คอลัมนิสต์

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ "บิ๊กตู่"

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ "บิ๊กตู่"

27 ก.ย. 2561

ทั้งที่มาและอำนาจ... เป็นการออกแบบให้ "วุฒิสภา" ชุดแรก เป็น "สภาวิเศษ" เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ "ไม่ให้เสียของ"

 

                ขณะที่ต้องขับเคี่ยวอย่างหนัก เพื่อชิงที่นั่ง ส.ส. จากเค้กทั้งหมด 500 ที่นั่ง “บิ๊กตู่” ก็มี “มือ” จาก 250 ส.ว.ไว้เป็นกองหนุนแล้ว

                ตอนนี้ กกต.กำลังเดินหน้าดำเนินการเพื่อเลือก ส.ว.ชุดแรกแล้ว โดยระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก ส.ว. ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

(อ่านละเอียด คลิกที่นี่)

 

                ทวนความจำกันก่อนว่า ส.ว.ชุดแรกนี้มีจำนวนมากกว่า ส.ว.ปกติที่กำหนดไว้ในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญว่าให้มี ส.ว. 200 คน แต่ ส.ว.ชุดแรกบทเฉพาะกาลกำหนดให้มี 250 คน

                ที่ให้มี 250 คน เพราะเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. เป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีการเพิ่ม “อำนาจพิเศษ” ให้ ส.ว.ชุดแรกอีกหลายประการ

 

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

(อ่านต่อ...คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่")

 

                ส.ว. 250 คสช.คุมเบ็ดเสร็จ

                นอกจากจำนวนที่มากขึ้น ที่มาของ ส.ว.ชุดแรกก็ไม่ได้มาตามขั้นตอนปกติคือการเลือกกันเอง แต่ให้มาจากการเลือกของ คสช.

                ถึงแม้จะมี 50 คนใน 250 คน มีต้นทางมาจากกระบวนการเลือกกันเองให้ได้ 200 คน ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” ออกแบบไว้ แต่ปลายทางก็ให้ คสช.เป็นคนเลือกออกมา 50 คน นอกจากนี้ยังมีการ “ปรับแบบ” ให้กระบวนการเลือกกันเองต่างไปจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ เพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่า 50 คน ที่เลือกมาจะเป็น “ผู้สนับสนุน คสช."

                กระบวนการเลือกกันเองส่วนนี้ ถูกแก้ไขในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) 1 ในแม่น้ำ 5 สายของ คสช. โดยแก้ไขไปใน 3 ส่วนคือ

                1.ลดจำนวนกลุ่มอาชีพในการสมัครเป็น ส.ว. จากร่างเดิมของมีชัย ให้มี 20 กลุ่ม เหลือเพียงครึ่งเดียวคือ 10 กลุ่ม

                ทาง สนช.พยายามอธิบายว่า การลดกลุ่มไม่มีผลอะไร เพราะเป็นแค่การรวมกลุ่ม ทุกกลุ่มก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ในความเป็นจริงต้องบอกว่ามีผลอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อไปดูรายละเอียดการรวมกลุ่ม มี 2 กลุ่มที่มีการคงไว้เหมือนเดิม ไม่ได้ไปรวมกับกลุ่มอื่น คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง และกลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้ที่อยู่ใน 2 กลุ่มนี้ก็คือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นหลัก

                ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ถูกรวมเข้ามาไว้ด้วยกัน หลายกลุ่มอาชีพเกิดจากการรวมของ 3 กลุ่มอาชีพเดิม และมีกลุ่มหนึ่งที่มาจากกลุ่มอาชีพเดิมถึง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 7 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบอุตสาหกรรม

                ถามว่ารวมกลุ่มแล้วผลจะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ จะทำให้สัดส่วนของกลุ่มอาชีพที่ถูกรวมลดไปทันที เปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มที่ 1 และ 2 กับ กลุ่มที่ 7 ในขณะที่กลุ่ม 1 และ 2 สามารถได้รับคัดเลือกเข้ามาในขั้นสุดท้ายก่อน คสช.เลือก ถึงกลุ่มละ 20 คน (มาจาก 2 ทาง ซึ่งจะอธิบายในข้อต่อไป) แต่สำหรับกลุ่มที่ 7 ในจำนวน 20 คนเท่ากันต้องถูกหารจาก 4 กลุ่มอาชีพ

                2.เพิ่มช่องทางในการสมัคร ส.ว. จากเดิมให้แต่ละคนสมัครเข้ามาเอง เป็นให้องค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเป็นผู้เสนอเข้ามาด้วย 

                ในส่วนองค์กรที่มีสิทธิแนะนำบุคคลเพื่อรับเลือกเป็น ส.ว.นี้ให้มีอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี โดย กกต.จะเปิดให้มาลงทะเบียนเร็วๆ นี้

