คอลัมนิสต์

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

12 ก.ย. 2561

บันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่การเลือกตั้งกำลังเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง สำรวจไฮไลท์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา

               ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดภายในวันสองวันนี้ จะมีการประกาศร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายลงราชกิจจานุเบกษา

               คือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

               สำหรับอีก 2 ฉบับที่มีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมาย กกต.

               ในตัวเนื้อหาของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่กำลังจะลงราชกิจจาฯ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะรู้กันหมดแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอไปอีก 90 วัน นั่นคือ การเริ่มนับ 150 วันไปสู่การเลือกตั้งก็ต้องรอไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม จึงจะเริ่มนับได้

               แต่การประกาศกฎหมายทั้งสองฉบับลงราชกิจจานุเบกษาจะเป็นเหมือน “บันไดขั้นแรก” ของการก้าวไปสู่การเลือกตั้งอย่างจริงจัง

               “บันไดขั้นที่สอง” คือ การคลายล็อกพรรคการเมือง

               ปัจจุบันพรรคการเมืองถูกล็อกไว้ด้วย 3 คำสั่ง คือประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคประชุม หรือทำกิจกรรมทางการเมือง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ประเด็นสำคัญคือห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ออกมาแก้กฎหมายพรรคการเมือง ล็อกพรรคการเมืองเก่าไว้ว่าห้ามประชุมจนกว่าจะมีการยกเลิก 2 คำสั่งแรกแล้ว

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

               การจะคลายล็อกให้พรรคการเมือง จึงจำเป็นต้องออกเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 ออกมาแก้ไขคำสั่งต่างๆ ข้างต้น

               แม้พรรคการเมืองจะพยายามเรียกร้องให้ คสช. “ปลดล็อก” อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ต้องบอกว่า เป็นไปไม่ได้เลย

               เรื่องหลักๆ ที่ คสช.จะคลายล็อกให้พรรคการเมือง คือ ให้ประชุมพรรคการเมืองเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคได้ และคลายล็อกเรื่องระยะเวลาในการเดินตามกฎ เช่นเรื่องการหาทุนประเดิม 1 ล้านบาท การหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน ภายใน 180 วัน จากเดิมให้เริ่มต้นนับตั้งแต่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา (ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560) ก็ให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่คำสั่งฉบับใหม่ออกมา

               การคลายล็อกทางการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่าจะตามมาหลังการคลายล็อก ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง

 

               เรื่องแรก การประกาศอนาคตทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

               เมื่อวันก่อนนายกฯ บอกชัดเจนว่า หลังมีการคลายล็อกทางการเมืองแล้วจะบอก

               “เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว และเมื่อมีคำสั่ง ม.44 คลายล็อกพรรคการเมืองจากนั้นขั้นตอนต่อไปคือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ที่จะต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ในช่วงนั้นผมจะตัดสินใจว่าจำเป็นต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าจำเป็นแล้วจะเป็นได้อย่างไร ผมจะตัดสินใจอีกครั้งในสถานการณ์ช่วงนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนนำประเทศชาติไปสู่การปฏิรูปและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา

               คำถามใหญ่ คือ “บิ๊กตู่” จะก้าวสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัวหรือไม่ ซึ่งหากดูจาก “ลีลา” ที่ผ่านมาของ “บิ๊กตู่” ส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาจะก้าวสู่การเมืองด้วยการอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ

               แม้ ณ ตอนนี้จะมีการมองตรงกันว่า “บิ๊กตู่” คงอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของ “พรรคพลังประชารัฐ” แต่เอาเข้าจริงก็ต้องบอกว่า ช่วงนี้บิ๊กตู่ “ยังไม่จำเป็น” ที่จะต้องบอกให้ชัดเจนว่าเขาจะเลือกเส้นทางนี้

               อย่างมากหัวหน้า คสช. คงแค่บอกว่า “เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนนำประเทศชาติไปสู่การปฏิรูปและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว หากจำเป็นก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ต่อ แต่จะด้วยกลไกไหนก็ไปว่ากันมา”

               เรื่องที่สองเป็นความเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายของ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นั่นคือ "การเลือกหัวหน้าพรรค”

               ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น “หัวหน้าพรรค” อาจไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาพรรคนี้ให้บทบาทหัวหน้าพรรคเพียงแค่ผู้ทำหน้าที่ทางธุรการเท่านั้น และครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน

