คอลัมนิสต์

 "กลุ่ม 16" รีเทิร์น  เล่นเกมลับ ลวง พราง?

"กลุ่ม 16" รีเทิร์น เล่นเกมลับ ลวง พราง?

07 เม.ย. 2561

การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะมีปัจจัยพิเศษแทรกซ้อนได้เสมอ นักเลือกตั้งอาชีพ จึงเล่นเกมลับ ลวง พราง กันใหญ่

          ช่วง คสช.ยึดอำนาจมา 4 ปี งานวันเกิด “ปู่ชัย” มีนักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการเข้าอวยพรเจ้าของบ้านใหญ่ “ชิดชอบ” กันตามปกติ

          บังเอิญปีนี้ คสช.เปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ระดับหนึ่ง จึงมีนักการเมืองชื่อดังมาอวยพร “ปู่ชัย” ในวัย 90 ปีกันมากเป็นพิเศษ

          ที่ฮือฮาในบรรดาแขกเหรื่อ ก็คือ สุชาติ ตันเจริญ” ประมุขบ้านริมน้ำ ที่เดินทางมาพร้อมกับ “สรอรรถ กลิ่นประทุม” ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย

          พลันที่เห็นหน้า "พ่อมดดำ“ สุชาติ ตันเจริญ สำนักข่าวออนไลน์บางแห่งพาดหัวทันที ”สยบข่าวรอยร้าว" เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีข่าวร่ำลือว่า สุชาติ เตรียมตัวตั้งพรรคการเมืองใหม่ร่วมกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

          ตอนสายๆ วันที่ 4 เม.ย.2561 ศุภมาศ อิศรภักดี โฆษกพรรคภูมิใจไทย ได้นำภาพบรรยากาศในงานวันเกิดปู่ชัยมาโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ซึ่งมีภาพของ อนุทิน ชาญวีรกูล, เนวิน ชิดชอบสรอรรถ กลิ่นประทุม และสุชาติ ตันเจริญ ยืนกอดคอกันถ่ายภาพหมู่

          ภาพใบนี้ใบเดียว อธิบายความนัยทางการเมืองได้อีกมากมาย เพราะหากตัด “เสี่ยหนู” ออกไป มันหมายถึงการรีเทิร์นของกลุ่ม 16 แต่น่าแปลกใจที่ผ่านไปไม่ทันข้ามวัน “ศุภมาส” ได้ลบภาพชุดงานวันเกิดปู่ชัยทิ้งหมด

          เมื่อเข้าไปส่องที่แฟนเพจ “กิจกรรมหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ก็ไม่มีภาพ “4 สหาย” ยืนกอดคอกัน รวมถึงภาพที่สุชาติ ตันเจริญ เข้ามาทักทายอดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย

          จะว่าไปแล้ว ในกลุ่ม 16 ที่เคยเป็นกลุ่มการเมืองโด่งดังเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ภายหลังแยกย้ายกันไปตามวิถีของใครของมัน แต่บ้านริมน้ำของสุชาติ ก็ยังเป็นแหล่งนัดพบกันของกลุ่ม 16 อยู่เนืองๆ

          ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับนักการเมืองในกลุ่ม 16 นั้น บุคคลที่ใกล้ชิดกับรองนายกฯ สมคิดมากที่สุดคือ สรอรรถ กลิ่นประทุม

          ถ้ายังจำกันได้ ในยุคทักษิณยึดครองสภาฯ สมคิดเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม ส.ส.(พรรคไทยรักไทยและพรรคชาติไทย) ซึ่งสื่อมวลชนเรียกว่า “8 ส.+ ส.พิเศษ” ประกอบด้วย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สมศักดิ์ เทพสุทิน, สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล,สุวิทย์ คุณกิตติ ,สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, สุรนันทน์ เวชชาชีวะ, สนธยา คุณปลื้ม และสรอรรถ กลิ่นประทุม ส่วน ส.พิเศษคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

          กลางปี 2558 ผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ตกต่ำ มีข่าวว่า คสช.จะสมคิดเข้ามาเป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ ก็ยังมีชื่อสรอรรถพ่วงเข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้วย แต่ตอนหลังก็ถูกปฏิเสธว่าข่าวไม่จริงจากหัวหน้า คสช. โดยข่าวชิ้นนี้สะท้อนถึงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมคิดกับสรอรรถ 

          เวลานี้ มีรายงานข่าวว่า สรอรรถได้ปรึกษาหารือกับสมคิด เรื่องพรรคการเมืองใหม่ พร้อมเสนอตัวเข้าช่วยเหลือในการระดมอดีต ส.ส.มาทำงานการเมืองเพื่อชาติ หากสมคิดจะเอาจริงกับการตัั้งพรรคหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

