คอลัมนิสต์

ปริศนา“บิ๊กป้อม”กับสนามม้านางเลิ้งขุมทองของ“ขุนศึก”

ปริศนา“บิ๊กป้อม”กับสนามม้านางเลิ้งขุมทองของ“ขุนศึก”

12 เม.ย. 2560

หลายปีมานี้ พอย่างเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” 

ก็จะเปิดประตูต้อนรับคณะนายทหาร นักธุรกิจ เข้ารดน้ำขอพร “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ที่ขาดไม่ได้คือคณะกรรมการบริหารโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เนื่องจาก “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยขณะนั้น มีความสัมพันธ์อันดีกับป๋าเปรมมายาวนาน 

แต่ปีนี้ “บ้านอัมพวัน” มีประมุขคนใหม่คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สื่อมวลลชนก็เฝ้าติดตามว่า “บิ๊กป้อม” จะนำคณะกรรมการบริหารโอลิมปิกเข้ารดน้ำขอพร พล.อ.เปรม หรือไม่?

คำตอบคือ “พล.อ.ประวิตร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ได้ยื่นใบลาขอไปรักษาสุขภาพและพักผ่อนในต่างประเทศ มีรายงานว่าเดินทางไปตั้งแต่ 8 เมษายน และจะกลับมา 16 เมษายน

แสดงว่าหลังเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 เมษายน อีกสามวันถัดมา “บิ๊กป้อม” ก็บินลัดฟ้าไปเมืองนอกทันที

000 

พักหลังมีสื่อจับจ้อง “บิ๊กป้อม” ในบทบาท “คนกีฬา” มากขึ้น และรวมไปถึง “ปฏิวัติเงียบ” ยึดสนามม้านางเลิ้ง

คนในแวดวงอาชาอ่านข่าวแล้วก็ขำขำ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการกิตติมศักดิ์ และประธานอำนวยการแข่งขันม้า ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งแทน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ไม่ใช่คนหน้าใหม่ของสนามม้านางเลิ้ง

หากผู้ที่ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสนามม้านางเลิ้ง ก็จะทราบว่า พล.อ.วิชญ์ เป็นลูกไม้ใต้ต้น

เนื่องจาก “เสธ.ยศ” พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ และอดีตประธานคณะกรรมการอำนวยการสนามม้านางเลิ้ง เป็นบิดาของ พล.อ.วิชญ์ 

“เสธ.ยศ” คนนี้แหละที่เปิดโอกาสให้ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เพื่อนรักของ “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มาเป็นกรรมการแข่งม้า 

ปี 2545 “เสธ.อ้าย” ได้รับเลือกจากคณะกรรมการอำนวยการให้เป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์ และประธานอำนวยการแข่งขันม้า มีอำนาจคุมสนามม้านางเลิ้งเต็มตัว “เสธ.อ้าย” ก็ดึงตัว พล.อ.วิชญ์ ลูกชาย “เสธ.ยศ” มาเป็นกรรมการประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2559 พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นประธานในพิธีทำบุญครบรอบวันสถาปนา 100 ปี ราชตฤณมัยสมาคม และในวันนั้น พล.อ.วิชญ์ ได้อธิบายวัตถุประสงค์ในการปรับโฉมราชตฤณมัยสมาคม ซึ่งสนามม้านางเลิ้งไม่ใช่เฉพาะกีฬาม้าแข่ง แต่จะปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานของสนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ ทำให้ราชตฤณมัยสมาคม เป็นสถานที่สำหรับประชาชนทั่วไปที่สามารถเข้ามาใช้บริการได้

หลังจากจบงาน 100 ปี สนามม้านางเลิ้ง คณะกรรมการอำนวยการราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย มีมติเลือก “พล.อ.วิชญ์” เป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์ และประธานอำนวยการแข่งขันม้า จึงส่งผลให้ “เสธ.อ้าย” เหลือเพียงตำแหน่งรองประธานอำนวยการราชตฤณมัยสมาคม 

