“มนุษย์เงินเดือน” เมืองกรุง ชีวิตไม่ง่าย ต้องหารายได้เสริม
เมื่อเมืองกรุงไม่ง่าย ยิ่งกับมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ หากรายได้ไม่พอรายจ่ายพวกเขาจะทำอย่างไร
กรุงเทพมหานคร คงเรียกว่า เป็นเมืองในฝันของใครหลายต่อหลายคน แง่หนึ่งคงเพราะเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นการอยากเข้ามาเรียนต่อ เพราะมีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งรัฐเอกชน หรืออีกแง่หนึ่ง ก็อยากเข้ามาทำงาน ในเมืองศิวิไลซ์แห่งนี้ เพราะมีอัตราการจ้างงานจำนวนมากหรือมีงานรองรับจำนวนมาก แม่น้ำทุกสายจึงหลั่งไหลเข้ามายังเมืองหลวงแห่งนี้
แต่ต้องยอมรับว่า การเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองแห่งนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายต่อหลายคนวาดฝันไว้เช่นกัน “คมชัดลึกออนไลน์” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คนกลุ่มหนึ่งที่คงเป็นหนึ่งในจำนวนหลายต่อหลายคนที่ตัดสินใจเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้
“นนท์” หรือ “อานนท์ บัวภา” จบม.6 จากร.ร.ชลกันยานุกูล เลือกเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ เพราะต้องการจะเปิดโลกให้กับตัวเองและคิดว่าใน กรุงเทพฯ น่าจะได้เรียนรู้อะไรมากกว่าที่ต่างจังหวัด
พอเรียนจบป.ตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดของวุฒิป.ตรี
นนท์ เริ่มต้นทำงานได้ประมาณ 5-6 เดือน ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่พัฒนา Content บนSocial Media แผนกสื่อสารออนไลน์ ฝ่ายสื่อสารแบรนด์ กับเงินเดือน 15,000 บาท นนท์ คิดว่า เงินเดือนเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ แต่อาจจะใช้แบบประหยัดๆ เพราะว่าต้องดูแลครอบครัวที่ต่างจังหวัดด้วย เลยไม่ค่อยได้ใช้เงินเดือนในการแสวงหาความสุขให้ตัวเองเท่าไหร่
สาเหตุที่หลังจากที่เรียนจบแล้ว เลือกทำงานในกรุงเทพฯ ด้วยสายที่เรียนมาคือ นิเทศศาสตร์ โอกาสในการทำงานจะหาได้ง่ายกว่าต่างจังหวัด หากในอนาคตถ้าทำงานจนมีเงินเก็บเป็นก้อนโต ก็อาจจะกลับไปอยู่ที่บ้านก็ได้ แต่ตอนนี้ยัง
หากจะพูดถึง ชีวิตมนุษย์เงินเดือน “นนท์” มองว่า เราจะมีเงินเดือนตายตัวอยู่แล้วว่าจะได้เดือนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เราต้องวางแผนก็คือค่าใช้จ่าย เมื่อเงินเดือนออก ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายประจำออกไปก่อน เช่น ค่าหอ ค่าโทรศัพท์ ส่งทางบ้าน เป็นต้น แล้วเงินที่เหลือ ก็นำมาหารเฉลี่ยใน 1 เดือน ว่าเราสามารถใช้เงินได้วันละเท่าไหร่
ที่สำคัญการเลือกที่อยู่สำคัญ จำเป็นมาก เพราะหากเดินทางไกล นั่งรถหลายต่อ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก เลยเลือกที่จะทำงานที่มหาวิทยาลัยไปก่อน เพราะสะดวกต่อการเดินทาง ค่าใช้จ่ายไม่เยอะมาก ส่วนเดือนไหน เงินเดือนไม่พอจริงๆขัดสน ก็จะรับงานที่เป็นจ็อบพิเศษ ตามความถนัดของตนเอง เช่น ร้องเพลง พิธีกร ออกแบบ แต่ถ้าช่วงนั้นไม่มีใครจ้างงาน ก็อาจจะขายของ
