คอลัมนิสต์

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

13 มี.ค. 2560

เมื่อ กทม. เข้่ามาปรับโฉม "คลองโอ่งอ่าง" คลองดั้งเดิม หวังสร้างเป็นแลนด์มาร์คใหม่ ใช้หย่อนใจ เชื่อมรัตนโกสินทร์จากอดีตสู่ปัจจุบัน

กว่า 232 ปีที่ “คลองโอ่งอ่าง” เปลี่ยนแปลงก้าวย่างตามกาลเวลาแห่งวัฒนธรรม ผ่านร้อยพันเรื่องราวต่างยุคสมัย คลองโอ่งอ่างถูกใช้งานดั่งลำธารของแม่น้ำที่เปลี่ยนสีไปตามความต้องการวิถีผู้คน มาวันนี้ลมหายใจคลองโอ่งอ่างจากอดีต กำลังจะถูกพลิกฟื้นให้เปลี่ยนไปจากเดิม

 

“คลองโอ่งอ่าง” เป็นหนึ่งใน“คลองรอบกรุง” ที่เชื่อมต่อจากคลองบางลำพู บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ พื้นที่ปลายคลองมุ่งออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดบพิตรพิมุข เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ ตามประวัติแล้วคลองโอ่งอ่างถูกขุดขึ้นครั้งแรกปี พ.ศ.2328 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเพิ่มเติม 

 

เพื่อเป็นคลองคูที่อยู่ถัดจาก“คลองคูเมืองเดิม” อีกหนึ่งชั้น มีความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ทำหน้าที่เป็น“คลองรอบกรุง” ซึ่งในคลองรอบกรุงแต่จุดจะถูกเรียกต่างกัน ตั้งแต่บริเวณวัดสังเวชวิทยารามจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยในช่วงปากคลองมหานาคจะเรียกว่า “คลองบางลำพู” เมื่อผ่านสะพานหันเรียก “คลองสะพานหัน” ผ่านวัดเชิงเลนเรียก “คลองวัดเชิงเลน” และช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก “คลองโอ่งอ่าง” เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีนมาแต่ดั้งเดิม

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

 

 

เวลาผ่านไปหลายร้อยปีสภาพคลองโอ่งอ่างไม่ได้ถูกพัฒนา พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งขายเกมส์ชื่อดังของคนเมืองกรุงในยุคหนึ่ง รอบคลองโอ่งอ่างหรือตลาดสะพานเหล็ก ถูกปกคลุมด้วยเพลิงไม้เพลิงปูนที่ถูกต่อเติมจนหนาแน่นเต็มพื้นที่ ปิดบังแสงแดดไม่ให้เล็ดลอดลงมาถึงน้ำในคลองมานานหลายสิบปี จนเมื่อกรุงเทพมหานคร(กทม.) ภายใต้นโยบายจัดระเบียบเมือง ย่าน“คลองโอ่งอ่างสะพาน” จึงกลายเป็นพื้นที่ “นำร่อง” ฟื้นฟูรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ในฐานะโบราณสถานของชาติตั้งแต่พ.ศ.2519 ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

ในแผนแม่บทกทม.ได้เตรียมพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์คลองโอ่งอ่าง ปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็น “แลนด์มาร์คร่วมสมัย” ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางย้อนอดีตเมืองที่คุกรุ่นไปด้วยรากเหง้าแห่งวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่ริมคลองมีบ้านเรือนเก่าที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี กว่า 160 หลังคาเรือน มีสะพานตลอด 2 ฝั่งระยะทาง 1.5 กิโลเมตร โดยเฉพาะความเก่าแก่อาคารบ้านเรือนบางหลัง ทำการก่อสร้างมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา

 

เส้นทางที่จะถูกพัฒนาอยู่บนแนวคิดภายใต้คำว่า “Walking Street” หรือถนนคนเดิน จะชูเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นจุดขาย ไล่เรียงตั้งแต่ สะพานดำรงสถิต สะพานภานุพันธุ์ สะพานหัน สะพานบพิตรพิมุข ถึงสะพานโอสถานนท์ ซึ่งโครงการจะเริ่มเดินหน้าตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ โดยกทม.วางรูปแบบก่อสร้างแนวเขื่อน ระบบสาธารณูปโภค นำสายสาธารณูปโภคลงใต้ดิน ปรับปรุงทางเดิน ปรับภูมิทัศน์ ปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำ ปรับปรุงสภาพน้ำในคลอง และปรับปรุงกายภาพอาคารบ้านเรือนโดยรอบ ตลอดแนวระยะทางสองฝั่งรวม 1.5 กิโลเมตร ในงบประมาณ 325.4 ล้านบาท

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

 

อาคารบ้านเรือนริมคลองโอ่งอ่างขณะนี้ ถูกผสมผสานด้วยอาคารโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ และอาคารรูปแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะอาคารโบราณที่ชำรุดทรุดโทรม กทม.จะเข้าปรับปรุงรูปแบบอาคารให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงรูปแบบเก่า ส่วนอาคารที่ก่อนสร้างสมัยใหม่ ก็จะถูกปรับปรุงรูปแบบของโครงสร้างภายในนอก เพื่อยึดรูปแบบ“สถาปัตยกรรม” ให้ใกล้เคียงกันให้มากที่สุด โดยขณะนี้สำนักการระบายน้ำ กทม. อยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์เพื่อหาผู้รับจ้าง ซึ่งคาดว่าจะสามารถหาผู้รับจ้างได้ในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะใช้เวลาการก่อสร้าง 8 เดือน กำหนดโครงการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2560

