
3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"
เปิด 3 ทางที่จะทำให้ "บิ๊กตู่" รีเทิร์นตำแหน่งนายกฯ แต่ "บิ๊กตู่" จะเลือกไหม...หรือจะมีรายการ "พลิกโผ" ??
ย่างเข้าสู่เดือนกันยายน การเมืองเข้มข้นขึ้น หลายเรื่องปักหมุดนัดหมายไว้ที่เดือนนี้
อย่างแรกเป็นเดือนที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ ประกาศไว้ว่าจะประกาศท่าทีอนาคตทางการเมืองที่ชัดเจน
(อ่านต่อ..."บิ๊กตู่" ลั่นวาจา กันยายน อนาคตการเมืองชัดเจน!!!)
อย่างที่สองเดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่ครบกำหนดเวลา 90 วัน นับจากมีการทูลเกล้าฯ “ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้าย” คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากมีการพระราชทานกลับคืนมา ก็จะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไม่เกินช่วงกลางเดือนนี้
สำหรับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้ทันที แต่ในส่วนของกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.จะต้องรออีก 90 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้
อย่างที่สาม “การคลายล็อกพรรคการเมือง” ซึ่งล่าสุดทาง คสช.แพลมออกมาแล้วว่าจะคลายกฎเหล็ก คลายล็อกอะไรบ้าง จะนับ 6 เรื่อง หรือ 9 เรื่อง ก็สุดแล้วแต่ แต่ใจความสำคัญคือการคลายล็อกเรื่องทางธุรการของพรรคการเมือง หลักๆ คือให้ประชุมพรรคการเมืองเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรค และคลายล็อกเรื่องระยะเวลาในการเดินตามกฎ เช่นเรื่องการหาทุนประเดิม 1 ล้านบาท การหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน ภายใน 180 วัน จากเดิมให้เริ่มต้นนับตั้งแต่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา (ตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2560) ก็ให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่คำสั่งฉบับใหม่ออกมา
รวมไปถึงการปลดล็อกเรื่อง “ไพรมารีโหวต” จากเดิมฝ่ายผู้มีอำนาจแสดงท่าทียืนยันว่ายังไงก็ต้องมีไพรมารีโหวต ล่าสุดแสดงอาการชัดเจนว่าพร้อมถอย โดยบอกว่าจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 ออกมากำหนดกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ใหม่ สรุปใจความสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ให้ตรงกัน คือ “ยกเลิกไพรมารีโหวต”
อย่างที่สี่ คือ ความเคลื่อนไหวของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะเป็นพรรคที่ทำหน้าที่เป็น “นั่งร้าน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดว่าในเดือนนี้จะจัดประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดแรก
เดิมมีข่าวว่า “สองรัฐมนตรี” ในรัฐบาลบิ๊กตู่ จะลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคนี้ คือ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ล่าสุดทั้งสองคนออกมาปฏิเสธข่าว
“ยังไม่ได้มีอะไรชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งผมเคยพูดไว้ในเรื่องการที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเมือง เพียงแต่จะเป็นในรูปแบบไหน อย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้ลาออกอย่างที่เป็นข่าว และไม่ได้มีแผนที่จะลาออกในเวลาอันใกล้นี้” อุตตม พูดไว้เมื่อ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่าหากมีการเชิญไปเป็นหัวหน้าพรรคตามที่มีข่าวจะไปไหม อุตตม ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ไป แต่บอกว่า “ถึงวันนั้นถ้ามีจริงค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิด”
(อ่านต่อ..."อุตตม"ปัดข่าวลาออกร่วมพรรคประชารัฐ)
เช่นเดียวกันกับสนธิรัตน์ ที่บอกว่า “เมื่อถึงเวลาที่คิดว่าต้องตัดสินใจก็ต้องตัดสินใจ ส่วนเวลาที่เหมาะสมนั้น ต้องดูสถานการณ์การเมืองตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เมื่อการเลือกตั้งชัดเจนแล้ว สถานการณ์การเมืองชัดเจนแล้ว ก็จะดูว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะดำเนินการอย่างไร หรือหยุดเพียงแค่นี้ ต้องตัดสินใจตอนนั้นอีกที”
(อ่านต่อ..."สนธิรัตน์" ปัดข่าวไขก๊อกไปนั่งเลขาฯพลังประชารัฐ)
ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐจะพ่วงความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” ไปด้วย ซึ่งทางกลุ่มก็ประกาศไว้แล้วว่าเดือนกันยายนนี้จะชัดเจนว่าจะไปอยู่พรรคไหน