               แม้ตามกติกาใหม่กำหนดให้หัวหน้าพรรคต้องอยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง (หากหัวหน้าพรรครายนั้นลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ) เพื่อป้องกันไม่ให้เอา “คนอื่น” มาลงบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง เหมือนกรณีที่เคยเกิดกับพรรคเพื่อไทย ที่ใส่ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง แทนที่จะเป็น “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคตอนนั้น

               แต่จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละพรรคเสนอ “บัญชีรายชื่อคนที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ” พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ ซึ่ง 3 คนนี้จะเป็นใครก็ได้ ขอเพียงแค่เจ้าตัวยินยอมและให้มีชื่ออยู่ได้เพียงพรรคเดียว ชื่อคนที่เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทยจึงคงไม่ใช่คนสำคัญที่สุด

               แตกต่างกับฝั่งประชาธิปัตย์ ที่คนเป็นหัวหน้าพรรคจะมีความสำคัญที่สุด คนที่เป็นหัวหน้าพรรคคือคนที่จะอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง และจะเป็นเบอร์หนึ่งในบัญชีที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ด้วย

               อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีความปั่นป่วนในกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะนอกจาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันที่แสดงตัวชัดเจนว่าจะลงชิงตำแหน่งอีกครั้ง เริ่มมีชื่อใหม่ๆ ที่ชวนให้เกิดความสงสัยถึง “ที่มา” 

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

(อ่านต่อ...เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์)

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

(อ่านต่อ..."อลงกรณ์" ยันไม่ใช่นอมินี คสช.)

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

(อ่านต่อ..."มาร์ค" เล็งแก้ข้อบังคับพรรค เปิดคนนอกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค)

 

               ล่าสุดเป็นคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง คือ “วัชระ เพชรทอง” ที่ออกมาแฉชัดๆ แบบไม่ต้องแปลว่า มีความพยายามที่จะส่ง “นอมินีของ คสช.” เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคแทนอภิสิทธิ์ เพราะอภิสิทธิ์เป็นอุปสรรคสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

               คอการเมืองย่อมรู้ดีว่า เกมการกลับสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าสูตรไหน จำเป็นต้องมีพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนด้วย ขณะที่ “อภิสิทธิ์” แสดงท่าทีตรงกันข้าม

               โดยเฉพาะล่าสุดที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พูดชัดเจนว่า คนที่จะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง ควรจะมาจากฝั่งที่สามารถรวมเสียงในสภาผู้แทนฯ ได้มากที่สุด แถมบอกด้วยว่า “หากนายกฯ ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วม”

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

               ย้ำว่ารวมเสียง ส.ส.ได้มากที่สุด ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. 

               เมื่อเป็นอย่างนี้ เกมในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงจะมีความดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน รวมทั้งในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เปิดให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศได้หยั่งเสียงในการเลือกหัวหน้าพรรคด้วย

               “บันไดขั้นที่สาม” คือ การประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคม ปีหน้า ซึ่งจะออกมาหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม

               ช่วงนี้จะเป็นไฮไลท์ที่สุด เพราะแต่ละพรรคจะต้องเปิดชื่อผู้ที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ออกมา

               ที่ต้องจับตามากที่สุดก็ต้องเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” ที่จำเป็นต้องตัดสินใจและแสดงตัวออกมาว่าจะเลือกทางเดินไหน จะไปอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองใดหรือไม่

               จะเลือกหนทางที่กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งอย่างสง่างามที่สุดเท่าที่จะทำได้ตอนนี้ด้วยการอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค เพื่อเปิดหน้าให้ประชาชนใช้สิทธิเลือก (หรือไม่เลือก) หรือจะรอเป็น “นายกฯ ตาอยู่”

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

(อ่านต่อ...3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่")

 

               ขณะเดียวกันแต่ละพรรคที่จะส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าประกวด ก็ต้องเปิดออกมาในช่วงนั้น แน่นอนไฮไลท์อยู่ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

               สำหรับเพื่อไทย ก็จะเปิดคนที่พรรคยกให้เป็น “ผู้นำ” เป็น “จุดขาย” ของพรรคอย่างแท้จริงออกมา

