รร.ดุสิตธานี“รื้อหรือรักษ์” สัญลักษณ์สีลม
รร.ดุสิตธานี ตั้งอยู่แยกสีลม และเป็นสัญลักษณ์ของย่านธุรกิจกลางกรุงมานานนับหลายสิบปี ผ่านกาลเวลามาถึงปัจจุบันถึงเวลาต้องรื้อปรับปรุงหรือควรอนุรักษ์ไว้
50 ปีที่แล้ว กรุงเทพฯ ไม่มีตึกสูงมากนัก โดยเฉพาะโรงแรมระดับห้าดาว จนกระทั่งปี 2509 กลุ่มนักธุรกิจไทยจับมือบริษัทญี่ปุ่นสร้าง “โรงแรมดุสิตธานี” บนสี่แยกสีลมตรงข้ามกับสวนลุมพินี ด้วยความสูง 23 ชั้น จำนวน 520 ห้อง เมื่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการในปี 2513 กลายเป็นอาคารสูงสุดในประเทศไทย ตึกสูงสง่ารูปทรงสามเหลี่ยมพร้อมยอดโลหะสีทองเสียดสูงขึ้นท้องฟ้า สร้างความโดดเด่น ทำให้กรุงเทพฯ ดูทันสมัยไม่น้อยหน้าเมืองหลวงประเทศอื่น...
แต่ในวันนี้ผ่านร้อนผ่านฝนมาเกือบครบ 50 ปี เจ้าของเครือโรงแรมดุสิต “บมจ.ดุสิตธานี” (DTC) ได้ประกาศทุบรื้อทิ้ง หลังเซ็นสัญญาร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล “บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) ปรับโฉมโรงแรมดุสิตธานี เป็น พื้นที่โครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม (Mixed-Use Development) งบลงทุน 36,700 ล้านบาท ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงานในพื้นที่ประมาณ 23 ไร่
การจับมือครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากได้สัญญาเช่าฉบับใหม่กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเวลา 30 ปี พร้อมรับสิทธิในการเช่าที่ดินต่อเนื่องอีก 30 ปี รวมเป็น 60 ปี…
การทุบอาคารเก่าทิ้งในพื้นที่ทองคำถนนสีลม เพื่อทดแทนด้วยตึกทันสมัยไฮเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องแปลก แต่กรณีของ “โรงแรมดุสิตธานี” นั้น มีหลายฝ่ายมองเห็นความสำคัญในแง่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความงดงามด้านสถาปัตยกรรม และความผูกพันของคนกรุงเทพฯ
ทำให้เริ่มมีเสียงต่อรองขอเก็บโรงแรมนี้ไว้เป็น “โบราณสถาน” เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งอาคารทรงคุณค่าตัวแทนสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคแรกของเมืองไทยที่เหลือน้อยเต็มที
“ปองขวัญ ลาซูส” ผอ.สำนักมรดกเมือง สถาบันสถาปนิกสยาม แสดงความเห็นว่า สถาปัตยกรรมของโรงแรมดุสิตธานีไม่ได้สวยงามแค่การออกแบบตัวอาคารเท่านั้น แต่ยังวางอยู่ในพื้นที่หัวมุมถนนสีลม ตรงข้ามกับพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 การออกแบบภูมิทัศน์รอบด้านโดดเด่นจนเป็นพระเอกของกรุงเทพฯ ในยุคสมัยหนึ่ง ใครมาเที่ยวกรุงเทพฯ ก็ต้องหาโอกาสไปชื่นชมโรงแรมแห่งนี้สักครั้งในชีวิต
“น่าเสียดายมากที่มรดกทางสถาปัตยกรรมรูปแบบอาคารโมเดิร์นยุคแรกของประเทศไทยจะต้องถูกทุบรื้อทิ้ง แล้วสร้างเป็นศูนย์การค้าครบวงจรแทน ถ้าถามถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โรงแรมดุสิตธานีเคยเป็นโรงแรมแห่งแรกที่เป็นตึกสูงสง่า เป็นแลนด์มาร์คในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือมีคุณค่าทางจิตใจคนกรุงเทพฯ คงรู้สึกเสียดายถ้าอยู่ๆ ก็หายไป เปรียบเสมือนเป็นมรดกเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง อาคารที่ควรค่าเเก่การอนุรักษ์หรือโบราณสถานไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกขึ้นทะเบียนโบราณสถานสำหรับอาคารที่มีสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นกันแล้ว ไทยยังล้าหลังในเรื่องนี้ เรากำลังรื้อทำลายมรดกของตัวเอง เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ยังใช้มรดกยุคโมเดิร์นเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก”