แหล่งข่าวจากกลุ่มสามมิตรบอกว่า กลุ่มจะเข้าไปอยู่พรรคพลังประชารัฐแน่นอน ส่วนสองรัฐมนตรีข้างต้นจะยังไม่ไปเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐตอนนี้และในอนาคตก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปเป็นด้วยซ้ำ เพราะสามารถทำหน้าที่ในบทบาทอื่นได้ แต่ชัดเจนว่าทั้งสองจะไปอยู่พรรคพลังประชารัฐเช่นเดียวกับกลุ่มสามมิตรแน่นอน
“เวลาที่จำเป็นที่ทั้งสองคนต้องเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคอย่างแน่นอน คือ ช่วงใกล้ๆ กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เพราะจะมีเงื่อนไข ใครที่จะลงสมัครส.ส.จะต้องเป็นสมาชิกพรรคมาไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งทั้งสองน่าจะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ” แหล่งข่าวกล่าว
การเริ่มต้นเดือนกันยายนจึงย่อมหมายถึงสถานการณ์การเมืองเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งกำลังงวดเข้ามาๆ
อนาคต “บิ๊กตู่” กับ 3 ทางเลือก
กลับมาที่ประเด็นแรก เรื่องอนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” ที่เจ้าตัวประกาศไว้ว่าจะชัดเจนในเดือนกันยายน
"ถ้ายังไม่ถึงก็ยังไม่ต้องถาม ถ้าถึงก็รู้เองนะ ผมไม่เคยลืมพูดอะไรไว้...ผมจะอยู่อย่างไรต้องไปดูกฎหมาย ดูรัฐธรรมนูญ การจะอยู่ต้องดูว่าอยู่เพื่ออะไร ทำอะไร จำเป็นหรือไม่แล้วจะไปอยู่พรรคไหนก็อีกเรื่องนึง แล้วจะไปอยู่ได้อย่างไร ข้อสำคัญจะไปอยู่พรรคไหนก็ตาม ถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคนั้นแล้วจะมาได้อย่างไร ใช่หรือไม่” คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ถึงตอนนี้มี 2 คำถาม
หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนจริงหรือ
สองจะมีแนวทางไหนให้ “บิ๊กตู่” เดินได้บ้าง ที่จะทำให้ได้กลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งอีกครั้ง
สำหรับคำถามแรกมีคำถามซ้อนไปอีกว่าสไตล์ “บิ๊กตู่” ที่ปกติจะ “ดึงเกมยาว” ตลอด หากอะไรยังไม่ชัวร์จะไม่พูดไม่ทำเด็ดขาด เหมือนตอนเข้ามายึดอำนาจเมื่อปี 4 ปีที่แล้ว มีการทอดสะพานให้อยู่นานกว่าบิ๊กตู่จะยอมตามรวมถึงตอนนี้น่าจะยังไม่ถึงเวลา “จำเป็นจริงๆ” ที่จะต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนหรือไม่?
อย่างไรก็ตามด้วยความที่ “บิ๊กตู่” พูดไว้ชัดเจนมาก หากไม่ทำอะไรเลยก็คงถูกไล่บี้ไม่เลิกรา จึงมีความเป็นไปได้ว่าหัวหน้า คสช.จะ “แพลม” อนาคตทางการเมืองออกมาอีกสเต็ป แต่คงไม่ถึงกับชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างมากก็คงแค่บอกว่ามีความพร้อมที่จะลงสนามการเมืองตามกติกาเงื่อนไขที่มีอยู่ แต่ยังคงไม่สามารถบอกได้ชัดว่าจะเป็นช่องทางไหน อย่างไร หรือจะไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไหน
“ผมจะไปพูดแทนพรรคได้ยังไง จะมีพรรคไหนมาเสนอชื่อผมบ้างผมจะรู้ได้ยังไง อาจจะไม่มีใครเสนอชื่อผมก็ได้” ลีลาพลิ้วของ “บิ๊กตู่” น่าจะออกประมาณนี้
คำถามที่สอง จะมีแนวทางไหนบ้างที่จะทำให้ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหลังเลือกตั้ง
อันนี้ “บิ๊กตู่” ไม่ตอบแน่ๆ แต่เราต้องมาวิเคราะห์กัน
ย้อนเวลากลับไปมีทางหนึ่งที่ “บิ๊กตู่” ไม่เลือกแล้ว คือการลงสู่สนามเลือกตั้งแบบเต็มตัวด้วยการลงสมัครส.ส. ทางนั้นทำไม่ได้เพราะเลยเวลาแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหาก คสช. หรือ ครม. จะลงสมัครส.ส.ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปีที่แล้ว
ณ เวลานี้ หนทางที่มีให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกได้มีอยู่ 3 ทาง
1.อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ถึงวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าถ้าเป็นช่องทางนี้ก็น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังแต่งองค์ทรงเครื่องกันอยู่
หาก “บิ๊กตู่” เลือกทางนี้ ด้านหนึ่งก็คงมีเสียงชื่นชมถึงความตรงไปตรงมากล้าหาญที่ลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็คงจะมีเสียงโจมตีมาพร้อมกันด้วยว่าที่ทำมาทั้งหมด ที่วางกติกาโน่นนี่มา ก็เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง พร้อมๆ กันก็คงมีเสียงเรียกร้องให้ออกจากตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” เพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขันด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับเสียงโจมตีนั้นจนถึงวันนี้หาก “บิ๊กตู่” คิดจะหวนคืนสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งไม่ว่าทางไหนก็คงต้องโดนโจมตีอยู่แล้ว การก้าวสู่สนามเลือกตั้งอย่างเปิดเผยน่าจะโดนโจมตีน้อยกว่าการเล่นบท “อีแอบ” ด้วยซ้ำ
