ส่องลึก!! "คนอยากเลือกตั้ง” ที่แท้ก็ “คนเสื้อแดง”
พูดกันตรงไปตรงมา กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มาชุมนุมกัน มีคนหนุ่มสาวนับหัวได้ และกว่าร้อยละ 90 คือ ผู้อาวุโส โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง แต่ที่แน่ๆ คนเสื้อแดงมาเพียบ!
หลังการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดมีรายการดราม่าในหมู่คนเสื้อแดงว่า ทำไมสื่อไทยไม่นำเสนอข่าว? มีคนมารวมพลังไล่ คสช.ตั้งมากมาย
จะว่าไปแล้ว สื่อทีวีค่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ต่างไลฟ์สดบรรยากาศการชุมนุมผ่านเฟซบุ๊ค ตัั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยัน สน.ปทุมวัน มินับแฟนเพจเสื้อแดงที่แชร์กันมากมาย
ล่าสุด ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มคนอยากเลือกตั้งให้นักการเมืองร่วมต่อสู้นั้น เป็นเรื่องเข้าใจได้ และคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่เห็นว่าในสถานการณ์นี้ด้านที่แข็งแรงที่สุดในการขับเคลื่อนคือ พลังของคนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษาเชื่อมั่นในวิจารณญาณของส่วนต่างๆ ว่าจะจัดวางบทบาทให้สอดคล้องได้
สำหรับ นปช. “ณัฐวุฒิ” บอก ไม่กลัวตกขบวน พร้อมเป็นแนวร่วมกับทุกฝ่ายที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ไม่มีแนวคิดผูกขาดการนำ วันหนึ่งเราอาจเดินอยู่แถวหน้า แต่ในบางวันเราก็พร้อมร่วมไปในขบวนจนกว่าจะถึงเส้นชัย
นักวิเคราะห์การเมืองที่คร่ำหวอดในยุทธนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน มองชั้นเดียวเชิงเดียว ฟันธงงานนี้ นปช.ขอเป็น “กองหนุน” คอยเติมคนให้กลุ่ม “โรม-จ่านิว”
แผ่นพับแผ่นป้ายที่แจกกันในวันนั้น ก็รู้ว่า ฝีมือไม่ธรรมดา มีการวางแผนวางเกมมาจาก “เสนาธิการ” หน้าเก่าเจ้าประจำ
พูดกันตรงไปตรงมา กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มาชุมนุมกันในวันนั้น มีคนหนุ่มสาวนับหัวได้ และกว่าร้อยละ 90 คือ ผู้อาวุโส โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง
ไม่ต้องเล่นลิ้นแบบแกนนำ นปช. ผู้ที่มาแสดงตนเป็น “คนอยากเลือกตั้ง” ก็คือ คนเสื้อแดง และผู้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ลองเข้าไปดูเฟซบุ๊คคนเสื้อแดง ในวันนั้นพวกเขาโพสต์ภาพการเข้าร่วมชุมนุมด้วยความสนุกสนาน เหมือนงานคืนสู่เหย้าชาวเสื้อแดง
แม้ว่า "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง“ แกนนำแดงอิสระ จะพยายามอธิบายว่า การชุมนุมเป็นเรื่องของคนทุกสีเสื้อ ด้วยการโพสต์ความเห็นว่า "การเรียกร้องเลือกตั้ง ควรทำโดยประชาชนทุกสีเสื้อ และนักการเมืองไม่ควรมาเกี่ยวข้องเพื่อป้องกันข้อครหาว่ามีท่อน้ำเลี้ยง หรือมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังนักศึกษา หากจะมาขอให้แสดงโดยเปิดเผยมาในฐานะประชาชน มิใช่นักการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง"
“ฟอร์ด” เป็นนักเคลื่อนไหวมวลชนอิสระ จึงหวังที่จะเห็นพลังมวลชนบริสุทธิ์ แต่ในโลกความเป็นจริง เขาก็รู้อยู่เต็มอก
ภาพที่มีการแท็กในแฟนเพจเฟซบุ๊คฟอร์ด เส้นทางสีแดง ล้วนเป็นภาพของความปลื้มปริ่ม ที่มีโอกาสได้มาพบกัน อย่างเช่นผู้ใช้ชื่อ "บุญชู บัวผัน“ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "ดีใจค่ะ ได้เจอพี่ๆเพื่อนๆ ขอบคุณที่ทักทายกันนะคะ ผ่านไปด้วยดีคงไม่มีอะไรตามหลังมานะ555 คราวหน้าคงได้พบกันอีกค่ะผู้รักประชาธิปไตย"
เข้าไปดูเฟซบุ๊คกลุ่มแดงอิสระที่ถนัดสื่อโซเชียล พวกเขาถ่ายภาพมวลมิตรที่เคยผ่านสมรภูมิปี 2552-2553 ไว้หลายร้อยภาพ ล้วนแต่เป็นพ่อยกแม่ยกที่รักและชื่นชอบ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ทั้งสิ้น
การชุมนุมวันนั้นจบลงด้วยดี เป็นความสำเร็จของ “โรม-จ่านิว” ในนามกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มสตาร์ทอัพพีเพิล
แต่หากส่องลึกเข้าไปใน “หัวแถว” พลังประชาธิปไตยภายในการนำของคนหนุ่มสาวยุคนี้ ยังมีรอยร้าวเล็กๆ ให้เห็นอยู่ อันสืบเนื่องมาจาก “บาดแผล” จากการล่มสลายของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ยุคปี 2558-2559
บาดแผลอะไร? ก็ต้องไปสืบค้นกันดู เพราะยามนี้ มีเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่หลายกลุ่ม
ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน การแย่งชิงการนำ ยังเป็นปัญหาโลกแตกของฝ่ายประชาธิปไตย