คอลัมนิสต์

ทำใจ...ปีนี้ไม่มีเลือกตั้ง !!

ทำใจ...ปีนี้ไม่มีเลือกตั้ง !!

01 ม.ค. 2561

ทำใจ...ปีนี้ไม่มีเลือกตั้ง !!

 

           ปีนี้เป็นปีที่คาดหวังกันว่าช่วงปลายปีจะมีการเลือกตั้ง

           ความหวังนี้ไม่ใช่จู่ๆ ผู้คนก็หวังลมๆ แล้งๆ ขึ้นมา แต่เป็นความหวังที่เกิดจากการประกาศของ “ผู้นำประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีตำแหน่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

           ความจริงดูเหมือน “บิ๊กตู่” ก็ไม่อยากประกาศความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งเท่าไรนัก เห็นจากที่ผ่านมามักเลือกที่จะพูดกว้างๆ เกี่ยวกับวันเลือกตั้งมาตลอด...ไม่ต้องถาม ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พ...ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยก็เลือกตั้งได้...ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์

           จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ “บิ๊กตู่” ไปสหรัฐอเมริกา และให้สัญญากับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561

           ตอนแรก คนฝั่ง คสช.ยังมีการ “เล่นลิ้น” ด้วยว่า ที่บอกไปนั้นเป็นเพียงแค่สัญญาว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้า ไม่ได้หมายความถึงวันเลือกตั้ง จนกระทั่งมีการเปิดเผยเอกสารสัญญาที่มีการไปทำกับทางการสหรัฐอเมริกาออกมา “บิ๊กตู่” จึงออกมาประกาศ

           อย่างไรก็ตาม แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ แต่ก็ต้องย้ำว่า นั่นเป็นกรอบเวลาตามโรดแม็พเท่านั้น ซึ่งโรดแม็พในที่นี้หมายถึง กรอบเวลาที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในการทำกฎหมายลูกต่างๆ และกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้ง

           หากมองเฉพาะล็อกใหญ่ๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” ต้องทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จภายในกรอบเวลา 240 วัน จากนั้นสู่ขั้นตอนของ สนช. ซึ่งมีเวลา 60 วัน และเมื่อกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับเสร็จเรียบร้อย ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

           การกำหนดว่าจะให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน ก็เป็นตามกรอบระยะเวลา “ปกติ” ของโรดแม็พข้างต้น

           ต้องย้ำว่า “กรอบระยะเวลาปกติ” เพราะระยะเวลาเลือกตั้งอาจขยับออกไปจากปลายปีนี้ได้ หากเกิดเหตุ “ไม่ปกติ”

           ถามว่ามีเหตุ “ไม่ปกติ” ใดบ้าง ที่จะทำให้วันเลือกตั้งเลื่อนออกไป ก็ต้องบอกว่า ตอนนี้มีอยู่ 2 ปัจจัยใหญ่ๆ ซึ่งก็ต้องย้ำว่า เป็นเรื่องของข้อกฎหมายล้วนๆ

           ปัจจัยแรก ดูจากสถานการณ์ล่าสุด หลังจากมีการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง และการดำเนินการต่างๆ ของพรรคการเมือง มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในเนื้อคำสั่งนั้นเปิดทางให้มีการ “รีเซตโรดแม็พเลือกตั้ง” กันใหม่

           ทั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งข้อ 8 ที่กำหนดว่าหลังกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ ให้ ครม.เสนอ คสช.ให้มีการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของ คสช. รวมไปถึงเสนอให้มีการแก้ไขกฎกติกาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง และที่สำคัญเปิดช่องให้มีการเชิญฝ่ายต่างๆ มาหารือและร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

           มี 2 จุดที่น่าสนใจคือ การแก้ไขกฎกติกาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง จุดนี้มองกันว่า ถ้าถึงตอนนั้นคงมีพรรคการเมืองออกมาโวยว่ากติกาที่มีอยู่ จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการบางอย่างได้ทัน หากยังจะคงกติกาไว้ก็ต้องขยับระยะเวลาในการเลือกตั้งออกไป หรือไม่ก็ต้องแก้ไขกติกากันใหม่

           อีกจุดคือ การเชิญฝ่ายต่างๆ มาหารือกัน ฝ่ายต่างๆ ในที่นี้ คือ กรธ. ประธาน สนช. กกต. และฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ

           มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นการเรียกฝ่ายต่างๆ มาเจรจาทำข้อตกลงร่วมกัน หรือทำสัญญาประชาคม เพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ในชาติอีกครั้ง

           อาจเป็นสัญญาประชาคม เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรืออาจจะรวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

           ถ้าตกลงกันได้ก็เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ส่วนจะขยับเวลาเลือกตั้งออกไปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกัน

           ถ้าถามว่า รัฐธรรมนูญล็อกเอาไว้แล้วนี่ว่า ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายลูกเสร็จ ก็ต้องบอกว่า ไม่เป็นไร ทุกอย่างแก้ไขได้ หาก “ทุกฝ่าย” โดยการอำนวยการของ คสช.เห็นร่วมกันรัฐธรรมนูญก็แก้ไขได้นี่คือ ปัจจัยแรก

           ปัจจัยที่สอง คือ เรื่องกฎหมายลูก ซึ่งในคำสั่งตามมาตรา 44 ล่าสุด ย้ำอยู่หลายที่เกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. และในคำสั่งมีหลายเรื่องที่ผูกไว้ว่าให้ดำเนินการได้หลังประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้

           มีคำถามเล่นๆ ว่า ถ้า สนช.เกิดไม่เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาจะทำอย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกรณีนี้ไว้ เขียนไว้เฉพาะกรณีที่ กรธ. หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างกฎหมายของ สนช. ก็ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณา

           แต่ถ้า สนช.ไม่เห็นด้วย ไม่มีข้อกำหนด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่

           จึงมีการวิเคราะห์กันว่า นี่เป็นอีกจุด ที่ “มือกฎหมาย” ของ คสช.วางกับดักไว้หรือไม่

           ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการวางกับดักลักษณะนี้ เพื่อเป็น “จุดแวะพักข้างทาง” ของโรดแม็พไปสู่การเลือกตั้ง

ที่อธิบายมาทั้งหมด คือปัจจัยที่จะอาจจะทำให้ไม่มีเลือกตั้งปลายปีนี้ โดยที่ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เพราะหากติดขัดตรงไหน คสช.ก็สามารถปรับแก้ไขได้ตลอดเวลา

           เมื่อวานวันสุดท้ายของปี 2560 “บิ๊กตู่” ก็ออกมาย้ำอีกครั้ง “ถ้ายังมีความขัดแย้งก็ไม่รู้จะมีการเลือกตั้งได้หรือไม่...ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้ง ก็ขอให้มีความสงบสุขเรียบร้อย” 

           รีบบอกตั้งแต่วันนี้ จะได้เตรียมทำใจกันไว้ตั้งแต่ต้นปี !!

--------------------

เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์