แกะรอย “บริษัทล้มละลาย” รับงาน. ปรับปรุงมัสยิด300ปีนราธิวาส
แกะรอย “บริษัทล้มละลาย” รับงาน ..... ปรับปรุงมัสยิด300ปีนราธิวาส-งบ149ล.
โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีตะโละมาเนาะ ต.ลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งรับผิดชอบโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาระยะหนึ่งแล้วว่าเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาคมในพื้นที่ โดยเฉพาะในขั้นตอนการคัดเลือกและจัดจ้างผู้รับเหมาเข้าทำโครงการ
ที่ผ่านมาชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แม้จะยืนยันไม่คัดค้านโครงการ เพราะมีดำริในการปรับปรุงพัฒนาแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี มาตั้งแต่เมื่อคราวที่คณะขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี เดินทางมาเยือนช่วงหลายปีก่อน แต่ชมรมอิหม่ามฯ ก็ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งอ้างว่าถูกกีดกันจาก ศอ.บต.
จากการตรวจสอบพบว่า โครงการนี้ตั้งงบประมาณเอาไว้รวมทั้งสิ้น 200 ล้านบาท เป็นงบผูกพันหลายปีงบประมาณ และได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างเอกชนเข้าดำเนินการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สิ้นสุดสัญญาปี 2562 งบประมาณเฉพาะในส่วนนี้ 149,830,000 บาท และเป็นการจัดจ้างวิธีพิเศษ
เอกชนผู้รับงานเป็น “กิจการร่วมค้า” ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ 2 ราย รายหนึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) อีกรายเป็นบริษัทจำกัด แต่ภายหลังทำสัญญาจ้างได้ไม่นานกลับมีข้อมูลว่า ผู้ประกอบการ 1 ใน 2 รายถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งหมายถึงถูกฟ้องล้มละลาย
“คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์” เสมือนเป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ (กิจการที่โดนสั่งพิทักษ์ทรัพย์) ตลอดจนบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้หมดอำนาจจัดการทรัพย์สินของตน โดยอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่มีปัญหาเป็นเพียง 1 ใน 2 รายที่ร่วมกันเป็น “กิจการร่วมค้า” จึงอาจไม่ส่งผลกับการทำงานตามสัญญาก็เป็นได้
เอกชนทั้ง 2 รายนี้ แจ้งที่ตั้งสำนักงานร่วมกัน อยู่ที่ถนนรังสิต-องครักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทำให้เกิดคำถามว่า มีความเชี่ยวชาญในงานที่รับจ้างหรือไม่ เพราะมัสยิด 300 ปี และแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ เป็นงานศิลปะที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตั้งบริษัท และหจก.ทั้งสองรายตามที่แจ้งข้อมูลทางเว็บไซต์ ปรากฏว่าสถานที่ตั้งเป็นเหมือนบ้านร้างจนไม่คิดว่าจะเป็นบริษัทหรือ หจก.ที่ประกอบกิจการอยู่
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวเดินเข้าไปภายใน พบหญิงคนหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าสำนักงาน เธอบอกว่าอาคารแห่งนี้เป็นสำนักงานของ หจก.(ที่มีชื่อเป็น 1 ใน 2 กิจการร่วมค้าที่รับงานโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี) แต่ไม่ทราบเรื่องที่อีกบริษัทหนึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และไม่ทราบเรื่องที่มีการรับงานโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ ทราบเพียงว่ามีพนักงานของบริษัทไปรับงานอยู่ในภาคใต้ ไม่ได้ใช้สำนักงานที่นี่ และบริษัทก็เคยมีผลงานก่อสร้างสนามกีฬาใน จ.นราธิวาส โดยเธอโชว์ภาพถ่ายให้ผู้สื่อข่าวดูด้วย
หญิงคนนี้บอกอีกว่า สำนักงานที่เธอดูแลเป็นสถานที่รับเอกสารและรับโทรศัพท์ ซึ่งมีบริษัทอื่นใช้สถานที่ร่วมอยู่ด้วย แต่เมื่อถามถึงเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกับบริษัทหรือ หจก.ที่รับงาน เธอบอกว่าไม่มีเบอร์ติดต่อ เพราะพนักงานย้ายออกไปหมดแล้ว และไปอยู่ที่หน้างานในภาคใต้
เป็นที่น่าสังเกตว่า หญิงคนนี้อ้างว่ามีหน้าที่เฝ้าสำนักงานและรับโทรศัพท์ แต่เบอร์โทรศัพท์ตามที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์ เมื่อโทรไปกลับไม่มีคนรับ และไม่สามารถใช้สายได้
นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ครม.ส่วนหน้า หรือผู้แทนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่บริษัทผู้รับจ้างงานจ้างเหมาปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี เป็นบริษัทที่ถูกฟ้องล้มละลาย แต่เป็นการถูกฟ้องหลังจากที่ทำสัญญากับ ศอ.บต.แล้ว โดยช่วงที่ทำสัญญาบริษัทยังไม่ถูกฟ้อง สัญญาจึงถูกต้องสมบูรณ์
จากการตรวจสอบต่อมาทราบว่าบริษัทได้ขายงานต่อให้เอกชนรายอื่น และได้เริ่มงานในพื้นที่ไปแล้ว 2 งวดงาน แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากชื่อบริษัทคนละชื่อกันกับที่ทำสัญญาเอาไว้ ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าต้องยกเลิกสัญญาหรือไม่ และหากยกเลิกสัญญาจะเยียวยาเอกชนรายใหม่ที่เริ่มงานไปแล้วอย่างไร เพราะไม่สามารถเบิกเงินงวดงานได้ ขณะนี้ฝ่ายอัยการกำลังพิจารณาข้อกฎหมายอยู่