 

เส้นทางสายประวัติศาสตร์โฉมให่แห่งนี้ เนื้องานจะถูกแบ่งเป็น 2 แผนหลัก 1.งานปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง จากสะพานดำรงสถิตถึงสะพานโอสถาถานนท์ 2.งานปรับปรุงสะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง 5 แห่ง เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเชื่อมโยงกับถนนสำคัญหลายเส้นทางตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ถนนหลวง ถนนบำรุงเมือง ถนนเยาวราช ยาวขนานไปกับถนนบริพัตร ถนนจักรเพชร ถนนมหาไชยเชื่อมต่อไปถึงถนนราชดำเนิน บริเวณที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ส่วนการเชื่อม “เส้นทางน้ำ” จะสามารถไปเส้นทางคลองมหานาค คลองแสนแสบ เชื่อมต่อไปถึงคลองผดุงกรุงเกษม และสามารถต่อไปยังเรือด่วนเจ้าพระยาได้ นอกจากนี้ในอนาคตจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้อีก 3 เส้นทาง ตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีม่วง

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

ตลอดเส้นทางสายใหม่จะเต็มไปด้วยผู้คนและร้านค้าที่รอคอยการมาเยือนของนักท่องเที่ยวต่างถิ่น เช่นเดียวกับเมืองเก่าฝั่งประเทศตะวันตก ที่ยึดแนวทางวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นเสน่ห์การท่องเที่ยวเฉพาะตัว ซึ่งที่ผ่านมาคลองโอ่งอ่างเคยทำหน้าที่รองรับประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทงมาแล้ว ทำให้กทม.เชื่อว่าพื้นที่สำคัญแห่งนี้จะมีศักยภาพเพียงพอที่จะปัดฝุ่นเป็นแหล่งท่องชื่อดังแห่งใหม่ได้

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

 

“ชัชวาลย์ เสียงสุทธิวงศ์” อายุ 34 ปี ประชาชนย่านเกาะรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการนี้ที่จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่การดำเนินการจะต้องยึดความร่วมสมัยมีทั้งสมัยเก่าสมัยใหม่ มีวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมและปัจจุบันมาผสมผสานกัน เพื่อคงเอกลักษณ์ให้มีความคล้ายกับพื้นที่ป้อมพระสุเมรุ ย่านท่าพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่พักผ่อนได้ด้วย ขณะเดียวกันอยากให้เหมือนพื้นที่ท่องเที่ยวเวนิซ อยากให้มีต้นไม้ต้นหญ้าให้สวยงาม อยากให้คลองน้ำใสดูสะอาดตา ไม่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ

 

“ฐิติวัชร์ นิยมรัตนกิจ” ครอบครัวทำธุรกิค้าขายย่านสะพานหัน อายุ 34 ปี ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไม่ทราบรายละเอียดของโครงการชัดเจนว่าจะมีการพัฒนาอย่างไร ซึ่งคาดว่าเรื่องผลกระทบกับวิถีประชาชนอยู่แล้ว แต่คนในพื้นที่กลับยังไม่ทราบความชัดเจนของโครงการว่าจะสร้างเมื่อใด แต่ในหลักการพัฒนาทุกคนคงเห็นด้วย เพราถ้าพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือจุดค้าขาย แต่ก็ต้องพิจารณาอีกว่าหากเป็นจุดค้าขายจะมีรูปแบบอย่างไร ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการนี้ ในฐานะผู้ค้าขายอาจจะไม่ได้สนใจ แต่เรื่องวิถีปกติคงได้รับผลกระทบ จึงต้องมีการหารือแนวทางการพัฒนาหลายๆด้านเพื่อหาข้อสรุป

 

ด้านเจ้าของร้าน“ไอคิวตี๋เล็ก”ไม่ขอเปิดเผยชื่อ อดีตผู้ค้าของเล่นย่านสะพานเหล็ก บอกว่า หากมีการปรับพื้นที่จริงถือเป็นเรื่องดี จะทำให้ในพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นการทำเพื่อส่วนรวม เพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ตัวเองอยู่ที่นี่มากกว่า20กว่าปีแล้ว แต่ก่อนในย่านคลองโอ่งอ่างถือว่าโทรมมาก มีการต่อเติมมาเรื่อยๆ ดูเหมือนเป็นสลัม พื้นที่ย่านนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นร้านขายอาหารร้านขายข้าวร้านขายของกิน จากนั้นริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมีการขายเกมส์และของเล่นกันมากขึ้น แต่จากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็เห็นด้วย เพราะจะได้มีคนมาเดินเล่นดีกว่าอยู่แบบเก่าที่อึดอัดมาก

 

ทั้งหมดเป็นความเป็นมาและความเป็นไป ต่อลมหายใจชีวิตคลองโอ่งอ่าง ที่จะถูกเปลี่ยนโฉมปรับปรุงไปถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของมรกดกทางวัฒนธรรม เปิดทางการมีส่วนร่วมให้ทุกคน เพื่อเป็นพื้นที่แห่งอนาคตในย่านกรุงเก่าอย่างแท้จริง

------

ธนัชพงศ์ คงสาย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คร่วมสมัย

----------