          ว่ากันว่า มิเพียง “สรอรรถเท่านั้นที่เคลื่อนไหวระดมไพร่พล หากแต่ยังมี สมศักดิ์ เทพสุทินแกนนำกลุ่มมัชฌิมา ที่ได้ช่วยดึงอดีต ส.ส.สายพรรคกิจสังคมให้มาสานฝันครั้งใหม่

          ในการเลือกตั้ง 2554 สรอรรถได้รวบรวมกลุ่มนักการเมืองราชบุรี ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคภูมิใจไทย โดยกลุ่มมัชฌิมา มี 2 คนคือ มานิต นพอมรบดี และ บุญยิ่ง นิติกาญจนา ส่วน บุญลือ ประเสริฐโสภา และบญดำรง ประเสริฐโสภา ส.ส.ราชบุรี อดีต ส.ส.ราชบุรี อยู่กลุ่มสรอรรถ

          มีความเป็นไปได้ว่า อดีต ส.ส.ราชบุรี ทั้งสายสมศักดิ์ และสายสรอรรถ อาจต้องมาทำงานเพื่อบ้านเมือง เหมือนกรณีการไปรวมกันที่ภูมิใจไทยในการเลือกตั้ง 2554 หลังเลือกตั้งต่างก็แยกย้ายกันไป

          แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สรอรรถได้นำเสนอให้สมคิด รองนายกฯ ใช้อำนาจในการจัดหา “เครื่องมือ” ให้นักเลือกตั้งอาชีพนำไปเคลื่อนไหวหาเสียงในเขตเลือกตั้ง เพราะพวกเขามองเห็นว่า การจะเอาชนะพรรคใหญ่ที่ครองใจประชาชนนั้น ฝ่ายพรรคเครือข่าย คสช.ก็ต้องมีนโยบายพิเศษให้เข้าถึงประชาชน ลำพังตลาดประชารัฐ งบฯไทยนิยม และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เพียงพอ

          อย่างวันก่อน สุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า ได้หารือกับกลุ่มอดีต ส.ส.เกี่ยวกับการจะนำเสนอนโยบายส่งเสริมสุขภาพประชาชนแห่งชาติ (สสปช.) ให้รัฐบาลพิจารณา โดยผ่านรองนายกฯสมคิด หากมีโอกาส ซึ่งนโยบายดังกล่าว ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และหากเสนอผ่านรัฐบาลนี้ น่าจะผลักดันออกเป็นกฎหมายได้ง่ายกว่า โดยใช้ ม.44 ออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.มาดำเนินการได้

          ผ่านมา บรรดาหมออนามัย และ อสม. ได้เรียกร้องกันมานานแล้วให้จัดตั้ง "สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนแห่งชาติ" (สสปช.) โดยแยกออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข โดย สสปช. ต้องสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและการทำงาน

          สำหรับนักเลือกตั้งบ้านนอก จะทราบดีว่า “หมออนามัยกับ อสม.นั้น ใกล้ชิดกับประชาชนมากแค่ไหน และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้เป็น ฐานคะแนนของนักเลือกตั้งมาทุกยุค

            นี่คือรูปธรรมที่อดีต ส.ส.จอมเก๋า อยากให้รัฐบาลทหารจัดสรร “เครื่องมือ” ให้ในการลงพื้นที่ เพื่อการสร้างฐานสร้างคะแนน หากไม่มีอะไรติดไม้ติดมือลงไปพบชาวบ้าน ก็ยากที่จะเปลี่ยนความคิดให้พวกเขาผละออกจากความนิยมในพรรคเดิมได้

          กรณีของ “สรอรรถกับ สุชาติที่พยายามต่อเชื่อมกับผู้มีอำนาจ ไม่น่าจะเป็นการแตกหักกับ เนวิน-อนุทินหากแต่เป็นเกมแยกกันเดิน แล้วกลับมารวมกันทีหลังมากกว่า 

          เช่นเดียวกับกรณีของ “อนุทิน” กับ “วราวุธ ศิลปอาชา” ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เกาะเกี่ยวเป็นพันธมิตรกัน แต่ก็แยกกันเดิน 

          การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะมีปัจจัยพิเศษแทรกซ้อนได้เสมอ นักเลือกตั้งอาชีพ จึงเล่นเกมลับ ลวง พราง สร้างอำนาจการต่อรอง ไม่มีพรรคไหนฟันธงเลือกข้างอย่างแน่นอน