สิ่งสำคัญต้องวางแผนค่าใช้จ่ายในแต่ละวันให้ดี เลือกที่ทำงานและที่พักให้เหมาะสมจริงๆการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ จะทำให้เราได้เรียนรู้โลกที่กว้างขึ้น ได้รับประสบการณ์ชีวิตอย่างดี แต่ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและมีสติ อย่าหลงใหลกับแสงสีจนเสียงานเสียการ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวก็มีมากพอสมควร คบคนรอบข้างดีๆ เวลามีปัญหาอะไร จะได้ช่วยเหลือกันได้
***หมายเหตุ ค่าหอ 4,000 บาท ค่ากินวันละ 200 บาทรวม 6,000 บาท ค่าเดินทาง เนื่องจากมีมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว ที่ทำงานห่างไม่ถึง 2 กิโลเมตร ค่าน้ำมัน 500 บาทเดือน ส่งทางบ้าน 3,000 บาท ที่เหลือเป็นเงินเก็บหรืออาจซื้อของใช้ส่วนตัวเพิ่มเติม
“เปิ้ล” จบม.ปลายร.ร.สุรนารีวิทยา โคราช เข้าต่อป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นความฝันว่า ตัวเราจะต้องมาเรียนที่นี้ให้ได้ จึงทำให้ชีวิตตนเองเข้ามาสู่เมืองกรุง
พอเรียนจบ ระหว่างที่รอรับปริญญา เธอเลยลองหางานที่กรุงเทพ ดูก่อน โชคดีได้เป็นลูกจ้างชั่วคราวสัญญาจ้างประมาณ 1 ปี ทำงานแถวอารีย์ ตอนนั้นเงินเดือนที่ได้ ประมาณ 12,000 บาทถือว่าเยอะ สำหรับเด็กที่เพิ่งจบใหม่ เพราะยังไม่มีภาระรายจ่ายอะไรเพิ่มขึ้นมาก ทำงานเงินเดือนออกปุ๊บ ก็ส่งเงินให้ที่บ้านเดือนละ 5,000 บาท ที่เหลือก็เก็บ เดือนละ 2,000 บาท ตอนนั้น โชคดีที่เพื่อนให้พักที่คอนโดด้วย เลยทำให้ประหยัดเรื่องที่พักไปด้วย
พอหมดสัญญาจ้างที่แรก ก็ทำให้มีงานใหม่ ต่อมา ทำมาเรื่อยๆมาจนถึง ที่ทำงานปัจจุบัน ได้เงินเดือน 22,000 บาท เธออยู่ในกรุงเทพยาวมาตลอดเคยคิดที่จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด และเคยกลับไปสมัครงานที่บ้านด้วย แต่สุดท้ายไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงาน ซึ่งบางที่ ให้เหตุผลว่าเราจบมาดีมหาลัยดีไป และเหตุผลหนึ่ง คือ แถวที่บ้านเป็นโรงงานเป็นส่วนใหญ่ พ่อกับแม่เห็นว่าในเมื่อที่ทำงานแถวบ้านไม่เรียกทำงาน ถ้ามีโอกาสที่กรุงเทพดีกว่า ก็ไปทำเถอะ เพราะ ถ้าทำงานแถวบ้าน ก็อาจจะมีสังคมที่เป็นอีกแบบหนึ่ง
ส่วนตัวเปิ้ล จะมีวิธีการบริหารจัดการเงินเดือนที่ได้มาคือ วิธีของตัวเราอาจจะเหมือนวิธีของหลายๆคน แต่เราทำแบบนี้มานาน ตั้งแต่เริ่มหาเงินเอง ตัวเองจะมีเป้าหมายว่า อันดับแรก ถ้าเงินเดือนออกมาปุ๊บจะเก็บก่อน โดยแบ่งเงินเก็บออกเป็น 4 บัญชี คือ บัญชีที่ 1. เงินเก็บที่ไม่แตะต้อง ไม่มีการนำเอาเงินส่วนนี้มาใช้ บัญชีที่ 2. เงินใช้จ่ายยามฉุกเฉิน บัญชี ที่ 3. เก็บเพื่อการท่องเที่ยว รางวัลให้ตัวเอง บัญชี 4. ส่งให้ที่บ้าน
อันดับสอง จดบัญชีรายรับรายจ่าย ทุกวัน จดทุกสิ่งที่ตัวเองใช้จ่ายออกไป เพื่อจะได้รู้ว่า แต่วันเงินหมดไปกับ สิ่งใดเยอะ เราจะได้ควบคุมได้ อันดับสาม ตัวเองจะแบ่งเงินที่จะใช้ในแต่วัน โดยแบ่งออกเป็น 30 กอง กองละ 150 บาท (รวมเดินทางแล้ว) เพราะถ้าวันไหน เหลือเป็น เหรียญ ก็เอาไปยอดกระปุกเพิ่ม
