คอลัมนิสต์

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ ลำเลียง 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          ทั่วโลกต่างดีใจและจดจำกับผลสำเร็จของปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต นักฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ช ทีมหมูป่า อะคาเดมี เชียงราย ที่ติดอยู่ในถ้ำ ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่แม้จะยากเย็นแสนเข็ญ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ทั้งจากการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ เอกชน และนานาชาติ ตลอดจนความช่วยเหลือจากสุดยอดฝีมือจากนานาประเทศทั้ง อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น ลาว และอีกหลายชาติ รวม 25 ประเทศ

 

 

          ในห้วงระยะเวลา 18 วัน จากวันที่ 23 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม 2561 ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนเข้าช่วยเหลือ ท่ามกลางสถานการณ์ที่บีบบังคับ อีกทั้งภัยธรรมชาติที่ฝนเทกระหน่ำ ส่งผลให้ระดับน้ำภายในถ้ำสูงขึ้น ทำให้ปฏิบัติการยิ่งยากขึ้นไปอีก ขณะที่สภาพร่างกายของ 13 ชีวิต และผู้ที่เข้าช่วยเหลือเริ่มอิดโรย


          การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก ไหนจะต้องผจญกับมวลน้ำภายในถ้ำที่เชี่ยวกราก ท่ามกลางสายฝนกระหน่ำเป็นระลอกๆ เส้นทางภายในถ้ำแคบมาก อีกทั้งหินงอก หินย้อย ที่ในยามปกติดูสวยงาม ท้าทายให้เข้าไปชม แต่ในยามนี้ธรรมชาติที่งดงามกลับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง

 

 

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ ลำเลียง 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำ

 


          สถานการณ์เริ่มวิกฤติ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่า จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ทำให้ฝ่ายปฏิบัติการต้องเร่งตัดสินใจจบภารกิจนี้ให้ได้ก่อนฝนมา ไม่เช่นนั้นอาจประสบปัญหาน้ำท่วมขังภายในถ้ำ นอกจาก 13 ชีวิตที่จะเป็นอันตราย ชีวิตของผู้ช่วยเหลือทั้งหมด ก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายเช่นกัน


          ด้วยสายใยแห่งมนุษยชาติ ความสูญเสียที่กลายเป็นพลังผลักดัน ในที่สุดแผนการนำพา 13 ชีวิต สมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมี เชียงราย ก็ประสบความสำเร็จ ภารกิจลุล่วง ส่งทุกคนกลับคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัว




          เรื่องราวดังกล่าว เริ่มจากวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน นักฟุตบอลสมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมี เชียงราย พากันไปฝึกซ้อมตามปกติ ที่สนามฟุตบอลใน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากฝึกซ้อมเสร็จ นายเอกพล จันทะวงษ์ อายุ 25 ปี หรือโค้ชเอก ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนของทีม ก็พาเด็กๆ 12 ชีวิต อายุระหว่าง 11-16 ปี ปั่นจักรยานมุ่งหน้าไปยังถ้ำหลวง ซึ่งนอกเหนือกจากไปเที่ยวกันแล้ว ยังเพื่อฉลองวันคล้ายวันเกิดให้แก่ นายพีรพัฒน์ สมเพียงใจ หรือน้องไนท์ หนึ่งในสมาชิกของทีม


          ก่อนเข้าไปภายในถ้ำ พวกเขาวางกระเป๋าและจอดรถจักรยานไว้ตรงทางเข้าถ้ำ พกเพียงไฟฉายเข้าไปด้วยเท่านั้น เพราะตั้งใจว่า จะอยู่ภายในถ้ำเพียง 1 ชั่วโมงแต่ฝนที่ตกอย่างหนักในช่วงเวลานั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมปิดปากถ้ำจนทำให้พวกเขาต้องติดอยู่ภายใน

 

 

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ ลำเลียง 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำ


          นอกจากโค้ชเอก กับ น้องไนท์ อีก 11 ชีวิต ก็คือ ด.ช.ประจักษ์ สุธรรม หรือ น้องโน้ต ด.ช.ณัฐวุฒิ ทาคำทรง หรือ น้องเติ้ล นายพิพัฒน์ โพธิ หรือ น้องนิค ด.ช.ภาณุมาศ แสงดี หรือ มิกซ์ ด.ช.ดวงเพชร พรหมเทพ หรือ น้องดอม ด.ช.ชนินท์ วิบูลย์รุ่งเรือง หรือ น้องไตตั้น ด.ช.เอกรัฐ วงค์สุขจันทร์ หรือ น้องบิว ด.ช.สมพงศ์ ใจวงศ์ หรือ น้องพงศ์ นายพรชัย คำหลวง หรือ น้องตี๋ ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม หรือ น้องมาร์ค และ ด.ช.อดุลย์ สามออน หรือ น้องดุล