               ขณะที่ประชาธิปัตย์ แม้ด้วยระบบพรรคที่เข้มแข็งที่คงจะใส่ชื่อหัวหน้าพรรคมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 แต่ก็ยังน่าสนใจว่า จะมีการเสนอชื่อคนที่สองและสามหรือไม่ ถ้ามี จะเป็น “ใคร”

               จะมีชื่อ “ชวน หลีกภัย” ที่คาดกันว่าจะเป็น “นายกฯ ทางเลือก” ของพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีที่ไม่สามารถดัน “อภิสิทธิ์” ขึ้นเป็นนายกฯ ได้หรือไม่

               อีกส่วนที่เกี่ยวพันอยู่ในช่วงนี้คือระยะเวลาไปสู่การเลือกตั้ง ตอนนี้มีการพูดถึงตัวเลข “70 วัน” จากที่รัฐธรรมนูญเขียนเปิดทางไว้ให้เลือกตั้งภายใน 150 วัน

               ด้านหนึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แสดงความไม่เห็นด้วยออกมา

               ถ้าพูดตามข้อเท็จจริงก็ต้องบอกว่า 70 วัน ไม่ถือเป็นระยะเวลาที่สั้นไป ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งไหนที่ใช้เวลาถึง 70 วัน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ในกรณียุบสภา และหากสภาอยู่ครบวาระให้เลือกตั้งภายใน 45 วัน

               แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่อง 70 วัน แต่อยู่ที่การยังไม่ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งได้อย่างอิสระและเท่าเทียมมากกว่า

               ซึ่งหลังจากจะมีการคลายล็อกครั้งแรกเพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมได้หลังกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในสัปดาห์นี้แล้ว ก็จะต้องมีการคลายล็อกให้พรรคการเมืองอีกครั้งในช่วงมีกฤษฎีกาเลือกตั้ง

               ย้ำว่าคงเป็นแค่การคลายล็อก คือ คลายอย่างมีเงื่อนไข มิใช่การปลดล็อกให้มีอิสระเต็มที่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยแสดงท่าทีไว้ชัดเจนแล้วว่า คงไม่ปล่อยให้มีการหาเสียงได้อย่างเสรีเหมือนเมื่อก่อน

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

(อ่านต่อ..."บิ๊กตู่"ลั่นปลดบางล็อค-หวั่นหาเสียงปลุกระดมเผชิญหน้า)

               อาจไม่ได้เห็นการตั้งเวทีปราศรัยหาเสียง รวมทั้งอาจจะเป็นการเลือกตั้งที่คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ยังคงอยู่

               การไม่ทอดเวลาช่วงหาเสียงเลือกตั้งนานนัก รวมทั้งการไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองหาเสียงได้อย่างอิสรเสรีเหมือนเมื่อก่อน คงมีการหยิบยกเรื่อง “ความสงบเรียบร้อยของประเทศ” มาเป็นเหตุผล แต่ในอีกด้านก็ต้องบอกว่า เพื่อปิดช่องทางโจมตี คสช.

               บรรยากาศช่วงหาเสียงเลือกตั้งอาจจะเหมือนช่วงการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือช่วงการเลือกตั้ง ส.ว. คือ ให้ทำได้เท่าที่อนุญาต ให้หาเสียงได้ตามที่กำหนด

               "การหาเสียงจะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป การปลดล็อกมันต้องเป็นแบบนั้น บางอย่างต้องขอ บางอย่างไม่ต้องขอ ซึ่งต้องหาวิธีในการกำหนดให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ก่อนจะไปถึงประชาธิปไตยตีกันเละ” พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

(อ่านต่อ...ยังไงกันแน่ !! "ปลดล็อก" หรือ "ล็อกเพิ่ม" ??)

 

               ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยในสายตาของ คสช. ก็ก้าวไปสู่ “บันไดขั้นสุดท้าย” คือ การเลือกตั้ง ซึ่งเบื้องต้นปักหมุดไว้ที่ 4 ตัวเลือก คือ 24 กุมภาพันธ์, 31 มีนาคม, 28 เมษายน และ 5 พฤษภาคม

 

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง

               อุณหภูมิทางการเมืองร้อนขึ้นแล้ว !!

 

===================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

(12 ก.ย. - ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายแล้ว...คลิกอ่านต่อ)

เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง