คอลัมนิสต์

7 คำถามร้อน!! กับ สเปคเรือดำน้ำจีน ที่ ทร.ต้องตอบ!!??

7 คำถามร้อน!! กับ สเปคเรือดำน้ำจีน ที่ ทร.ต้องตอบ!!??

04 เม.ย. 2560

เปิดสเปคเรือดำน้ำจีนที่กองทัพไทยกำลังได้เข้ามาประจำการสมไใจอยาก วิเคราะห์เจาะลึกพร้อม 7 คำถามเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่า

     ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ล่าสุดออกโรงตำหนิอดีตทหารที่ออกมาให้ข้อมูลเชิงลบทางสื่อสังคมออนไลน์ สะท้อนว่างานนี้กองทัพเรือมีโอกาสได้เรือดำน้ำเข้าประจำการสมใจอยากแน่

     เพราะนายกฯถือเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะสั่งระงับโครงการตามที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้อง ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง หนุนสุดตัวมาตั้งแต่ต้น

     ระยะหลังมีข้อมูลเชิงตั้งคำถามถึงคุณภาพและความคุ้มค่าของเรือดำน้ำจีนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กองทัพเรือนัดแถลงชี้แจงอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายนนี้ หลังจาก พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ นำคณะเดินทางไปตรวจความพร้อม และเอกสารสัญญาต่างๆ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 

    "ทีมข่าวคมชัดลึก" ตรวจสอบพบว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนที่จะจัดซื้อแบบ "รัฐต่อรัฐ" เป็นรุ่น Yuan Class S-26T โดยจะจัดซื้อทั้งโครงการจำนวน 3 ลำ ราคารวม 36,000 ล้านบาท เรือดำน้ำรุ่นนี้เป็นรุ่นพิเศษที่จีนต่อขึ้นสำหรับประเทศไทยเท่านั้น พัฒนาจาก Yuan Class S-26 ธรรมดา คาดว่ามีขนาดยาวถึง 72 เมตร กว้าง 8.4 เมตร ระวางขับน้ำขณะดำ 2,600 ตัน และใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า

    รายงานของคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือ กจด.ของกองทัพเรือ ได้สรุปคุณสมบัติของเรือดำน้ำจีนว่า มีความเหมาะสมทุกด้าน ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ คือการมีเรือดำน้ำเพื่อคุ้มครองเส้นทางการคมนาคมทางทะเล และถ่วงดุลอำนาจการรบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำเกือบทุกประเทศ ส่วนในแง่ยุทธวิธี เรือดำน้ำรุ่นนี้ก็มีความสามารถในการซ่อนพราง เพราะมีระบบ AIP หรือระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศ ดำน้ำได้นานถึง 21 วัน ขณะที่ระบบอาวุธก็คุ้มค่า สมราคา

     แต่ "ทีมข่าวฯ" ได้ข้อมูลอีกด้านจากผู้เชี่ยวชาญว่า ในแง่ยุทธศาสตร์ มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้เรือดำน้ำเพื่อคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล เพราะกองเรือพาณิชย์ในปัจจุบันล้วนเป็นกองเรือของชาติมหาอำนาจ ส่วนการถ่วงดุลอำนาจการรบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ สามารถจัดซื้อ "เรือปราบเรือดำน้ำ" ซึ่งเป็นเรือผิวน้ำ และมีราคาถูกกว่าได้ ซึ่งน่าจะถ่วงดุลอำนาจการรบได้ดีกว่า และจากข้อมูลของคนในกองทัพเรือเอง ระบุว่า งบประมาณ 36,000 ล้านบาท สามารถสั่งต่อเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำได้มากถึง 60 ลำ และในยามปกติก็สามารถใช้ประโยชน์ในภารกิจด้านอื่นได้อีกด้วย 

     ในแง่ยุทธวิธี เรื่องการซ่อนพราง มีคำถามว่าเรือดำน้ำชั้น S26T จะทำได้ดีแค่ไหน เพราะเป็นเรือขนาดใหญ่ ขณะที่กองทัพเรือเคยมีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำขนาดเล็กจากเยอรมนี 6 ลำเมื่อปี 2554 ใช้งบประมาณต่ำกว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ส่วนระบบ AIP จะมีประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะอ่าวไทยค่อนข้างตื้น และการใช้เรือดำน้ำจริงๆ แล้วต้องสื่อสารกับผิวน้ำเป็นระยะ การดำน้ำได้นาน 21 วันอาจไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
 
    ส่วนระบบอาวุธ เรือดำน้ำจีนให้ตอร์ปิโด ลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ แต่ประเทศอื่นที่เสนอราคาพร้อมกัน เสนอให้ตอร์ปิโดลูกจริง 8-16 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 2 ลำ
 
    ที่สำคัญเมื่อย้อนตรวจสอบเอกสารการเสนอราคา จะพบว่าระบบส่งกำลังบำรุงกับอะไหล่ของเรือดำน้ำจีน ไม่ได้ให้ฟรี แต่ต้องจ่ายเพิ่ม ขณะที่ของประเทศอื่นอีก 5 ประเทศที่เสนอราคาพร้อมกัน กลับเสนอให้ฟรี 