          กระทั่งเวลาผ่านไปจนถึงบ่ายสามโมง เจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เห็นรถจักรยานจอดอยู่ 11 คัน บริเวณทางเข้าถ้ำหลวง ก่อนจะทราบจากผู้ปกครองคนหนึ่งว่า ติดต่อลูกชายไม่ได้


          ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ปกครองต่างวิตกกังวล พยายามทุกวิถีทางที่จะตามหาลูกให้พบ จนกระทั่งประมาณ 22.00 น. ทีมกู้ภัยของมูลนิธิสยามรวมใจแม่สาย และศูนย์วิทยุ 191 สภ.แม่สาย ได้รับแจ้งเหตุ มีเด็กเข้าไปในถ้ำหลวงออกมาไม่ได้ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ

 

 

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ ลำเลียง 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำ

 


          เวลา 01.00 น.วันที่ 24 มิถุนายน เริ่มปฏิบัติการค้นหาภายในถ้ำเป็นครั้งแรก โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในขณะนั้น อำนวยการปฏิบัติการ จนกระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. ทีมค้นหารายงานว่า พบรองเท้าแตะ และกระเป๋าอยู่ที่พื้นภายในถ้ำ ขณะที่น้ำภายในถ้ำเริ่มสูง จึงต้องยุติการค้นหาชั่วคราว


          ต่อมาเวลา 07.30 น. นายเวิร์น อันสเวิร์ธ ชาวอังกฤษ ผู้ที่เคยสำรวจถ้ำ และนายกมล คุณงามความดี อดีตเจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวงฯ ปัจจุบันเป็น รปภ.โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ จ.เชียงราย และทีมค้นหาพากันเดินเข้าไปในถ้ำ และพบว่าระดับน้ำภายในถ้ำสูงขึ้นกว่าเดิม ก่อนจะออกมาแจ้งว่ามีกระแสน้ำแรงที่ไหลมาจากผาหมีจำนวนมาก ไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน และกระสอบทรายก็กั้นน้ำไม่อยู่ แต่เชื่อมั่นว่าทุกคนยังมีชีวิตอยู่ เพราะด้านในพอมีพื้นที่ให้อาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย


          จากนั้นในช่วงบ่ายโมงเจ้าหน้าที่พยายามสูบน้ำออก แต่ก็ต้องยกเลิกเนื่องจากปริมาณน้ำมีมาก จึงต้องประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม ได้ส่งทีมประดาน้ำชุดแรกเข้าไป และพบรอยนิ้วมือคนที่ผนังถ้ำ


          วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการรอคอยอย่างใจจดใจจ่อของผู้ปกครอง จนกระทั่งวันที่ 2 กรกฎาคม เวลา 21.38 น. นักประดาน้ำชาวอังกฤษ 2 คน “ริชาร์ด สแตนตัน” และ “จอห์น โวลันเธน” ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นชุดปฏิบัติการแนวหน้าเพื่อวางเส้นนำทางในถ้ำสำหรับทีมซีล และทีมกู้ภัยนานาชาติคนอื่นๆ หลังจากวางเส้นนำทางจนสุดปลายเชือก จึงโผล่เหนือน้ำก็พบทั้ง 13 ชีวิตรอคอยอยู่บนเนินนมสาว

 

 

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ ลำเลียง 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำ

 


          คลิปวิดีโอการพบผู้รอดชีวิต ที่ถ่ายโดยนักประดาน้ำชาวอังกฤษ ได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ แสดงให้เห็นว่า เด็กๆ ไม่รู้ว่าติดอยู่ในถ้ำนานแล้วเท่าใด จากที่เด็กคนหนึ่งถามว่า วันนี้คือวันอะไร


          หลังจากนั้น ปฏิบัติการค้นหาวางแผนนำพา 13 ชีวิตออกจากถ้ำ ว่าจะใช้วิธีฝึกให้เด็กๆ ใช้อุปกรณ์ดำน้ำ เพราะทั้ง 13 ชีวิตไม่เคยมีประสบการณ์ดำน้ำมาก่อน หรือรออีก 4 เดือน ให้ระดับน้ำลดลง ซึ่งประการหลัง อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กๆ และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคได้


