด้านกฎหมายที่ให้ได้รับโทษหนักขึ้น ก่อให้เกิดความเข็ดหลาบหวาดกลัวในการจะกระทำผิดครั้งในอนาคตข้างหน้า
นพ.วิทยา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ได้เสนอปรับปรุงกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนรวมกว่า 10 ข้อ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลักดันให้มีการบังคับใช้ โดยเฉพาะในเรื่องการปรับลดความเร็วในเขตเมืองให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยยึดตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันไทยกำหนดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ไม่ว่าจะดำเนินการโดยวิธีใด ที่สำคัญที่สุด เป้าหมายคือ ต้องการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งย่อมส่งผลถึงผู้ที่ได้รับทางอ้อมกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น คือ ครอบครัวของผู้สูญเสีย ก็จะมีน้อยลงตามไปด้วย
เปิดใจ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาฯ สพฉ.ทำไมถึงต้องเดินหน้าลดอุบัติเหตุ
ในอดีตผมเคยเป็นหมอกระดูกที่ รพ.อุดรธานี พบว่าปี 2538-40 ช่วงเศรษฐกิจดี ก่อนฟองสบู่แตก ยุคนั้นเหมือนสามล้อถูกหวย ผู้คนซื้อดื่ม กิน เที่ยวเล่น มอเตอร์ไซค์ขายดีมาก สิ่งที่ตามมาคือ อุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก สมัยนั้นเรียกว่า “โค้งร้อยศพ” มีทุกจังหวัด ที่ไม่ตายก็สาหัส เด็กวัยรุ่น วัยทำงาน ขาหักล้นเตียง จนต้องนอนเตียงเดียวกัน หันหัวคนละทาง เป็นที่อนาถมาก ขณะเดียวกัน ขณะนั้นมีเงินข้ามชาติมาให้กู้โดยไม่ต้องเสียภาษี คนกู้เปิดโรงพยาบาลเอกชนกันมาก หมอจากโรงพยาบาลรัฐไหลออกไปเกือบหมดที่ รพ.อุดรฯ เหลือหมอกระดูกคนเดียว ยืนผ่าจนตัวเองสาหัส รู้สึกสงสารตัวเองที่ทำงานหนัก จนรู้สึกว่า ทำไมเขาจัดการกับบ้านเมืองแย่จัง ทำไมปล่อยให้ลูกหลานล้มตาย บาดเจ็บอเนจอนาถเช่นนี้ ปีนั้น 500 กว่าราย รถชน 80 เปอร์เซ็นต์ พวกกระดูกหักเกือบทั้งนั้น ส่วนผู้ป่วยโรคกระดูกอื่นๆ ที่รอคิวผ่าตัดก็ถูกคิวอุบัติเหตุแทรกหมด บางคนข้ามปี สองปีก็ยังไม่ได้ผ่า จึงมาคิดว่า ทำไมเราต้องมาตั้งรับกับมัน มีวิธีการแก้อย่างไร หลายประเทศเคยมีปัญหาแบบนี้ ญี่ปุ่นเป็นหมื่นศพ แต่เมื่อประกาศว่า ใครเมาชนจะต้องสืบตามจนไปปิดร้านเหล้า ทำให้ยอดตายลดลงจนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ จึงทำให้เดินหน้างานป้องกันอุบัติเหตุอย่างจริงจัง
เมื่อมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นมากมาย รวมทั้งคนกู้ชีพ กู้ภัย ที่เริ่มเปลี่ยนแนวคิดจากการเก็บคนเจ็บคนตาย มาเป็นคนช่วยวิเคราะห์และหาทางป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ ถ้าเราทำแล้วอีก 5-6 ปีข้างหน้าดีขึ้น ลูกหลานจะมาขอบคุณที่เราทำวันนี้ ขอให้คิดไปไกลถึงอนาคตถึง 10 ปีข้างหน้าโน่น
“ตอนอยู่อุดรฯ เห็นเรื่อยๆ ที่ตายยกบ้าน สังคมไทยไม่เคยออกข่าวเฉยชา ทำไมเราเฉยได้ เราต้องไม่เพิกเฉย ต้องคิดยาวๆ เพียรทำเรื่องรณรงค์ที่ท้าทายกว่าการตามเก็บศพหลังเกิดอุบัติเหตุ ปัญหาการเจ็บตายบนถนนบ้านเรา ขยับจากที่ 3 ของโลก ขึ้นเป็นที่ 2 องค์การอนามัยโลก สสส.-สพฉ.เห็นร่วมกันว่า หมอ พยาบาล กู้ชีพ ควรลุกขึ้นมารณรงค์อุบัติเหตุ ทำให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เขาเอง คนในพืิ้นที่รู้ข้อมูลลึก เปลี่ยนคานงัดจากพื้นที่เองดีกว่าจากส่วนกลาง ที่ไม่รู้ปัญหาแท้จริง มาแก้ไม่ตรงจุด”
“ตุ๊กตาหมีวันเกิด”ความทรงจำที่โหดร้ายของหนูน้อย
ช่วงค่ำคืนหนึ่ง เป็นเหตุเปลี่ยนความคิดในการทำงานของ “รุจีวรรณ ยมศรีเคน แสงลุน” พยาบาลงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลซำสูง จ.ขอนแก่น ได้รับแจ้งเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ เมื่อไปตรวจสอบพบชายสูงวัยขี่รถจักรยานยนต์ชนกับรถบรรทุกหกล้อ ร่างคุณตาถูกรถเหยียบเข้าที่ท้อง หายใจรวยริน จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล สังเกตที่เกิดเหตุเห็นตุ๊กตาหมีสีฟ้าตกอยู่ จึงนำกลับมามอบให้ญาติคุณตาด้วย หลังความวุ่นวายสาละวนที่หน้าห้องฉุกเฉิน เด็กหญิงเล็กๆ วัย 3 ขวบ ถือตุ๊กตาหมีสีฟ้าตัวนั้น ยืนมองความวุ่นวายรอบตัวด้วยแววตาหวาดกลัว เสียงร่ำไห้ของญาติ บรรยากาศของความวุ่นวายท่ามกลางร่างของคุณตาที่นอนแน่นิ่ง ทำให้เด็กหญิงยิ่งกอดตุ๊กตาไว้แน่น สิ่งที่น่าเศร้าคือ ตุ๊กตาหมีสีฟ้าเป็นของขวัญวันเกิดที่คุณตาขี่ รถจักรยานยนต์ไปซื้อมาเตรียมให้หลานสาวคนนี้ และกำลังไปซื้อเค้กเพื่อให้หลานสาวเป่าเทียน แต่คุณตากลับประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เหลือไว้เพียง “ตุ๊กตาหมีสีฟ้า” ของขวัญวันเกิดให้หลานสาวไว้เป็นของขวัญชิ้นสุดท้าย
“เหตุการณ์เช่นนี้ต้องเกิดอีกกี่ครั้ง นั่นคือคำถามในใจตอนนั้น หากเป็นอย่างนี้แล้ว เรายังจะตั้งรับกับอุบัติเหตุอยู่เช่นนี้หรือ จึงคิดจะป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอย่างแท้จริง เริ่มเข้าหาส่วนราชการอื่นๆ จับมือเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกันป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ ตั้งแต่นั้นมา”
พลังชุมชน ลุกขึ้นแก้จุดเสี่ยงด้วยตัวเอง
การทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ด้วยการวิเคราะห์จุดเสี่ยงบนถนนในเส้นทางต่างๆ ของ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ลงพื้นที่บันทึกภาพจุดต่างๆ และนำเสนอต่อที่ประชุมประจำเดือนของส่วนราชการประจำอำเภอให้นายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุและดำเนินการแก้ไขปัญหา นำไปสู่การร่วมมือของชุมชนในการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ ด้วยการบริหารจัดการด้วยตัวเอง ตามแนวคิดที่ว่า “ไม่มีใครรู้ปัญหาเรา มากกว่าตัวคนในพื้นที่เอง”
ตัวอย่างจุดเสี่ยงที่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม คือ ทางโค้งบ้านกุดเลาหมู่ 5 ต.ห้วยเตย อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น เกิดอุบัติเหตุบ่อยช่วงกลางคืน ประมาณ 18.00-21.00 น. ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เมื่อวิเคราะห์จุดเสี่ยงเมื่อเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานของพื้นที่ร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และแขวงการทางขอนแก่น เข้าร่วมจำลองการขับรถบริเวณดังกล่าวพบว่าเส้นทางมาจาก อ.ซำสูง จะไป อ.กระนวน เป็นลักษณะลงเนินแล้วหักโค้ง แต่ทัศนวิสัยการมองเห็นของคนขับเห็นเป็นทางตรง สาเหตุจากลักษณะความลาดเอียงทางกายภาพของถนนไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงเชฟรอนนำทางระยะห่างไม่เท่ากัน ทำให้มองเหมือนสิ้นสุดทางโค้งแล้ว มีป้ายของปั๊มน้ำมันอยู่ซ้ายมือ มีต้นไม้ใหญ่เป็นจุดตัดสายตา เส้นจราจรไม่ชัดเจน เป็นเส้นประไม่ใช่เส้นทึบห้ามแซง
ในที่สุด มีการร่วมพลังชุมชนและหน่วยงานแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงนี้ ด้วยการทำลูกระนาด ราวเหล็กกั้นขอบถนน ปรับผิวถนนให้เรียบ ทาสีเส้นสะพาน และขอบถนน ซึ่งบางส่วนชาวบ้านลงมือทำเอง ปัจจุบันสถิติอุบัติเหตุในพื้นที่ลดลงอย่างชัดเจน