คอลัมนิสต์

รู้จัก "หน่วยซีล"ความหวังช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำเชียงราย

รู้จัก "หน่วยซีล"ความหวังช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำเชียงราย

28 มิ.ย. 2561

รู้จัก "หน่วยซีล"ความหวังช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำเชียงราย : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... อัญชลี อริยกิจเจริญ ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22

 

          ปฏิบัติการช่วยเหลือเยาวชนทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี่” พร้อมเพื่อนๆ และโค้ชรวม 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย หนนี้ หน่วยงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ “หน่วยซีล” หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “มนุษย์กบ”

          “หน่วยซีล” ส่งกำลังชุดแรกเข้าร่วมในปฏิบัติการกู้ชีวิต ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ช่วงที่กลุ่มเยาวชนหายเข้าไปในถ้ำยังไม่ถึง 48 ชั่วโมง จากนั้นก็ส่งกำลังเข้าไปเสริมอีก 1 ทีม รวมแล้วมากกว่า 40 นาย หลายคนสงสัยว่า “หน่วยซีล” เป็นใครมาจากไหน และเหตุใดจึงได้รับความไว้วางใจให้ทำภารกิจสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศ หรืออาจจะทั่วโลกกำลังส่งกำลังใจไปช่วย

          “หน่วยซีล” หรือ “มนุษย์กบ” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ตัวย่อ “นสร.” ขึ้นกับ “กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ” ภารกิจหลักของหน่วยนี้ คือการต่อต้านการก่อการร้ายสากล การปฏิบัติการจิตวิทยา ดำเนินการด้านข่าวลับ การก่อวินาศกรรมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ปฏิบัติการค้นหาและทำลายวัตถุระเบิด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การถวายความอารักขาและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ รวมทั้งปฏิบัติภารกิจพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

          การจะได้ชื่อว่าเป็นกำลังพลของ “หน่วยซีล” หรือ “มนุษย์กบ” ต้องผ่านการฝึกในหลักสูตร “นักทำลายใต้น้ำจู่โจม” ถือเป็นหลักสูตรที่โหด หิน ร่างกายต้องแกร่งจริง ถึงจะผ่านไปได้ เพราะเป็นการฝึกที่ยาวนานที่สุด ใช้เวลาถึง 7-8 เดือน เมื่อสำเร็จหลักสูตรแล้ว จะได้รับการประดับตราความสามารถ เป็นรูปปลาฉลาม คลื่น สมอเรือ และธงชาติ

          สัญลักษณ์ “ปลาฉลาม” สีขาวหรือสีน้ำเงิน หมายถึงการเป็นเจ้าแห่งท้องทะเล ดุร้าย น่าเกรงขาม สง่างาม แข็งแกร่ง

          สัญลักษณ์ “คลื่น” หมายถึง ความน่ากลัวของท้องทะเลที่มีเกลียวคลื่นตลอดเวลา หรืออุปสรรคของคลื่นหัวแตก แต่ฉลามก็ไม่ได้หวั่นเกรง

          “สมอเรือ” หมายถึง ทหารเรือ ซึ่งในอดีตหลักสูตรนี้จะรับเฉพาะทหารเรือเท่านั้น แต่ในปัจจุบันทางหน่วยได้รับทหารบก ทหารอากาศ และตำรวจเพิ่มด้วย

          ส่วน “ธงชาติ” หมายถึง การยอมพลีเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

          กฎเหล็กของ “นักทำลายใต้น้ำจู่โจม” คือ มีจิตใจเข้มแข็ง กล้าเผชิญหน้าต่อปัญหาต่างๆ ตัดสินใจด้วยความเด็ดขาด รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง เอาตัวเองรอดได้โดยไม่ทิ้งเพื่อน และมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