มติที่ประชุมวันนั้นยังแต่งตั้งให้ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เป็นกรรมการ “ผู้ควบคุมโต๊ด” อีกตำแหน่ง พร้อมทีมงานคนรุ่นใหม่เข้ามาดูแลในวันแข่งม้า 

จริงๆ แล้ว ในมุมของชาวอาชานั้น ต่างคาดหวังในตัวทีมงานคนหนุ่มของ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เปลี่ยนโฉมสนามม้านางเลิ้งโกอินเตอร์ ด้วยรูปลักษณ์ของสนามแข่งม้าระดับมาตรฐานสากล สภาพสนามม้า การแข่งม้าสง่างามมีเกียรติยศ เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน

ชาวอาชาไม่ได้มองถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ “บิ๊กน้อย” มากนัก

ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้คิดว่ามันคือการปฏิวัติเงียบภายในสนามม้านางเลิิ้ง หากแต่ความประสงค์ร่วมกันของกรรมการอำนวยการสนามม้านางเลิ้ง และแฟนอาชา ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมา “บิ๊กน้อย” มีภาพลักษณ์เป็น “ขวัญใจชาวอาชา” เต็มตัว ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมม้าแข่งไทย 

เหนืออื่นใด พล.อ.วิชญ์ ในฐานะนายกสมาคมม้าแข่งไทยได้เป็นผู้ริเริ่มในการร่างพ.ร.บ.กีฬาม้าแข่ง และเตรียมการจัดตั้งสมาคมกีฬาม้าแข่งแห่งประเทศไทย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 มีตัวแทนจากสนามม้าทั่วประเทศ เจ้าของฟาร์มม้า เจ้าของม้า เจ้าของคอกม้า เทรนเนอร์ จ๊อกกี้ และสื่อมวลชน เข้ามาร่วมเสวนาเรื่อง “เส้นทางม้าแข่งไทย” ที่ห้องสีวะรา ราชตฤณมัย โดยมี พล.อ.วิชญ์ เป็นแม่งาน

จากการรวมพลครั้งใหญ่ในวันนั้นจึงมีการก่อตั้ง “สมาคมม้าแข่งไทย” เพื่อที่จะร่วมกันสร้างกฎกติกาการแข่งขัน เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรม และปลดล็อกกติกาการแข่งกีฬาม้าแข่งที่ควบคุมโดยกระทรวงมหาดไทย

บุคคลที่เรียกระดมพล “คนม้าแข่ง” ได้มากมายเช่นนี้ต้องมีบารมีและเป็นคนมีอำนาจ หรือใกล้ชิดผู้มีอำนาจ

ฉะนั้น พล.อ.วิชญ์ หรือ “บิ๊กน้อย” ที่สวมหัวโขนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นน้องรักของ “บิ๊กป้อม” จึงเข้ามาแบกรับภารกิจนี้

จะว่าไปแล้วตำนานสนามม้านางเลิ้งแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์การเมือง-การทหารบ้านเรา ลองพิจารณาจากกรณีศึกษาการก่อเกิด “ราชกรีฑาสโมสร” และ “ราชตฤณมัยสมาคม” เพราะสนามแข่งม้าทั้งสองแห่งเป็นมรดกการพัฒนาสังคมไทยก้าวสู่ความเป็นตะวันตกของรัชกาลที่ 5

หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรป เมื่อ ร.ศ.116 (พ.ศ.2441) ทรงพระราชทานที่นา 200 ไร่ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระคลังข้างที่ โอนให้เป็นสมบัติของสนามแข่งม้าและสโมสรกีฬาแบบตะวันตกแห่งแรกในสยามประเทศ ภายใต้นาม “ราชกรีฑาสโมสร” หรือ “สปอร์ตคลับ”

ต่อมาสปอร์ตคลับไม่พอรองรับกับความต้องการของชนชั้นนำใหม่ จึงมีการขอพระราชทานที่ดินของหลวงที่บริเวณนางเลิ้ง จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างเป็นสโมสรกีฬาแห่งใหม่ในนาม “ราชตฤณมัยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อปี 2459