                ช่องทางการสมัครโดยมีองค์กรรับรองนี้ จะช่วยให้ คสช.รู้ที่มาที่ไปของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นตัวเลือกได้ เพื่อแก้ความกังวลของ คสช. ที่ว่า หากเปิดให้มีเฉพาะการสมัครเข้ามาเองโดยอิสระ คสช.ก็จะไม่รู้ที่มาที่ไปของคนเหล่านั้น ฝ่ายการเมืองอาจส่งตัวแทนของตัวเองเข้ามา และอาจจะมีการบล็อกโหวตกันเข้ามา

                ทั้งนี้ ในขั้นตอนการเลือกของ คสช.ไม่ได้กำหนดไว้ว่า ในจำนวน 50 คน ที่ คสช.เลือกจากบัญชีรายชื่อ 200 คน ซึ่งมาจาก 10 กลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพละ 2 ช่องทาง รวมเป็นกลุ่มอาชีพละ 20 คน ต้องมาจากกลุ่มละเท่ากัน นั่นคือ คสช.จะเลือกกลุ่มไหนช่องทางไหนมากกว่าก็ได้ หรือจะเลือกจากกลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 ทั้งหมด 40 คน แล้วไปเลือกจากกลุ่มอื่นๆ อีก 10 คนก็ไม่ได้มีข้อห้ามไว้

                3.ยกเลิกระบบการเลือกไขว้กลุ่ม ซึ่งทางกรธ.บอกว่าดีไซน์ไว้เพื่อป้องกันการบล็อกโหวต แต่ทาง สนช.มองว่าการให้ไปเลือกนอกกลุ่ม กลายเป็นไปเลือกคนที่ไม่รู้จัก แบบนี้จะเลือกได้อย่างไร อย่างไรก็ตามการยกเลิกการเลือกไขว้กลุ่มไม่น่าส่งผลต่อเรื่องกระบวนการเลือกเพื่อ “ควบคุม” ส.ว.นัก

                ส่วน ส.ว. กลุ่มใหญ่อีก 200 คน นั้น ดูจากที่มา คสช.น่าจะยิ่งคุมได้มากกว่ากลุ่มแรก  

                ในส่วน 194 คนแรก มาจากกระบวนการสรรหาที่ให้มีคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.เป็นผู้ตั้งขึ้น สรรหาผู้ควรเป็น ส.ว. มาไม่เกิน 400 คน แล้ว คสช.เลือกเหลือ 194 คน ส่วนอีก 6 คนที่เหลือ ให้มาโดยตำแหน่ง คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งสาม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

  

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

 

                เพิ่ม 3 อำนาจพิเศษให้วุฒิสภาชุดแรก

                นอกจากการออกแบบให้มี ส.ว.มากขึ้น และมีที่มาที่ คสช.สามารถคุมได้แบบเบ็ดเสร็จแล้ว ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังให้อำนาจพิเศษกับวุฒิสภา ส.ว. ชุดแรกอีก 3 เรื่องใหญ่

                หนึ่ง อำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ กับ ส.ส. (รัฐธรรมนูญมาตรา 272)

                สอง อำนาจในการร่วมพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ (รัฐธรรมนูญมาตรา 270)

                สาม อำนาจในการยับยั้งกฎหมาย “นิรโทษกรรม” (รัฐธรรมนูญมาตรา 271)

                ทั้ง 3 อำนาจนี้เป็นการออกแบบให้วุฒิสภาชุดแรกมีความพิเศษ คือ หากฝ่าย คสช.เป็นรัฐบาล วุฒิสภาชุดนี้ก็จะทำหน้าที่ค้ำยัน “บัลลังก์” ของรัฐบาลให้มั่นคง แต่หากสถานการณ์พลิกผัน “ฝ่ายทักษิณ” ชนะถล่มทลายได้มาเป็นรัฐบาล วุฒิสภาชุดนี้ก็จะคอย “ถ่วงดุล” ไม่ให้รัฐบาลทำอะไรได้สะดวก หรือที่ฝ่ายเพื่อไทยเรียกว่า “คอยสกัดรัฐบาล” 

                ประเด็นแรก เมื่อ ส.ว.สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ หากพรรคที่ได้อันดับหนึ่งไม่สามารถรวมเสียงได้เกินครึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 376 เสียง จึงจะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

                ตอนนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จึงพยายามตอกย้ำในประเด็นว่า หากพรรคไหนสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินครึ่ง คือเกิน 250 เสียง ก็ควรเปิดทางให้ฝ่ายนั้นเป็นรัฐบาล ส.ว.ไม่ควรฝืนความต้องการของประชาชน

                แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ไม่มีทางที่ ส.ว.จะไปยกมือสนับสนุนคนที่ไม่ได้มาจาก “พรรค คสช.” มาเป็นนายกฯ แน่นอน

