"ทวี สอดส่อง" จับมือ "วันนอร์-วาดะห์" ปั้นพรรคประชาชาติ
"ทวี สอดส่อง" จับมือ "วันนอร์-วาดะห์" ปั้นพรรคประชาชาติ : รายงาน โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร
พรรคการเมืองใหม่ที่หลายคนให้ความสนใจ และกำลังมาแรงแบบเงียบๆ คล้ายคลื่นใต้น้ำ ก็คือ “พรรคประชาชาติ”
พรรคการเมืองนี้ไม่ได้เปิดตัวเปรี้ยงปร้าง โด่งดังชั่วข้ามคืนเหมือน “พรรคอนาคตใหม่” ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือเปิดตัวฮือฮาเพราะน้ำตา “ลุงกำนัน” กระทั่งขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับเหมือน “พรรครวมพลังประชาชาติไทย”
เพราะที่ผ่านมา “พรรคประชาชาติ” ถูกมองเสมอเพียงเป็นชายคาใหม่ของ “กลุ่มวาดะห์” กลุ่มการเมืองเก่าแก่ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.มุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเปลี่ยนบ้าน ย้ายชายคามาหลายพรรค ทั้งประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ ไทยรักไทย เพื่อไทย หรือแม้กระทั่งพรรคมาตุภูมิ
แต่ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ให้คุณค่ากับคะแนนเสียงของผู้แพ้ที่เรียกกันว่า “คะแนนตกน้ำ” ทำให้กลุ่มวาดะห์มองว่าถึงเวลาที่จะมี “บ้าน” เป็นของตัวเองเสียที
แต่การขับเคลื่อน “พรรคประชาชาติ” โดยกลุ่มวาดะห์ แม้จะเป็นจุดแข็งใน “พื้นที่เฉพาะ” อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในทางกลับกันได้กลายเป็น “จุดอ่อน” หากจะผลักดันให้พรรคนี้เติบโตต่อไป และมีบทบาทในระดับ “ตัวแปร” ของระบบการเมืองไทย เพราะพรรคประชาชาติได้ติดภาพการเป็น “พรรคมุสลิม” ไปแล้ว
วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ,ให้กำลังใจ,ทวี สอดส่อง,อดีตเลขาธิการ,ศอ.บต.นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางมาให้กำลังใจ และส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. หลังมีคำสั่งให้ไปปฎิบัติราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งของ คสช.
เหตุนี้เองชื่อของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จึงถูกหยิบขึ้นมาเป็น “ตัวชูโรง” เพื่อล้างภาพการเป็น “พรรคมุสลิม” เพราะเขาคือคนพุทธ และเป็นข้าราชการจากส่วนกลางที่ถูกส่งลงไปทำหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ด้วยสไตล์การทำงานแบบ “มือประสานสิบทิศ” กับผลงานเด่นทั้งปรับอัตราเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ แถมยังจ่ายย้อนหลังทุกกรณีตั้งแต่ปี 2547 ที่ไฟใต้เริ่มปะทุ, การดูแลผู้นำและนักบวชจากทุกศาสนาไม่ว่าจะเป็นพระหรืออิหม่าม รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือพี่น้องจากสามจังหวัดที่หนีความยากจนและความรุนแรงไปทำงานที่มาเลเซียจำนวนนับแสนคน จากกลุ่มที่เคยมีสถานะไม่ต่างอะไรกับ “พวกตกสำรวจ” ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมา ฯลฯ เหล่านี้ทำให้ประชาชนคนชายแดนใต้ทุกกลุ่มทุกศาสนานิยมชมชอบเลขาธิการ ศอ.บต. ที่ชื่อ “ทวี สอดส่อง” อย่างล้นหลาม
และล่าสุดแค่โยนชื่อ พ.ต.อ.ทวี สู่สาธารณะโดยที่เจ้าตัวยังไม่เคยเอ่ยปากตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ถึงวันนี้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ก็พากันเรียก พ.ต.อ.ทวี ว่าเป็น “เลขาธิการพรรคประชาชาติ” กันหมดแล้ว
และแม้จะยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก เพราะ พ.ต.อ.ทวี ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตของตนเองบนเส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่สถานะของ พ.ต.อ.ทวี ในปัจจุบัน ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการไปเรียบร้อย รอเพียงพระราชโองการโปรดเกล้าฯ เท่านั้น โดยตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ระดับ 11)
