ยังไง?? "ไอพ่น" ป้ายแดงสัญชาติเกาหลี บินไม่ถึงไทย !!
เมื่อเครื่อง T50-TH ไอพ่นเครื่องใหม่ป้ายแดงสัญชาติเกาหลี บินไม่ถึงไทย เพราะประสบเหตุจนต้องเปลี่ยนเครื่อง เกิดอะไรขึ้น และสาเหตุเพราะอะไร มาดูกัน
หลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์ กองทัพอากาศไทยจะได้รับเครื่องบินขับไล่ชั้นต้นแบบ T-50TH จากบริษัทอุตสาหกรรมอากาศยานเกาหลี หรือ KAI (Korea Aerospace Industries) ตามที่รับปากไว้ หลังประสบปัญหานักบินนำเครื่องฝ่าสภาพอากาศที่รุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายบริเวณเครื่องยนต์ใบพัดก่อนจะถึงมือกองทัพอากาศไทย
ทั้งนี้กองทัพอากาศมีโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ชั้นต้นแบบ T-50TH จากประเทศเกาหลี เพื่อทดแทนเครื่องบินฝึกรุ่น L-39 ที่ใช้มา 23 ปี กว่า 30 ลำ ซึ่งใกล้หมดสภาพ และไม่คุ้มค่าในการซ่อมบำรุง จำนวน 3 ระยะโดยระยะที่หนึ่งจำนวน 4 ลำ มูลค่า 110 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2558 โดยมี พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการกองทัพอากาศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ในฐานะประธานกรรมธิการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ชั้นต้นของกองทัพอากาศ เป็นผู้แทนของกองทัพอากาศ ลงนามการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ชั้นต้นแบบ T-50TH จากเกาหลีด้วยตัวเอง และมีกำหนดรับมอบประมาณเดือนมกราคม 2561 จำนวน 2 ลำ และ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม อีกจำนวน 2 ลำ
ส่วนระยะที่สอง อีกจำนวน 8 ลำ ครม.อนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2560-2563 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ส่วนระยะที่ 3 อีกจำนวน 4 ลำ เป็นเรื่องในอนาคต ครม.อนุมัติในหลักการ
ทั้งนี้การจัดส่ง T-50TH ในระยะแรกจำนวน 2 ลำ โดยนักบินเกาหลี 4 คนได้นำเครื่องเดินทางจากประเทศเกาหลีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ในระยะทาง 6,650 กิโลเมตร เพื่อมาส่งมอบให้กองทัพอากาศไทย ในวันที่ 11 มกราคม 61 ที่กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสรรค์ โดยมี พล.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีต้อนรับ
โดยระหว่างทางนักบินได้หยุดพักเครื่องที่สนามบินไต้หวัน ก่อนจะเดินทางต่อมาหยุดพักที่สนามบินคลาร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนจะบินต่อและพักเครื่องอีกครั้งที่สนามบินลาบวน ประเทศมาเลเซีย จากนั้นก็บินต่อไปยังสนามบินกวนตัน ประเทศมาเลเซีย
ซึ่งระหว่างทางได้เจอสภาพอากาศที่รุนแรงจึงแวะลงจอดสนามบินกวนตัน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 โดยนักบินได้แจ้งไปยังบริษัท KAI ให้แจ้งกับกองทัพอากาศไทยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอตรวจสอบเครื่องให้ละเอียด โดยจะส่งมอบเครื่อง T-50TH ล่าช้าไป 1 วัน และขอส่งมอบให้วันที่ 12 มกราคม แทน
แต่จากการตรวจสอบพบว่า T-50TH เกิดความเสียหายบริเวณเครื่องยนต์ใบพัด นักบินจึงติดต่อไปยังบริษัท KAI ให้ส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคและอะไหล่ (spare part) หรือชิ้นส่วนสำรอง มาเตรียมพร้อมไว้ และหากพบมีความเสียหายมากจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้ เนื่องจากเครื่อง T-50TH ยังอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท KAI พร้อมทั้งขอเวลา 2 สัปดาห์ในการซ่อมเครื่องให้อยู่ในสภาพเดิม ก่อนจะส่งมอบให้กองทัพอากาศไทย
“ทางบริษัทเกาหลีได้ติดต่อมายังกองทัพอากาศไทยและแจ้งว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากสภาพอากาศรุนแรง นักบินตัดสินใจบินฝ่าเข้าไปในพายุทำให้เครื่องเกิดความเสียหาย และบริษัทเกาหลียืนยันจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ T-50TH ใหม่ ให้อยู่ในสภาพเดิมก่อนจะส่งมอบให้กองทัพอากาศไทยต่อไป” พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวยืนยัน
สำหรับขั้นตอนและกระบวนการจัดซื้อ T-50TH ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการด้านต่างๆ ที่กองทัพอากาศจัดตั้งขึ้นมา ตั้งแต่คณะกรรมการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำขอบเขตความต้องการของโครงการ, คณะกรรมการจัดทำรายละเอียดความต้องการ (Detail of Requirement) โดยนำเอา SOPR มาพิจารณา ระบุรายละเอียด คุณลักษณะ ขีดความสามารถ ความต้องการด้านต่างๆ, คณะกรรมการพิจารณาราคากลาง, คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ดำเนินกรรมวิธีจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อตรวจสอบการเสนอราคา โดยมีเอกสารหลักฐานถูกต้อง เชื่อถือได้ เงื่อนไขและรายละเอียดพัสดุเป็นไปตามความต้องการของทางราชการ มีราคาที่สมเหตุผล สามารถยอมรับได้ จึงสรุปผลการจัดซื้อถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้คณะกรรมการด้านต่างๆ ของกองทัพอากาศ เห็นพ้องว่า T-50TH มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นที่มีสมรรถนะสูงเพียงพอที่จะพัฒนาการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นให้สามารถปฏิบัติภารกิจกับเครื่องบินขับไล่/โจมตีสมรรถนะสูงของกองทัพอากาศที่มีใช้งานในปัจจุบันมีขีดความสามารถในการติดตั้งใช้งานอาวุธได้หลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ T-50TH ติดตั้งเครื่องยนต์ชนิดเดียวกับเครื่องบิน กริพเพน สามารถใช้งานอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นและเครื่องมือร่วมกับเครื่องบิน F-16 ได้ถึงร้อยละ 70 ส่งผลให้การดูแลรักษา ซ่อมบำรุงง่าย ไม่ต้องลงทุนจัดซื้อเครื่องมือใหม่ทั้งหมด รวมทั้งติดตั้งระบบเรดาร์ที่ทันสมัยและสามารถตรวจจับเป้าหมายได้
อีกทั้งยังมีระบบฝึกการบินทางยุทธวิธี ติดตั้งทั้งเครื่องบิน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นระบบ ETTS นี้จะช่วยการฝึกนักบินให้มีความสมจริงเหมือนการรบ (Train-As-You-Fight) โดยจำลองขีดความสามารถการใช้อาวุธของเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงและสร้างสภาพแวดล้อมต่างๆ ในการปฏิบัติภารกิจให้สมจริง สามารถจำลองระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) จำลองการใช้อาวุธต่อเป้าหมายทั้งแบบอากาศ-อากาศ, อากาศ-พื้น, อาวุธนำวิถีแบบระยะไกลเกินสายตา และจำลองการทิ้งระเบิดแบบต่างๆ
รวมทั้งแสดงผลความแม่นยำในการใช้อาวุธ ทำให้สามารถวัดผลการฝึกนักบินได้เป็นอย่างดี สามารถจำลองเป้าหมาย และภัยคุกคาม (Threat) เพื่อให้นักบินสามารถวางแผนดำเนินกลยุทธ์ หรือยุทธวิธีต่อเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นมีประสิทธิภาพสูง นักบินมีความคุ้นเคยต่อประสิทธิภาพและการใช้อาวุธของเครื่องบินขับไล่ชั้นแนวหน้าของกองทัพอากาศได้เป็นอย่างดี ทำให้การฝึกบินเปลี่ยนแบบจากเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นไปสู่เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง ให้มีความพร้อมรบได้ในระยะเวลาสั้นลง ส่งผลต่อความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจและประหยัดงบประมาณของประเทศ
“การส่งมอบเครื่องบินปกติจะมีเครื่องพี่เลี้ยงมาคอยดูแล โดยเครื่องพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่ในการตัดสินใจนำเครื่องขึ้นบินและลงจอด แต่การจัดส่งของบริษัทเกาหลีครั้งนี้มีเพียงนักบินประจำเครื่อง 4 คนเท่านั้น ซึ่งเขามั่นใจว่าเครื่อง T-50TH ของเขามีศักยภาพที่ดีและการบินจากเกาหลีมากองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ประเทศไทย มีระยะทางประมาณ 6,000 กิโลเมตร ถือว่าไม่ไกลมากนัก จึงไม่ได้จัดส่งเครื่องพี่เลี้ยงมาคอยดูแล ซึ่งทางเกาหลีอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย” แหล่งข่าวกองทัพอากาศกล่าว
ทั้งนี้ภายหลังจากที่เกาหลีเปลี่ยนเครื่องยนต์เครื่อง T-50TH นำมาส่งให้กองทัพอากาศไทยและผ่านพิธีต้อนรับเรียบร้อยแล้ว ทางกองทัพอากาศจะจัดคณะกรรมการตรวจรับ ตรวจสอบเครื่อง T-50 TH ให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมีความสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง ก่อนจะทำพิธีบรรจุเข้าประจำการต่อไป
-----------