                และต้องเข้าใจด้วยว่า หากยังเลือกนายกฯ ไม่ได้ ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องเลือกนายกฯ ภายใน 30 วัน เหมือนที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้เคยกำหนดไว้ ก็หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเป็นนายกฯ ต่อไปได้เรื่อยๆ แถมเป็นนายกฯ ที่ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ด้วย

                เรียกว่า ถ้าพรรค คสช.ไม่ไปตั้งรัฐบาลแข่ง และ ส.ว.อยู่เฉยๆ คสช.ก็ยังได้เปรียบ

                สภาพนี้อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่ “ฝั่งตรงข้าม คสช.” ได้ ส.ส.เกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ คือ เกิน 250 คน แต่ไม่เกินครึ่งของรัฐสภา คือไม่เกิน 375 คน

                ประเด็นที่สอง การกำหนดให้กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศต้องพิจารณาโดยที่ประชุมร่วมรัฐสภา แทนที่จะพิจารณาโดยสภาผู้แทน ดังนั้นในประเด็นที่ว่าหากฝั่ง คสช.ได้เป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำจะทำงานสภาลำบาก ก็อาจจะไม่ใช่แล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องการออกกฎหมาย เพราะสามารถจะตีความให้กฎหมายทุกฉบับที่เสนอเข้าสภาเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศได้ทั้งหมดเพื่อดึงให้วุฒิสภามาร่วมพิจารณาด้วย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้กว้างมาก

                แม้แต่กฎหมายวิธีงบประมาณ ก็อาจจะบอกว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศได้

                สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกังวล น่าจะมีแค่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่วุฒิสภาเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้ ซึ่งความจริงตอนแรกฝ่าย คสช.มีแนวคิดจะให้อำนาจนี้กับวุฒิสภาด้วย แต่ยังเกรงใจเสียงวิจารณ์จึงยอมถอยไป

 

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

(อ่านต่อ...เปิดสูตรส.ว.สรรหาเลือกนายกฯ-อภิปรายไม่ไว้วางใจ)

 

                ขณะที่ หากฝั่งทักษิณ ได้มาเป็นรัฐบาล “วุฒิสภา” จะแปรสภาพเป็นฝ่ายถ่วงดุลรัฐบาลขึ้นมาทันที

                หากรัฐบาลเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา ส.ว.สามารถแย้งว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเพื่อวุฒิสภาจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายได้ หากเห็นไม่ตรงกันก็ให้ “คณะกรรมการร่วม” ซึ่งมีประธานวุฒิสภาเป็นประธานเป็นผู้ชี้ขาด

                และถ้า ส.ว.เข้าร่วมพิจารณากฎหมายด้วย หาก ส.ว.ไปร่วมกับฝ่ายค้านก็อาจจะคว่ำกฎหมายของรัฐบาลได้

                ประเด็นที่สาม เรื่องอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับนิรโทษกรรมก็เช่นกัน หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เป็นรัฐบาลก็คงไม่มีประเด็น แต่ถ้าฝ่ายทักษิณได้เป็นรัฐบาล ก็จะไม่สามารถทำอย่างที่เคยทำเมื่อครั้งเสนอ “กฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง” เพราะวุฒิสภาต้องร่วมพิจารณาด้วย และเสียงที่จะผ่านต้องใช้มากถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ 500 คน

                เป้าหมายของฝ่าย คสช.ตอนนี้จึงพยายามทำให้ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ได้ ส.ส.ไม่ถึง 250 และดัน “พรรคพลังประชารัฐ” ที่คาดว่าจะเป็นพรรคที่เสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ให้ขึ้นมาเป็นพรรคอันดับสอง

 

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

(อ่านต่อ..."มาร์ค"ไล่ส่งใครหนุน"บิ๊กตู่"อย่าอยู่ปชป.)

 

                ถ้าได้ตามเป้า “ลุงตู่” ก็จะได้กลับมาแบบเท่ๆ

                แต่ถึงไม่ได้ตามเป้า ก็ต้องบอกว่าในเกมชิงอำนาจครั้งนี้ คสช.ก็ยังได้เปรียบ เพราะนอกจากไพ่ใบอื่นที่ยังมีตุนอยู่ในกระเป๋า ก็มีการออกแบบ “วุฒิสภา” ให้เป็น “สภาวิเศษ” เพื่อสานเจตนารมณ์ “ไม่ให้เสียของ” ไว้ให้ด้วย !!

 

================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

 

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

(อ่านต่อ...เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง)

 

เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ \"บิ๊กตู่\"

 

(อ่านต่อ...เอกซเรย์กระดานการเมือง สูตรไหน "ใคร" นายกฯ ?)