ส่วนแรงกดดันให้ลาออกจากคสช.นั้น หากภายในคสช.เหนียวแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะก้าวลงจากตำแหน่ง และมอบให้คนที่ไว้วางใจได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล
ยังมีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องเลือกทางนี้ด้วยว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง ก็จะเป็นพลังดูดทั้งคนที่จะมาอยู่กับพรรคนี้ และดูดพรรคกลางๆ ไม่ให้ไปทางอื่น
"หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง แรงที่จะดูดให้พรรคการเมืองต่างๆ มารวมกับพรรคพลังประชารัฐน่าจะอ่อนลง พรรคกลางๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทย อาจจะสวิงไปอยู่กับอีกฝั่ง หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลง มีความเป็นไปได้สูงที่ฝั่งเพื่อไทยจะสามารถดึงพรรคต่างๆ ไปร่วมตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ” นักวิเคราะห์การเมืองวิเคราะห์
ทางที่ 2 รอเป็นนายกฯ ก๊อกสอง คือ หลังจากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองได้ ก็ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ 500 จาก 750 คน เพื่อเลือกนายกฯ นอกบัญชี หรือที่ฝ่ายเชียร์ “บิ๊กตู่” พยายามเรียกว่า “นายกฯ คนกลาง”
แต่หนทางนี้จะเสี่ยงมาก!!
เสี่ยงเพราะต้องใช้เสียงมากถึง 500 เสียง ซึ่งไม่ง่าย เพราะต้องหา ส.ส.ให้ได้อย่างน้อย 250 เสียง เพื่อไปบวกกับ ส.ว. 250 เสียง ที่คาดว่า คสช.จะคุมได้ทั้งหมด
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประกาศไว้ชัดเจนว่าพรรคจะไม่สนับสนุนคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคมาเป็นนายกฯ
แม้ลึกๆ จะมีความเชื่อกันอยู่ว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ หากต้องเลือกระหว่างเพื่อไทยกับ “พล.อ.ประยุทธ์” พรรคประชาธิปัตย์คงจะเลือก “บิ๊กตู่” มากกว่าแต่เพื่อความปลอดภัย ก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะเลือกหนทางนี้
บ้างก็มองว่าหากจะเลือกทางที่สอง “บิ๊กตู่” น่าจะเลือกทางที่สามเลยมากกว่า
ทางที่ 3 คือ อยู่เฉยๆ รอเวลาที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่าจะเป็นพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งจะเป็นนายกฯ ที่ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่เหมือนปัจจุบัน
ปมหนึ่งที่น่าสนใจและชวนสงสัยในเจตนาของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกฯ ว่าต้องเลือกให้เสร็จเมื่อไหร่ ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดว่าต้องเลือกนายกฯ ให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก
นั่นคือหากสภาตั้งรัฐบาลไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถเป็นนายกฯ ต่อไปได้ “ไม่มีกำหนด”
มีการพูดถึงเกมที่จะสกัดไม่ให้พรรคการเมืองอีกฝั่งตั้งรัฐบาลได้ คือพรรคพลังประชารัฐและพันธมิตรต้องมีส.ส.รวมกันไม่น้อยกว่า 125 เสียง
ทำไมต้องเป็น 125 เสียง เพราะถ้าฝั่งนี้ได้ 125 เสียง ไปบวกกับ ส.ว.ของคสช.อีก 250 เสียง ก็จะได้ 375 เสียง คือครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ก็หมายความว่า อีกฝั่งจะไม่มีทางได้ ส.ส.เกินครึ่ง
แต่ถ้าเป็นสูตรนี้ก็หมายความว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็น “การเลือกตั้งลวงโลก” ประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก คงตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้คือหนทางที่คาดกันว่า “บิ๊กตู่” จะเลือก
เท่าที่ฟังสุ้มเสียง หากเทียบในสามทางน่าจะมีเสียงเชียร์ให้ “บิ๊กตู่” เลือกทางแรกมากกว่า
ถามว่าแล้วจะมีรายการ “พลิกโผ” ไม่เลือกทางไหน แต่เป็น “บิ๊กตู่” เลือกที่จะเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หันหลังให้การเมือง ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีก ไม่ว่าฟ้าจะถล่ม ดินจะทลาย ได้หรือไม่
ก็ต้องบอกว่า การเมืองไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
สุดท้ายจะเลือกทางไหนก็ต้องถามใจ “บิ๊กตู่” !!
================
โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์