อันดับสี่ ตัวเองเป็นคนที่เริ่มเก็บแบงค์ 50 บาทมาเรื่อยๆ อันดับห้า บางส่วนนำเงินไปลงทุนเพิ่ม
หากเดือนไม่พอใช้ เราจะรู้จากการจดบัญชีรายรับรายจ่าย ก็จะเริ่มหางานพิเศษทำเพิ่ม เช่นการรับงาน อีเว้น ประสานงานนอกสถานที่ การขายของออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเพิ่มรายได้เข้ามาอีกกระเป๋าหนึ่ง ทำให้ การใช้ชีวิตในเมืองกรุงมีความสุขได้
เปิ้ล มีความฝันอยากเรียนปริญญาโท แต่ติดตรงเรื่องเงิน เพราะที่บ้านเราไม่ได้ส่งเสียในเรื่องค่าใช้จ่ายตรงนี้ ทำงานเก็บเงินสักพัก และถึงควรแก่เวลาที่จะเรียนต่อปริญญาโท เพราะ อยากเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเอง แต่พอจบแล้วหลายๆคน มักจะคิดว่าเรียนจบโทแล้ว เงินเดือนคงเพิ่มขึ้น คำพูดนี้ใช้ไม่ได้ กับตัวเราสักนิด เพราะ ก็ยังเงินเดือนเท่าเดิม เพิ่มเติม คือ ภาระหน้าที่ความรับผิดที่เยอะขึ้นต่างหาก
พอจบปริญญาโทมา ก็มีสมัครที่อื่นดูบ้าง แต่ก็ยังไม่มีที่ไหน เรียกสัมภาษณ์ ที่อยากเปลี่ยนงานอาจจะเป็นเพราะ อยากเปลี่ยนสายงานด้านอื่น อยากมีเงินเดือนที่สูงขึ้น เผื่อว่าจะให้ส่งให้ที่บ้านมากขึ้นกว่าเดิม ดูแลเค้าได้มากกว่าเดิม
เด็กสมัยนี้ที่จบใหม่ เพิ่งเริ่มต้นอาจจะเงินเดือนยังไม่มากเท่าไร กับการใช้ชีวิตในเมืองกรุงที่มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น เปิ้ลอยากจะแนะนำว่า ควรมีเงินออมฉุกเฉินสำรองไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนเพราะถึงแม้ว่าจะจบใหม่ เพิ่งจะเริ่มต้นทำงาน แต่เราก็สามารถมีเงินเก็บได้ “ถ้าตัวเรามีวินัย” ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ต้องมีสติ รู้ว่าอันไหนดี มีประโยชน์ อันไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นกับตัวเรา หรือสิ่งที่เราอยากได้ในแค่ความต้องการของเราเท่านั้น
** หมายเหตุ ค่าหอ 4200 ค่ากินเฉลี่ย 100 รวม 3000 ค่าเดินทาง 50 รวม 1500 ส่งกลับบ้าน 4000 เก็บ 4000
“ทอฟฟี่” จบสายอาชีวะ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาพระนครศรีอยุธยา ต่อป.ตรี ที่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.พระนครศรีอยุธยา พอเรียนจบเข้ามาทำงาน ในกทม. ในตำแหน่งเลขานุการผู้บริหาร ที่สถานีโทรทัศน์ ไอชาแนล เงินดือนครั้งแรก11,000 บาท ตอนนั้น ก็คิดว่าไม่เยอะ กับการใช้ชีวิตอยู่ใน กทม. เพราะค่าที่พัก ตกเดือนละ 3000 บาท แต่ก็คิดว่าลองหาประสบการณ์ดู เพราะที่บ้านยังไม่มีงานอะไรให้ทำ
พอทำอยู่ได้ 1 ปี เงินเดือนขึ้นเป็น 15,000 บาท เริ่มมีการปรับเปลียน โครสร้างบริษัท ได้เข้าสู่การเป็นพิธีกรรายการทีวี ทำให้รับงานได้มากขึ้น อยู่ได้มา 1 ปี งานพิธีกรรายการปิดตัวลง รายได้กลับมาเท่าเดิม ทำให้เรารู้สึกรายได้ไม่เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายในกรุงเทพฯ เลยตัดสินใจกลับไปทำงานที่บ้าน เป็น บริษัทผลิตปุ๋ย ทำหน้าที่ คุมสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งใหกับลูกค้า เงินดือน 9,000 บาท แต่ไม่ต้องเสียค่าเช่าห้อง เพราะอยู่กับบ้าน การเดินทางสะดวก เพียงห้านาที
