รัฐชี้เป้า “ระเบิดการเมือง” เชื่อมปี 50
เมื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลชี้เป้าไปที่ “ระเบิดการเมือง” ทำให้สุ้มเสียงที่เคยเชื่อมโยงว่าอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เบาลงไป
หลังเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าผ่านไป 1 วัน เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนจากรัฐบาลแล้วว่า ระเบิดเที่ยวนี้น่าจะเป็น “ระเบิดการเมือง”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แถลงภายหลังการประชุม ครม. ให้น้ำหนักเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยบอกว่าเหตุการณ์แบบนี้มีมาตั้งแต่ปี 2553 และยังพูดถึงข้อมูลเชิงสัญลักษณ์ ทั้งวันที่เกิดเหตุคือวันครบ 3 ปี คสช. (22 พ.ค.) และสถานที่เกิดเหตุที่เป็น “โรงพยาบาลทหาร”
ขณะที่ฝั่งตำรวจก็รับลูกว่องไวตามเคย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. บอกว่า ลักษณะการประกอบระเบิดเหมือนกับกลุ่มที่ก่อเหตุระเบิดก่อกวนทางการเมืองปี 2550 ที่หน้าห้างเมเจอร์รัชโยธิน หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) และซอยราชวิถี 26 ซึ่งครั้งนั้นยังไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด แต่พยานหลักฐานเกี่ยวกับระเบิด และวิธีการประกอบระเบิดคล้ายกันมาก
สำทับด้วย พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผกก.กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรืออีโอดีตำรวจ ที่อธิบายลึกลงไปอีกว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทั้งที่หน้ากองสลากเก่า โรงละครแห่งชาติ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พบวัตถุพยานเหมือนกัน คือ ท่อพีวีซี ไอซีไทเมอร์ (อุปกรณ์หน่วงเวลาระเบิด) ตัวบรรจุเชื้อปะทุ ตัวเก็บประจุ แบตเตอรี่ และสายไฟ นอกจากนั้นลักษณะวงจรระเบิดเหมือนกันทั้ง 3 จุด ลักษณะการประกอบเหมือนกันหมด เป็นระเบิดแสวงเครื่อง จุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา แต่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าใส่ตะปูเข้าไปด้วย ซึ่งในปี 2550 ที่เกิดเหตุ 3 จุดก็พบการจุดระเบิดด้วยไอซีไทเมอร์ เหมือนกัน เชื่อได้ว่ามีความเชื่อมโยงกัน
บทสรุปเบื้องต้นที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ เหตุระเบิดที่ “ห้องวงษ์สุวรรณ” โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เหมือนกับเหตุระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม และระเบิดที่หน้าอาคารกองสลากเก่า ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 เมษายน โดยทั้งหมดยังคล้ายคลึงกับระเบิดป่วนเมืองอีกหลายครั้งในปี 2550
ข้อมูลจากเอกสารรายงานของฝ่ายความมั่นคง แยกแยะความเหมือนกันและความต่างของระเบิดในกรุงเทพฯ 3 ครั้งล่าสุดเอาไว้แบบนี้...
จุดที่เหมือนกันมีทั้งหมด 7 จุด
1.ภาชนะบรรจุวัตถุระเบิดเหมือนกัน คือใช้ท่อพีวีซี (สีฟ้า)
2.แบตเตอรี่ที่ใช้ มียี่ห้อและรูปแบบเดียวกัน คือ ถ่านแบบก้อนกลม เหมือนที่ใส่ในนาฬิกาหรือเครื่องเล่นเกม
3.มีเซฟตี้ สวิทช์ เหมือนกัน
4.ใช้ไอซีไทเมอร์ หรืออุปกรณ์หน่วงเวลาระเบิดแบบ 16 ขาเหมือนกัน
5.ใช้ตัวเก็บประจุแบบเดียวกัน
6.ใช้สายไฟลักษณะเดียวกัน และมีการเชื่อมแบตเตอรี่เหมือนกัน
7.แผ่นปรินท์วงจร และ socket IC เหมือนกัน
จุดต่างมีเพียงจุดเดียว คือ ระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ และกองสลากเก่า ไม่มีสะเก็ด ส่วนระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใช้ตะปูยาวตัดหัวเป็นสะเก็ดระเบิด
นี่คือเหตุระเบิด 3 ครั้งล่าสุดในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งชัดเจนว่าอุปกรณ์ระเบิดเป็นชุดเดียวกัน น่าจะประกอบจากคนกลุ่มเดียวกัน และน่าจะประกอบเอาไว้หลายลูก
ส่วนความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดในอดีตนั้น เท่าที่ อีโอดี ตรวจสอบพบและยืนยันว่าวัตถุพยานใกล้เคียงกันมากมี 4 เหตุการณ์ ประกอบด้วย เหตุระเบิดที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าโรงภาพยนต์เมเจอร์รัชโยธิน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 เหตุระเบิดตู้โทรศัพท์สาธารณะปากซอยราชวิถี 24 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 เหตุระเบิดข้างตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2550 และเหตุระเบิดในรั้วศาลฎีกา เขตพระนคร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553
ข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็คือ สามเหตุการณ์แรกเกิดในเวลากลางคืน ขณะที่เหตุการณ์ที่ 4 (ศาลฎีกา) เกิดในเวลากลางวัน วัตถุระเบิดทั้งหมดใช้วิธีบัดกรีในการประกอบเชื่อมต่อแบตเตอรี่กับแผงวงจร
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลชี้เป้าไปที่ “ระเบิดการเมือง” ทำให้สุ้มเสียงที่เคยเชื่อมโยงว่าอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เบาลงไป ทั้งๆ ที่ข้อมูลการข่าวที่รายงานกันในยุคนั้น ระบุชัดว่าอาจมีการว่าจ้างกลุ่มคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาก่อเหตุ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งประกอบระเบิดเอง วางเอง หรือมีทีมจัดหาอุปกรณ์ให้ประกอบ แล้วนำไปวาง
และที่ต้องไม่ลืมก็คือ เหตุระเบิด 7 จุดเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 31 ธันวาคม 2549 หลังการรัฐประหารโดยคณะของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ไม่นาน เหตุระเบิดในครั้งนั้นก็เป็นระเบิดแสวงเครื่อง และมีข่าวเชื่อมโยงถึงคนจากชายแดนใต้ในลักษณะ “ว่าจ้าง” หรือ “ยืมมือ” เช่นกัน
ฉะนั้นความคล้ายคลึงกันของ “วัตถุพยาน” ยังอาจไม่เพียงพอที่จะฟันธงว่าเสียงตูมตามในระยะนี้เกิดจากเรื่องใดกันแน่ หรือเป็นฝีมือของกลุ่มใด แต่การวิเคราะห์และรวบรวมหลักฐานอย่างมืออาชีพ รวมทั้งการผสานข้อมูลกันอย่างบูรณาการ ทั้งหน่วยงานความมั่นคงในส่วนกลางและชายแดนใต้ น่าจะทำให้การประเมินสถานการณ์แม่นยำมากขึ้น
และสุดท้ายเสียงระเบิดจะได้ไม่หายไปกับสายลมเหมือนเคย เพราะทุกกรณีไม่เคยจับมือใครดมได้ หากเริ่มจากเหตุระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่หลายฝ่ายยืนยันว่าเลวร้ายเกินรับได้ แล้วไล่ตรวจสอบย้อนหลังกลับไป อาจเป็นคุณูปการสูงสุดที่ คสช.ทำให้กับบ้านเมือง