          การเข้าเป็นกำลังหลักในปฏิบัติการกู้ชีวิตเยาวชนทีมฟุตบอลที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ของหน่วยซีล เนื่องจากทางกองทัพเรือได้รับการประสานงานจากทางจังหวัดเชียงราย เพื่อขอกำลังสนับสนุน โดยชุดปฏิบัติการของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตเชียงราย หรือ นรข.เชียงราย ที่อยู่หน้างาน เห็นว่าต้องร้องขอกำลังเพิ่ม จึงประสานขอความช่วยเหลือไปที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) ซึ่งเป็นหน่วยแม่ เหตุนี้เองผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือจึงตัดสินใจส่ง “หน่วยซีล” เข้าพื้นที่ 

          สาเหตุที่เลือกใช้บริการ “หน่วยซีล” เพราะเห็นว่างานนี้เป็นภารกิจที่ยากลำบาก เนื่องจากภายในถ้ำที่กลุ่มเยาวชนเข้าไปติดอยู่นั้น มีน้ำท่วมสูง แคบ อากาศน้อย จึงต้องการทีมงานที่ดำน้ำเก่ง มีความสามารถรอบตัว และปฏิบัติงานภายใต้แรงกดดันสูงได้ ทั้งยังต้องใช้กำลังร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งมากกว่าคนปกติทั่วไป รวมถึงมีเรื่องของน้ำและการดำน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง หน่วยซีลจึงเหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์วิกฤติที่ขุนน้ำนางนอน

          ปัจจุบัน “หน่วยรบพิเศษ” และการฝึกในแบบของ “รบพิเศษ” มีกระจายอยู่ในทุกเหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ และตำรวจ แต่ละหลักสูตรก็มีการฝึกดำน้ำด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่ารบพิเศษจากทุกเหล่า มีทักษะความสามารถไม่แพ้กัน และถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมของหน่วยรบพิเศษของเหล่าทัพต่างๆ ไปแล้ว นำร่องโดยหน่วยซีล กองทัพเรือ กรมรบพิเศษที่ 5 ของกองทัพบก จ.เชียงใหม่ พลร่มกู้ภัยจากค่ายนเรศวร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางน้ำ หรือ “หน่วยซีลตำรวจน้ำ” ซึ่งได้นำอุปกรณ์หน้ากากเต็มใบที่พูดสื่อสารใต้น้ำได้ โดยใช้คลื่นสะท้อนจากนํ้า มาใช้กับภารกิจช่วยชีวิตทีมเยาวชนหมูป่าด้วย

          นอกจากรบพิเศษแล้ว หน่วยงานที่เชี่ยวชาญภารกิจใต้น้ำอีกหน่วยหนึ่งที่หลายคนจับตามอง และเชื่อว่าอาจต้องเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย ก็คือ กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเก็บกู้วัตถุที่จมอยูใต้น้ำ ถอดทำลายอมภัณฑ์ หรือวัตถุระเบิดใต้น้ำ ภารกิจการสำรวจและซ่อมสร้างใต้น้ำ รื้อถอนสิ่งกีดขวางใต้น้ำ ทำความสะอาดตัวเรือใต้แนวปะการัง และการถวายความปลอดภัยทางน้ำ

          คุณสมบัติที่แตกต่างระหว่างหน่วยซีล กับกองประดาน้ำฯ แม้จะสังกัดกองทัพเรือเหมือนกันก็คือ หน่วยซีลเน้นงานยุทธการ ปฏิบัติการเชิงรุก มีความรวดเร็ว ฉับไว และเชี่ยวชาญดำน้ำแทรกซึม ส่วนกองประดาน้ำฯ เน้นงานธุรการ มีลักษณะตั้งรับ และเชี่ยวชาญภารกิจที่ต้องใช้เวลานาน มีอุปกรณ์ที่สามารถสื่อสารกับผู้ควบคุมทีมที่อยู่บนผิวน้ำได้

          จากภารกิจพิเศษสุดหินในพื้นที่ปราบเซียนอย่าง “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” จึงไม่แปลกที่ “หน่วยซีล” ของกองทัพเรือ จะได้รับความไว้วางใจ และคนไทยทุกคนล้วนฝากความหวัง