สักระยะเริ่มรู้สึกเบื่อ ในขณะดียวกัน ทีวีดาวเทียมกำลังเปิดใหม่หลายช่อง จึงมาทำงานพิธีกร ประจำรายการ เงินเดือน 20,000 บาท จึงตัดสินใจเข้ากทม.อีกครั้ง
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็รับงานพิธีกรรายการทีวีมาตลอด รายได้ เฉลี่ยต่อเดือน 40,000บาท สูงสุดต่อเดือน 120,000 บาท ซึ่งเป็นช่วงที่ได้เก็บเงิน แต่ก็จะมีช่วงที่วิกฤต งานน้อยลง รายได้ก็น้อยลง แต่ก็จะมีรายการประจำที่เซ็นสัญญา จ้างประจำ เป็นรายปี ซึ่งก็จะทำให้มีเงินเดือนประจำเดือนละ 28,000 บาท
ซึ่งจริงแล้วอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือต้องอยู่อย่างประหยัด เพราะค่าใช้จ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงต้องหาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้จากงานประจำให้กับตนเอง จึงทำธุรกิจ wedding เพราะหากจะเพิ่งเงินเดือนประจำอย่างเดียวไม่สามารถอยู่ได้แน่นอน หรือไม่มีเงินเก็บสำรอง
ตอนนี้ทำงานมาทั้งหมด10 ปี เริ่มตัดสินใจเข้าเรียนป.โท เพราะต้องการต่อยอดการทำงานจากกระสบการณ์ไปเป็น อาจารย์ สอนในมหาวิทยาลัยที่บ้าน เพราะจะได้อยู่ดูแล พ่อแม่ และได้กลับบ้านเกิด และเป็นงานที่ใฝ่ฝัน จึงตัดสินใจเรียนต่อในระดับ ปริญญาโท
หลังจากจบมายังไม่ได้เป็นอาจารย์ แต่เข้าทำงานในบริษัทเอกชน โดยยื่นวุฒิปริญญาโท ซึ่งมีผลต่อเงินเดือนที่สูงขึ้น และคิดว่า จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในกทม. ที่ต้องมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทุกคนต้องมีการพัฒนาศักษยภาพ เพื่อได้ทำงานในบริษัทที่ดีๆ แน่นอนว่าวุฒิการศึกษาจึงจำเป็น แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าจะจบอะไร อยู่ที่ประสบการณ์และความคิดในการวางแผนชิวิต
ความจริงไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพ เพียงแต่นำความรู้ที่ตนเองมีอยู่ ไปปรับใช้กับชีวิตที่แท้จริงในบ้านเกิดของตนเองอย่างไรให้เกิดความมั่นคงยั่่งยืนได้มากกว่า การใช้ชีวิตในกทม.ที่อาจจะยากลำบาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูองค์ประกอบแวดล้อมของแต่ละบุคคลด้วย
** หมายเหตุ ค่าเช่าห้อง 6,000 ค่าส่งรถ 8,000 ค่าน้ำมัน 4,000 ค่าโทรศัพท์ 1,200 ค่าเสื้อผ้า 4,000 ใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด 2,000
นี่เป็นเพียงมุมเล็กๆ มุมหนึ่ง รูปแบบการใช้ชีวิตหรือมุมมองการใช้ชีวิต ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ที่ก็ต้องแสวงหา ฝ่าฝัน เผื่อทำตามความฝันของตัวเอง เพื่อที่จะอยู่รอดและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กับสังคมในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้นทุกวัน ด้วยมุมมองและวิธีที่แตกต่างกันออกไป ตามวิถีของแต่ละคน บนเมืองหลวง เมืองศิวิไลซ์แห่งนี้ ที่ชื่อว่า กรุงเทพมหานคร
--------