ฉะนั้นโอกาสที่จะก้าวเข้าไปกุมบังเหียน “พรรคประชาชาติ” จึงสูงเกือบ 100% แกนนำกลุ่มวาดะห์บางรายกระซิบว่า เหลือเพียงการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเอง หรือจะนั่งเป็นเลขาธิการพรรค โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นผู้นำเท่านั้น
วันที่ 1 กันยายน ที่จะถึงนี้ พรรคประชาชาติจัดประชุมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งในวันนั้นจะมีวาระเลือกหัวหน้า เลขาธิการ และกรรมการบริหารพรรคด้วย คำตอบสุดท้ายว่า พ.ต.อ.ทวี จะนั่งเก้าอี้ตัวไหน จึงต้องไปรอฟังในวันที่ 1 กันยายน
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับทั้ง พ.ต.อ.ทวี และแกนนำพรรคประชาชาติสายวาดะห์ ทำให้ได้ทราบถึงแนวนโยบายและความพร้อมของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ ซึ่งต้องบอกว่าน่ากลัวไม่แพ้พรรคอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เลยทีเดียว
ก้าวแรกที่ พ.ต.อ.ทวี ต้องทำทันทีเพื่อสร้างภาพจำในวันเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการก็คือ การทำให้สังคมเห็นว่าพรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคมุสลิม แต่เป็นพรรคที่เน้นความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ยุทธศาสตร์ในระยะเริ่มต้นก็คือ การส่งผู้สมัครที่เป็นคนพุทธในบางเขตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น พื้นที่เขตเมืองของ จ.ยะลา ซึ่งล่าสุดแม้ คสช.จะยังยึกยักเรื่องปลดล็อก แต่สนามการเมืองที่ปลายด้ามขวานคึกคักเป็นอย่างยิ่ง อดีต ส.ส.คนดังจากหลายกลุ่มหลายพรรคเสนอตัวลงสมัครกับพรรคประชาชาติเกือบครบทุกพื้นที่แล้ว
ว่ากันว่าคู่แข่งสำคัญทั้งพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิม และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ หากประมาทพรรคประชาชาติ มีหวังต้องลุ้นเหนื่อย
เป้าหมายของพรรคคือคะแนนเสียง “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ในพื้นที่ชายแดนใต้ ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งมีมากเกือบ 5 แสนคะแนน บวกกับคะแนนของคนสามจังหวัดที่ไปทำงานในมาเลเซียอีกนับแสน และคะแนนนิยมของ “กลุ่มวาดะห์” ซึ่งแกนนำรุ่นอาวุโสจะขยับขึ้นไปเป็น “ปาร์ตี้ลิสต์” รวมทั้งคะแนนนิยมส่วนตัวของผู้สมัครแบบแบ่งเขต ทั้งหมดนี้วาดหวังเอาไว้ราวๆ 9 แสนคะแนนขึ้นไป
ยุทธศาสตร์ต่อมาคือการขยายพื้นที่หาคะแนนนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียง 2 จังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.บต.อย่างสตูลและสงขลาเท่านั้น แต่พื้นที่ กทม. โดยเฉพาะเขตชานเมืองที่มีคนมุสลิมหนาแน่นอย่างมีนบุรี หนองจอก ก็เป็นพื้นที่เป้าหมายของพรรคประชาชาติเช่นกัน โดยมี วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯ คนดัง เป็นหัวหอกทำประตู หากไม่ได้ ส.ส.เขต ขอเสียงตกน้ำมาเติมเต็มก็ยังถือว่าคุ้ม
นอกจากนั้นคือคะแนนของคนชายขอบ และกลุ่มชาติพันธุ์ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพราะอุดมการณ์ของพรรคประชาชาติคือ “ความเท่าเทียม”
“เราต้องทำให้คนไทยทุกคน ทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา มีความเท่าเทียมกัน เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและความสามัคคีปรองดองเพื่อร่วมสร้างประเทศไปด้วยกัน ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า ‘ประชาชาติ’ ซึ่งเป็นชื่อพรรค ที่แปลว่าประชาชนทุกคนที่เป็นพลเมืองของประเทศ ฉะนั้นพรรคนี้จึงเป็นพรรคของประชาชน” พ.ต.อ.ทวี กล่าวเอาไว้
