"พรรคทหาร" กับประวัติศาสตร์..ที่รอซ้ำรอย ?
"พรรคทหาร" กับประวัติศาสตร์..ที่รอซ้ำรอย ? : คอลัมน์... ขยายปมร้อน โดย... จักรวาล ส่าเหล่ทู
แม้ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงกั๊กท่าทีในการตอบคำถามถึงเส้นทางการเมืองของตัวเองในอนาคต แต่จากพฤติการณ์ต่างๆ ก็ทำให้อ่านได้ไม่ยากว่า มีแนวโน้มอยากเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่จะด้วยวิธีเป็นนายกฯ คนนอก หรือถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองใดนั้น เราก็ยังไม่อาจรู้ได้ในตอนนี้
ในขณะที่ฟากผู้สนับสนุนเองก็ไม่น้อยหน้า ต่างตีปี๊บออกตัวหนุนกันเต็มที่แบบ มั่นใจว่ายังไง นายกฯ คนต่อไปก็คนนี้แน่ๆ เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่เปิดไพ่หมดหน้าตัก หนุนให้เป็นนายกฯ คนนอก อย่างชัดเจน หรือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ออกมาระบุว่าหนุนนายกฯ ให้อยู่ต่ออีกสมัย เพราะเก่ง ดี มีความสามารถ โดยมีกระแสข่าวตั้งพรรคใหม่พ่วงมาด้วย ยิ่งทำให้ฝ่ายที่หนุนนั้นครึกครื้นยิ่งนัก
แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่จะมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อหนุนทหาร เพราะนี่ถือเป็นหนึ่งในช่องทางการสืบทอดอำนาจ ที่จะลดข้อกังขาของประชาชน นักการเมือง รวมถึงสายตาจากนานาชาติ ที่มักถามถึงความสง่างามในการกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยทหารที่ทำการรัฐประหารอีกครั้ง
เรื่องแบบนี้เคยมีให้เห็นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว ย้อนกลับไปสมัย พ.ศ. 2498 “พรรคเสรีมนังคศิลา” ถือเป็นพรรคทหารพรรคแรกที่กำเนิดขึ้น โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรองหัวหน้า รวมถึงมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นเลขาธิการพรรค
เป็นความพยายามของ จอมพล ป. ลงสู่สนามการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยรูปแบบการตั้งพรรค จะเป็นทหารดำเนินการเองแบบชัดเจน ไม่ต้องให้ใครทำแทน รวมดาวเด่นผู้คุมอำนาจ และกลไกรัฐ ไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
โดยในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2500 พรรคเสรีมนังคศิลา ชนะการเลือกตั้งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีการสร้างความได้เปรียบด้วยกลไกของรัฐอย่างเต็มสูบ แต่ทว่าไม่ได้ ส.ส.ถล่มทลายไปตามที่ลงทุนลงแรงเอาไว้ กล่าวคือได้ 83 ที่นั่ง จาก 160 ว่าง่ายๆ คือ เกินครึ่งมา 3 ที่นั่ง แต่การบริหารงานก็ล้มเหลว เพราะมีการประท้วงโดยประชาชน เรื่องความโปร่งใสในการทำงาน และโดนรัฐประหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ ไปในที่สุด
หรืออย่างกรณี “พรรคชาติสังคม” ของจอมพลสฤษดิ์ และพรรคสหภูมิ ที่จอมพลสฤษดิ์ให้การสนับสนุน ในการเลือกตั้งวันที่ 15 ธันวาคม 2500 พรรคทหารทั้งสองได้ ส.ส.รวมกันแค่ 54 ที่นั่ง จาก 159 ที่นั่ง แต่ทว่าด้วยบรรยากาศการเมืองขณะนั้น คณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ยังมีอำนาจคุมรัฐอยู่ ก็ทำให้พรรคทหารดึง ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรคมาสนับสนุน จนตั้งรัฐบาลได้ ทว่าการบริหารงานก็ล้มเหลว เพราะไม่สามารถควบคุมสภาได้ จนจอมพลสฤษดิ์ต้องรัฐประหารตัวเองอีกครั้ง
พรรคทหารได้กลับมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2534 นั่นคือ “พรรคสามัคคีธรรม” ที่ตั้งขึ้นโดยคนใกล้ชิด คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมี ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่เขาถูกกล่าวหามีส่วนพัวพันยาเสพติด จึงนำไปสู่การเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้า รสช. เจ้าของวลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ที่ก่อนหน้านี้บอกไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ จนนำไปสู่การประท้วงในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”
และพรรคทหารล่าสุดที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็คือ “พรรคมาตุภูมิ” ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งเท่าที่ควรอยู่ดี
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่า พรรคการเมืองของทหารนั้น ล้มเหลวในการทำหน้าที่ทางการเมือง และยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน นั่นก็เป็นเพราะ ในสนามการเมืองนั้น ไม่ได้แค่พูดว่ามีความตั้งใจดี แล้วจะได้คะแนนเสียงเสมอไป หากต้องมีการแข่งขันในเรื่องนโยบายด้วย สนามประชาธิปไตยจึงไม่ใช่งานถนัดของทหารสักเท่าไหร่
และแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมี 250 ส.ว.ในมือไปแล้วเหนาะๆ บวกกับเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่พร้อมตบเท้าสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ได้อีกสมัย แต่ท่ามกลางความคลุมเครือการปราบคอร์รัปชั่นกับพวกพ้อง เสียงเรียกร้องท้วงติงเรื่องการบริหารที่ยึดศูนย์กลางอยู่ที่ข้าราชการมากเกินไป
ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามบอกกับประชาชนว่ามีความตั้งใจดีแค่ไหน หรือมีกลไกคอยช่วยอะไรก็ตาม หากมั่นใจในตัวเองเกินไปจนละเลยเสียงของประชาชน พรรคทหารก็ล้มเหลวได้ และถ้าเช็กสัญญาณจากนักการเมืองที่แม้ว่ากติกาจะเขียนจำกัด ถึงขั้นพวกเขาวิจารณ์สับเละไม่เป็นชิ้นดี แต่ถ้าฟังดีๆ เขาก็พร้อมเข้าสู่เลือกตั้งเสมอนั้น ด้านคนการเมืองเองเขาก็อาจมองว่า “ประวัติศาสตร์ยังซ้ำรอยได้เสมอ”