     ยิ่งไปกว่านั้น ข้อได้เปรียบที่สุดของเรือดำน้ำจีน คือ ซื้อ 2 แถม 1 หมายถึงจ่ายราคาเท่ากันแต่ได้ถึง 3 ลำนั้น ไม่ตรงกับโครงการที่กองทัพเรือเคยเสนอว่าต้องการเรือดำน้ำ 2 ลำ แต่เป็นเงื่อนไขที่จีนเพิ่มให้ภายหลัง จึงเกิดคำถามว่าเป็นธรรมกับผู้เสนอราคารายอื่นหรือไม่
 
     ทั้งหมดนี้คือคำถามที่เกิดขึ้นมาตลอดจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ซึ่งกองทัพเรือและรัฐบาลยังไม่เคยมีคำตอบ

    แต่ล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสารสเปคของเรือดำน้ำ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารจริงที่บริษัทผู้ผลิตของจีน เสนอโครงการให้กับกองทัพเรือเมื่อปี 2558 

    เอกสารดังกล่าวนี้นำมาสู่คำถาม 7 ข้อว่าสเปคเรือดำน้ำของจีน ด้อยกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นๆ ใช่หรือไม่ กล่าวคือ 

    1.ขนาดของตัวเรือ ตามสเปคระบุชัดว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ มีความลึกปลอดภัยขณะดำ อยู่ที่ 60 เมตร ซึ่งระดับความลึกนี้มากกว่าความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทยที่อยูํ่ในระดับ 50 เมตร ขณะที่เรือดำน้ำรุ่นอื่นที่มีการเสนอราคาเข้ามา สามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระที่ความลึก 40 เมตร 

    ที่สำคัญแม้จะกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการในพื้นที่นอกอ่าวไทย หรือทะเลอันดามันก็ตาม แต่หากเรือดำน้ำไม่สามารถดำในอ่าวไทยเพื่อเดินทางเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการได้ ก็จะส่งผลต่อการรักษาความลับ หรือศัพท์ทางยุทธวิธีก็คือ "การซ่อนพราง" ย่อมส่งผลให้ภารกิจหลักเสียหายในที่สุด

7 คำถามร้อน!! กับ สเปคเรือดำน้ำจีน ที่ ทร.ต้องตอบ!!??

    "ทีมข่าวฯ" ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมทรัพยากรธรณี พบว่า อ่าวไทยมีสภาพเป็นแอ่งกะทะ มีความลึกเฉลี่ย 44 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตรทางฝั่งขวาของอ่าว ส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่า และความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนบนเพียง 15 เมตรเท่านั้น 

     2.ความเร็วและระยะปฏิบัติการ ตามสเปคระบุคว่า เรือสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 18 นอต ได้เพียง 10 นาที สั้นกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นที่ทำความเร็วได้มากกว่า 20 นอต เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่ระยะปฏิบัติการของเรือ สเปคระบุไว้เพียว 8,000 ไมล์ แต่เรือดำน้ำแบบอื่นมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์

    3.ระบบ AIP หรือระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศ ซึ่งเรือดำน้ำจีนโฆษณาว่าดำน้ำได้ต่อเนื่องถึง 21 วันโดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ แต่ในสเปคระบุรายละเอียดว่า ระบบ AIP สามารถใช้งานลาดตระเวนได้เพียง 10 วันเท่านั้น ขณะที่เรือดำน้ำทั่วไปที่มีระบบ AIP ใช้งานได้มากกว่า 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน 

    4.อายุการใช้งาน ตามสเปคเรือดำน้ำจีนระบุว่ามีอายุการใช้งาน 25 ปี แต่เรือดำน้ำแบบอื่นมีอายุการใช้งาน 35 ปีขึ้นไป

    5.อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ตามสเปคระบุว่ามีอายุการใช้งานเพียง 200 รอบการชาร์จ ขณะที่แบตเตอรี่ของเรือดำน้ำแบบอื่น มีอายุการใช้งานมากกว่า 1,200 รอบการชาร์จ และการเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

    6.การหนีจากเรือดำน้ำ ด้วยชุดหนีภัยเรือดำน้ำ เพื่อให้กำลังพลประจำเรือหนีออกจากเรือได้หากมีปัญหาหรือถูกโจมตี ตามสเปคของเรือดำน้ำจีนระบุว่า สามารถทำการหนีได้ในระดับความลึกเพียง 100 เมตร แต่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำการหนีได้ในระดับความลึกมากกว่า 180 เมตร 

    7.ระบบอาวุธ นอกจากตอร์ปิโดลูกจริงเพียง 4 ลูกสำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำตามที่ทราบกันแล้ว ระบบอาวุธประจำเรือยังตรวจจับเป้าหมายได้ 64 เป้าหมาย แต่ติดตามการเคลื่อนที่ของเป้าหมายเหล่านั้นได้เพียง 4-6 เป้าหมาย และสามารถยิงอาวุธได้ไม่เกิน 2 ลูกพร้อมกัน ขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถตรวจจับและติดตามการเคลื่อนที่ของเป้าหมายได้มากกว่า 100 เป้าหมาย และสามารถยิงอาวุธได้มากกว่า 4 ลูกพร้อมกัน

    ทั้ง 7 ข้อคือคำถามเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่าที่กองทัพเรือในฐานะผู้จัดซื้อ และเตรียมผูกพันงบประมาณซึ่งมาจากภาษีประชาชนนานถึง 11 ปี ต้องตอบให้เคลียร์!