นโยบายสำคัญของพรรคประชาชาติ ไม่ได้มุ่งไปที่การแก่งแย่งแข่งขันเอาชนะคะคานทางการเมือง แต่ต้องการปลดล็อกปัญหาไฟใต้ให้สำเร็จให้ได้ หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 14 ปี ยิ่งไปกว่านั้นยังให้ความสำคัญกับ “ท้องถิ่น” ในการขับเคลื่อนบริการภาครัฐสู่ประชาชน สัดส่วนงบประมาณที่จัดสรรให้แก่ท้องถิ่น ทั้งงบอุดหนุน และการจัดเก็บรายได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับงบส่วนกลาง ควรกลับตัวเลขกัน ด้วยการกระจายงบประมาณส่วนใหญ่ไปที่ท้องถิ่น เพราะทำงานใกล้ชิดและรับรู้รับทราบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่รับผิดชอบชีวิตคนเมืองหลวง และดูแลงบประมาณจำนวนมหาศาล ได้เวลาต้องกระจายอำนาจให้มีการเลือกตั้ง “ผอ.เขต” ไม่ใช่เลือกเฉพาะผู้ว่าฯ กทม. เพียงคนเดียวเหมือนที่ผ่านๆ มา เพื่อดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ทั่วถึงกว่าที่คเย
เช่นเดียวกับ “แรงงาน” ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ต้องได้รับการดูแลภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีก้าวกระโดด
“เราต้องทำพรรคประชาชาติให้เป็นเหมือนพรรคแรงงาน หรือพรรคเลเบอร์ในต่างประเทศให้ได้” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ พ.ต.อ.ทวี ตั้งเอาไว้
ส่วนกรอบคิดและแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ เช่น ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ จะต้องมีโมเดลใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไม่ใช่ต้องรอรัฐบาลกลางเคาะทุกเรื่องเหมือนที่ผ่านๆ มา
นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับ “กลุ่มเปราะบาง” ทั้งผู้หญิง เด็ก และเยาวชน ให้มามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขับเคลื่อนกับพรรคประชาชาติ โดยในหลายๆ พื้นที่ พ.ต.อ.ทวี มีแนวคิดส่งผู้สมัครหญิงที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งอีกด้วย
การสร้างความแตกต่างของ “นโยบาย” เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของพรรคการเมืองตั้งแต่การเลือกตั้งหลังปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งแกนนำพรรคแย้มให้ฟังว่า มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพเสนอตัวเข้ามาร่วมคิดร่วมเขียนนโยบาย ไม่เว้นแม้แต่นักวิชาการชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศที่มาตั้งวงช่วยกันยกร่างพิมพ์เขียว แต่ไม่ขอเปิดตัว เพียงแต่เอ่ยชื่อมา คนไทยต้องร้องอ๋อ...
พรรคประชาชาติวางสถานะของตนเองในระดับ “ตัวแปร” ที่สามารถผลักดันนโยบายบางเรื่องให้เป็นรูปธรรมได้ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ “พรรคต่ำสิบ” ที่ไม่มีผลใดๆ กับการบริหารราชการแผ่นดินเลย แต่ก็ไม่ได้เพ้อฝันถึงขนาดประกาศตัวเป็นพรรคขนาดกลางหลักใกล้ๆ ร้อยเสียง
การเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็คือใช้บริการ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะ “มือประสานสิบทิศ” เพื่อระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งนักการเมืองต่างสีต่างขั้ว กลุ่มทุน กลุ่มข้าราชการ นักการเมือง และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนพรรคให้ก้าวข้ามความเป็น “พรรคท้องถิ่น” หรือ “พรรคเฉพาะกิจ” ให้ผงาดขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองระดับชาติให้ได้
เส้นทางของ พ.ต.อ.ทวี เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 ตำแหน่งสูงสุดในสายงานตำรวจคือรองผู้การกองปราบฯ จากนั้นโยกมากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เคยขึ้นเป็นอธิบดีดีเอสไอ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และลงไปนั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ตำแหน่งสร้างชื่อสร้างคะะแนนนิยมในวันนี้
เขาถูกสั่งปลดพ้นเก้าอี้เป็นคำสั่งแรกๆ หลัง คสช.ยึดอำนาจ พร้อมๆ กับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น ในฐานะ “3 ทหารเสือ” ที่มีบทบาทอย่างสูงในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ถูกมองเป็นเครือข่ายทักษิณ
การนำพาพรรคประชาชาติไม่ให้มีสถานะเป็นเพียงสาขาของพรรคเพื่อไทย จึงเป็นโจทย์ข้อสำคัญของ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง ในวันที่กำลังลิ้มลองสนามการเมืองแบบเต็มตัว