ผอ.สำนักมรดกเมือง กล่าวต่อว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่พื้นที่ของโรงแรมดุสิตธานีอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้มีความหวังอย่างยิ่งว่า หากเกิดกระแสของคนจำนวนมากขอร้องให้อนุรักษ์อาคารนี้ไว้ อาจทำให้กลุ่มนักลงทุนเปลี่ยนใจได้ แตกต่างจากพื้นที่ดินของเอกชน ซึ่งการต่อรองคงจะเป็นไปไม่ได้เลย อยากให้ช่วยกันทำให้เจ้าของพึ้นที่และกลุ่มนักลงทุนมองเห็นความสำคัญ เปลี่ยนจากรื้อทิ้งเป็นการปรับปรุงอาคารแทน
ขณะที่ "สุกัญญา จันทร์ชู" ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงว่า ปัจจุบันนี้โครงการใหม่ออกแบบไว้หมดแล้ว ไม่สามารถเก็บโรงแรมดุสิตธานีไว้ได้ แต่จะสร้างเป็นโรงแรมใหม่ขึ้นทดแทน และที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้รับการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรมาก่อน
“โรงแรมนี้อายุเกือบ 50 ปีแล้ว ทำให้การดูแลรักษาทำได้ยากมาก และลูกค้าก็มีน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะไปจองพักกับโรงแรมสร้างใหม่ ทำให้เราต้องปรับตัว โครงการนี้มีแผนเริ่มก่อสร้างปี 2561 เพื่อให้ทันสมัยได้มาตรฐานสากล แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ภายในปีนี้จะเริ่มเห็นแบบก่อสร้างของโครงการชัดเจนมากขึ้น” สุกัญญากล่าว
หากการทุบทิ้ง “โรงแรมดุสิตธานี” เสมือนเป็นการทำลายจุดเชื่อมต่อทางประวัติศาสตร์ของมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น
มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่กรมศิลปากรจะมาขึ้นทะเบียนโรงแรมแห่งนี้ให้เป็น “โบราณสถาน” ?
"อนันต์ ชูโชติ" อธิบดีกรมศิลปากร ตอบข้อข้องใจว่า การขอขึ้นทะเบียนโบราณสถานสำหรับอาคารหรือสถานที่ใด ต้องพิจารณาว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทางโบราณคดี หรือการก่อสร้างมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นหรือไม่ ตามขั้นตอนจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรไปสำรวจอย่างละเอียด เพื่อประเมินคุณค่าอย่างรอบด้าน หากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว การซ่อมแซมหรือบูรณะอาคาร ฯลฯ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร
“กรณีของโรงแรมดุสิตธานี ถ้าตั้งอยู่บนพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดินกับผู้เช่าจะจัดการอย่างไร หากอยากขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต้องให้ทุกฝ่ายรับทราบและยินยอม โดยเริ่มจากทำการสำรวจและประเมินคุณค่าด้านต่างๆ เสียก่อน ตอนนี้คงไม่สามารถตัดสินอะไรได้” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวแนะนำ
ณ วินาทีนี้ หากใครผ่านโรงแรมดุสิตธานี ขอให้รีบยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปเซลฟี่คู่กับตึกสามเหลี่ยมนี้ไว้หลายๆ มุม เพราะอาจเป็นรูปประวัติศาสตร์เก็บไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง
การก่อสร้างตึกสวยงามแบบนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้วใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี แต่เวลาระเบิดตึกทิ้งคงใช้เวลาแค่ไม่ถึง 3–4 วัน !?!
ทีมข่าวรายงานพิเศษ