          นอกจากนี้ยังมีการสำรวจทางน้ำไหล และพบว่า จุดที่เด็กๆ อยู่นั้นห่างจากปากถ้ำ 3.75 กิโลเมตร เส้นทางที่จะเข้าถึงมีน้ำท่วมขังหลายจุด บางช่วงแคบมาก บางช่วงกระแสน้ำไหลเชี่ยว การเดินทางเข้าถ้ำต้องใช้เวลา 6 ชั่วโมง ออกจากถ้ำใช้เวลา 5 ชั่วโมง

 

 

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ ลำเลียง 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำ

 


          การเจาะถ้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากถ้ำ และเพื่อเปิดช่องทางสำหรับการพาเด็กๆ ออกจากถ้ำ แต่ก็ไม่พบจุดที่เหมาะสมกับการเจาะถ้ำ และการขุดเจาะอาจเป็นไปด้วยความยาก เนื่องจากเต็มไปด้วยหินปูน และต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ขณะเดียวกันมีการสูบน้ำออกจากถ้ำและเปลี่ยนทางน้ำไหล ตลอดจนค้นหาโพรงที่อยู่เหนือถ้ำ


          ในที่สุดแผนปฏิบัติการพา 13 ชีวิต ออกจากถ้ำ ใช้วิธีดำน้ำเพียงอย่างเดียว ด้วยการระดมนักดำน้ำมืออาชีพจากทั่วโลกมาร่วมปฏิบัติภารกิจนี้ โดยเตรียมความพร้อมด้วยการนำขวดอากาศเข้าไปภายในถ้ำ และวางตามแนวเส้นทางดำน้ำทุกๆ 25 เมตร รวมทั้งใช้เชือกขึงนำทาง


          วันที่ 6 กรกฎาคม นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ จ่าเอกสมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตหน่วยซีลที่รับภารกิจให้ลำเลียงขวดอากาศจากโถงสามภายในถ้ำหลวง ไปยังจุดต่างๆ บริเวณสามแยก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม โดยเริ่มดำน้ำตั้งแต่เวลา 20.37 น. เมื่อเสร็จภารกิจขณะดำน้ำกลับได้หมดสติในน้ำ คู่ดำน้ำได้ทำการปฐมพยาบาล แต่ไม่สำเร็จ จึงนำกลับมายังโถงสามเพื่อปฐมพยาบาลอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้สติและเสียชีวิตลงเวลาประมาณ 01.00 น.

 

 

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ ลำเลียง 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำ

 


          ในที่สุด ช่วงเย็นวันที่ 7 กรกฎาคม นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ผบ.ศอร.) ประกาศพื้นที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ ก่อนที่เช้าวันที่ 8 กรกฎาคม นักประดาน้ำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 13 คน พร้อมหน่วยซีล 5 คน และเจ้าหน้าที่อีกร่วมร้อยชีวิต ที่ปฏิบัติการอยู่ในถ้ำ โดยใช้นักดำน้ำ 2 คน ประกบกับเด็ก 1 คน นำทีมหมูป่าออกจากถ้ำ


          โดยมี นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์และนักสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลีย อายุ 53 ปี ร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติการเริ่มด้วยให้ยาที่ทำให้เด็กอยู่ในอาการสงบลง แล้วใช้ฟูลเฟซมาสก์ หรือหน้ากากเต็มหน้า สวมชุดเวตสูท มีนักดำน้ำ 2 คนประคองออกมา จนกระทั่งถึงโถง 3 เจ้าหน้าที่นำลำเลียงใส่เปลกู้ภัย พาออกมายังปากถ้ำ และแล้ววินาทีแห่งความปลื้มปีติของคนทั้งโลกก็ปรากฏขึ้น เมื่อสมาชิกทีมหมูป่าคนแรกออกพ้นถ้ำได้ในเวลา 17.40 น.


          ข้อมูลจากญาติของเด็กที่สนทนากับลูกหลานเมื่อออกมาบอกว่า เมื่อเข้าไปได้สักพักก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันภายในถ้ำ ทำให้พวกเขาต้องถอยร่นหนีน้ำเข้าไปลึกภายในถ้ำมากยิ่งขึ้น


          หลังจากนั้นในวันที่ 10 กรกฎาคม ทุกคนก็ออกจากถ้ำมาได้อย่างปลอดภัย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