คอลัมนิสต์

 ไทยมี “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” กี่แห่ง?

 ไทยมี “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” กี่แห่ง?

11 เม.ย. 2560

    จากปัญหาความขัดแย้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไทยที่รัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าไทยเรามีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากี่แห่งแล้ว?

     ปลายเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีสั่งยุติความขัดแย้งกรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทำ “ผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หรืออีไอเอ และ “ผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” หรืออีเอชไอเอ มาใหม่ พร้อมจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

  แต่ฝ่ายต่อต้านการใช้พลังงานจากถ่านหินไม่ได้หยุดพักตามที่รัฐบาลสั่ง โดยเฉพาะ “กลุ่มกรีนพีซ” ร่วมกับเครือข่ายนักรณรงค์ลดโลกร้อนจาก 6 ทวีปทั่วโลก ออกแคมเปญ “โลกปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกเปลี่ยนนโยบายไปสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนสะอาดยั่งยืนและเป็นธรรมเน้นย้ำว่าอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นทั่วโลก เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย แนวประการังในทะเลใกล้ตาย ฯลฯ

    ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวกระตุ้นยิ่งไปกว่านั้น มลพิษถ่านหินเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์เสียชีวิตจากโรคทางระบบประสาท โรคทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดมะเร็งด้วย

 ไทยมี “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” กี่แห่ง?

    กลุ่มกรีนพีซ เปิดเผยผลสำรวจ “Boom and Bust 2017: Tracking The Global Coal Plant Pipeline” ระบุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างนั้น ลดลงร้อยละ 62 เฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่ได้รับอนุญาตในจีนลดลงถึงร้อยละ 85 มีการตัดงบประมาณในอินเดียและจีน ทำให้โครงการก่อนสร้างหยุดชะงักกว่า 100 โครงการ

    กลุ่มกรีนพีซยกตัวอย่างอ้างว่า “กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ” ที่สร้างมลพิษทำให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบหลายร้อยคน โดยเฉพาะเด็กๆ กลายเป็นผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากสูดดมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตั้งแต่อายุยังน้อย “เหตุการณ์ฝนกรด” เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ชาวบ้านฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยค่าเสียสุขภาพ หลายคนเสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคทางเดินหายใจ

    เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยมลพิษ โลหะหนัก สารปรอท สารหนู ออกมา ชาวบ้านหลายคนยืนยันว่าพวกเขาป่วยเพราะมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหินและไม่ใช่แค่ชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารพิษกระจายออกไปเป็นวงกว้างมากกว่า 20 กิโลเมตร และกำลังเรียกร้องให้ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) มารับผิดชอบ

     โรงไฟฟ้าถ่านหินมีเพียงที่แม่เมาะ?

     ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศไทยมีอย่างน้อย 10 แห่ง โดย 9 แห่งเป็นของเอกชนตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จำนวน 6 โรง ปราจีนบุรี 2 โรง อยุธยา 1 โรง และมีเพียง 1 โรงที่เป็นของ กฟผ. คือโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง 

 ไทยมี “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” กี่แห่ง?

    เฉพาะในพื้นที่ระยอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน “บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด” มีกำลังการผลิต 1,434 เมกะวัตต์ เจ้าของเป็นบริษัทร่วมทุนของเครือบริษัทบ้านปูกับกลุ่มเอ็กโก ตั้งอยู่ในพื้นที่ “เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด” เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้า เก็คโค่-วัน ขนาด 600 เมกะวัตต์

    เมื่อรวมกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินแค่ 2 แห่งในเขตมาบตาพุดก็ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ เกือบเท่ากำลังการผลิตที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะของ “กฟผ.” ที่ผลิตได้ 2,400 เมกะวัตต์

    โรงไฟฟ้าถ่านหินของเอกชนเหล่านี้ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2537 ที่ต้องการสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในกิจการไฟฟ้า

    ทั้งนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงผลกระทบของมลพิษถ่านหินที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านมากนัก การอนุมัติใบอนุญาตและการดำเนินการก่อสร้างจึงไม่ใช่เรื่องยาก

  แต่ในวันนี้หลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชนเหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษมากน้อยเพียงไร?

      ชุมชนมาบตาพุดเคยออกมาประท้วงต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นระยะๆ มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้ผลนักชุมชนที่อาศัยอยู่รอบข้างได้รับผลกระทบจากเถ้าฝุ่นละอองสกปรกจำนวนมหาศาลที่ปลิวลอยมาสู่บ้านเรือนและแปลงเกษตร การสะสมปนเปื้อนของโลหะหนักจากฝุ่นเถ้าพิษ โดยไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพียงไร แต่ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานพอที่จะไปเอาผิดเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

     “วิสุทธิ์ ทองย้อย” หนึ่งที่ทีมงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ให้ข้อมูลว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชนที่มาบตาพุดนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญให้ชาวบ้านภาคใต้เดินทางไปดูเพื่อเป็นอุทาหรณ์และช่วยให้จินตนาการเห็นภาพอนาคตของชุมชน

   “เราแนะนำชาวบ้านภาคใต้ไปพูดคุยกับชุมชนมาบตาพุดหลายครั้ง เพราะเขาจะเห็นเองกับตาว่า ตามต้นไม้ ใบไม้หรือบ้านเรือนมีฝุ่นขี้เถ้าหนาเกาะติดเต็มไปหมด ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่ายังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอะไรไม่ได้มากนัก เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ระยะยาว พอคนใต้ไปเห็นก็กลับมาพูดคุยกันว่า จะเอาไหมสิ่งแวดล้อมแบบนี้หลังจากมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน?” วิสุทธิ์ตั้งคำถาม

    คำถามนี้คงต้องรอคำตอบจากบทสรุป “เวทีรับฟังความคิดเห็นสถานการณ์พลังงานภาคใต้” ที่ คสช.กำลังจัดขึ้นมา เพื่อหวังคลี่คลายปัญหาและเป็นสื่อกลางสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ให้ประชาชนรับทราบ

     ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถวโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชนทั้ง 9 แห่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ. อีก 1 แห่ง คงอยากทราบและอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เหมือนกันว่า อนาคตของลูกหลานพวกเขาที่ต้องเติบโตไปพร้อมกับฝุ่นควันพิษจากการเผาไหม้ถ่านหินนั้น จะมีทางออกหรือไม่อย่างไร ?

 

                                                                                    ทีมข่าวรายงานพิเศษ