จึงเป็นที่มาของคำว่า “สนามฝรั่ง”(ราชกรีฑา) กับ “สนามไทย” (ราชตฤณมัย)

นับตั้งแต่ปี 2500 มีการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจไทย เห็นได้ชัดว่าที่ “สนามฝรั่ง” คือป้อมปราการของผู้ดีเก่า 

ส่วน “สนามไทย” ตกอยู่ในมือกลุ่มอำนาจในชนชั้นปกครอง อันหมายถึง “กลุ่มขุนศึก” ร่วมกับผู้ดีเก่าบางกลุ่ม

จากวัตถุประสงค์เดิมเพื่อการสมาคมสังสรรค์ กีฬาและเริงรมย์ ค่อยๆ มาสนามม้านางเลิ้ง แปรเปลี่ยนเป็นแหล่งการพนันถูกกฎหมาย และกลายเป็นหนึ่งในแหล่งทุนทางการเมืองระดับหนึ่ง

ก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุค 14 ตุลาคม 2516 มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนเข้ามาคุมสนามม้านางเลิ้ง เริ่มจากยุคของพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา, พล.อ.สุรสิทธิ์ จารุเศรณี และพล.อ.โชติ หิรัณยัษฐิติ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ประชาธิปไตยเบ่งบาน บุญวงศ์ อมาตยกุล ได้รับการสนับสนุนจากประทวน รมยานนท์ นักการเมืองพรรคชาติไทย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพรรคชาติไทย และพล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายทหารค่ายวงศ์เทวัญที่กุมกองทัพภาคที่ 1 สมัยโน้น

พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ (ยศขณะนั้น) เริ่มเข้าสู่ราชตฤณมัยสมาคม ในฐานะนายทหารคนสนิท พล.อ.ฉลาด จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ถนนสายเลือกตั้ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็แผ่บารมียึดสนามม้านางเลิ้งไว้เบ็ดเสร็จ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ “กบฏ 26 มีนา” พล.อ.ฉลาด และลูกน้องเผชิญวิบากในคุก สนามม้านางเลิ้งจึงตกอยู่ในการดูแลของ “เสธ.ยศ” (บิดาของ พล.อ.วิชญ์) 

ปี 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำเรื่องนิรโทษกรรมแก่ลูกน้อง พล.อ.ฉลาด หลังจากวันนั้น “เสธ.ยศ” ก็มอบให้ “เสธ.หนั่น” กับ “เสธ.อ้าย” เข้ามาดูแลสนามม้านางเลิ้ง

ปลายปี 2559 พล.อ.วิชญ์ ลูกชายคนโตของ “เสธ.ยศ” ได้ขยับเป็นเลขาฯ และประธานแข่งม้าของสนามม้านางเลิ้ง

ไม่ว่าจะบารมีพี่ชายที่รักอย่างบิ๊กป้อมหรือไม่? แต่ตำนานสนามนางเลิ้งต้องบันทึกไว้ว่าไม่เคยขาด “ขุนศึก” ขึ้นมาคุมอำนาจ และมีการส่งทอดกัน “รุ่นต่อรุ่น” 

 

เส้นทางเหล็ก “พล.อ.วิชญ์” 

พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2493 เป็นบุตรชายคนโตของ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และคุณหญิงเพลิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา

จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 11 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 22

รับราชการในเหล่าทหารราบได้รับตำแหน่งสำคัญ เช่นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41, ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11, รองแม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพน้อยที่ 1 และหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

เดือนเมษายน 2552 และได้รับเลื่อนยศเป็นพลเอก (พล.อ.) พร้อมกับรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน

ปี 2553 มีข่าวคราวว่าอาจจะได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่จะเกษียณในกลางปีเดียวกัน แต่แล้วท้ายที่สุดตำแหน่งนี้ก็ตกเป็นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างไรก็ตาม “บิ๊กป้อม” ปลอบใจให้ไปดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษากองทัพบก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553

อนึ่ง พล.อ.วิชญ์ เป็นหนึ่งในนายทหารที่ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 

เขาเป็นกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก