![โรคระบาดในออนไลน์ โรคระบาดในออนไลน์](https://media.komchadluek.net/media/img/size1/2016/09/12/76566bi6hi6f7eabfbjcg.jpg?x-image-process=style/lg-webp)
โรคระบาดในออนไลน์
โรคระบาดในออนไลน์ : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 13 กันยายน 2559
ตามหลักวิชาการในวงการแพทย์ อาการไข้ที่เกิดจากไวรัสซิกา ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์รุนแรงมากนัก ผู้ที่ติดเชื้อจะมีไข้และหายเองได้ในที่สุด จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างก็ในเฉพาะกลุ่มสตรีที่ตั้งครรภ์ เพราะมีสถิติทารกที่เกิดมามีศีรษะเล็กกว่าปกติในประเทศบราซิล ซึ่งในทางการแพทย์ยืนยันว่า น่าจะเป็นผลมาจากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ดูเหมือนว่า สังคมไทยจะตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้เป็นอย่างมาก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงวิงวอนขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวไวรัสซิกาแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะไม่น่ากลัวถึงชีวิต ทั้งยังพบผู้ป่วยเพียง 20 รายเท่านั้น
อาการ “ตื่นตระหนก” ของผู้คนเกิดขึ้นเพราะการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโรคชนิดใหม่ในประเทศไทย น่าจะเรียกว่าไวรัสอินเทอร์เน็ต หรือที่รู้จักกันในนามว่า ”ไวรัล” มากกว่า เพราะก่อนหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะออกโรงแถลงข่าวไม่นานนัก ในโซเชียลมีเดียได้แชร์เพจทำนองว่า “แชร์ด่วน” -โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเข้ามาระบาดในกรุงเทพฯ และมีผู้ติดเชื้อหลายรายกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยพบมากที่สุดที่เขตสาทร กำลังควบคุมพื้นที่แพร่ระบาด ฯลฯ เมื่อผู้รับสื่อโซเชียลเห็นเพจหน้านี้เข้าก็ตกอยู่ในอาการเหมือนคนติดเชื้อร้าย ไข้ขึ้น ตื่นกลัว หน้ามืดตามัว แชร์กันต่อๆ ไปก่อนที่จะถามไถ่ความจริงในภายหลัง เหมือนหลายๆ กรณีที่แชร์ก่อนแล้วค่อยตรวจสอบหรือตามแก้
การแพร่ระบาดของไวรัสที่ชื่อว่า "ไวรัล” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมตามแหนแห่ในสังคมไทยยุคใหม่ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ จะว่าไปแล้ว มีความน่ากลัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ไวรัสซิกา เนื่องจากผลกระทบจากความตื่นตระหนก และการแชร์โดยขาดการไตร่ตรองสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง มีอีกหลายเหตุการณ์ซึ่งแม้จะไม่ใช่ข่าวเท็จเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค แต่การนำข้อมูลไม่ครบถ้วน ซ้ำด้วยการเติมแต่งสีสันเข้าไปสู่โซเชียลเน็ตเวิร์กก็วุ่นวายไม่น้อย ล่าสุดสตรีคนหนึ่งได้มอบหมายให้ทนายความแจ้งความดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กหนึ่งในข้อหาหมิ่นประมาท เพราะบนหน้าเพจนั้นมีข้อความและภาพที่ทำให้เธออยู่ในสถานะตามที่เขียนไว้ในกฎหมายหมิ่นประมาทว่า ถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกเกลียดชัง
กรณีการแชร์ข่าวไวรัสซิกา คงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายใหญ่โตลุกลามบานปลาย และร้อนถึงโฆษกรัฐบาลต้องออกมาแก้ข่าวแต่อย่างไร ถ้าหากสังคมจะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ ที่ภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำความเข้าใจผ่านสื่อต่างๆ เท่าที่มีอยู่ เป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายดาย น่าเชื่อถือ และรวดเร็วทันการณ์มากกว่าข่าวลวงจากการแพร่ระบาดด้วยการกดแชร์ต่อๆ กันมา บทเรียนการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกเมื่อปี 2547 ย้ำเตือนสังคมไทยให้รำลึกเสมอว่า การปกปิดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ท้ายที่สุดแล้วจะนำความเสียหายมาให้อย่างใหญ่หลวง ในทางกลับกัน อีก 12 ปีให้หลังจากนั้น สู่ยุคของโซเชียลมีเดีย ข่าวต่างๆ แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ภาครัฐก็ต้องเร่งเรียนรู้เพื่อสามารถรับมือได้กับการแพร่ข้อมูลลวงแบบกลับทางกับยุคก่อน