คอลัมนิสต์

พปชร.ต้องระวัง"งูเห่า"ใน"พรรคร่วม"มากกว่าพรรคตัวเอง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภา ถึงแม้ว่า จะเป็นไปตามเป้าที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ได้ตกลงกับบรรดาพรรคร่วมไว้ก็ตาม

 


          แต่ขั้นตอนระหว่างที่เดินหน้าโหวตนั้น ดันเกิดอาการสะดุดจากคนในกันเอง ด้วยเหตุผลต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี ที่บางกระทรวงถูกประเคนให้ “พรรคประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” แบบไม่ปรึกษากันก่อน 

 

 

          แต่สุดท้าย การจัดการภายในของ “พลังประชารัฐ” ก็ได้ข้อยุติ เมื่อมีคนบางคนถูกส่งมาเพื่อภารกิจพิเศษ ให้กำราบศึกในจนได้ข้อยุติ


          ผลการโหวต นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ชนะนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ จากพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 258 ต่อ 235


          ขณะที่ การโหวตเลือกรองประธานสภา คนที่ 1 นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ชนะ น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ด้วยคะแนน 248 ต่อ 246

 

 

 

พปชร.ต้องระวัง"งูเห่า"ใน"พรรคร่วม"มากกว่าพรรคตัวเอง!

 

 


          ส่วนการโหวตรองประธานสภา คนที่ 2 นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ชนะ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างมากกว่าการโหวตประธานและรองประธานสภา คนที่ 1 ด้วยคะแนน 256 ต่อ 239


          หากดูจากการรวมเสียงของ “พลังประชารัฐ” และบรรดาพรรคร่วมก่อนหน้านี้มีรวม 253 เสียง ส่วนอีกฟากฝั่งที่นำโดย “พรรคเพื่อไทย” รวมเสียงได้ 245 เสียง


 


 

          ดังนั้น หลายคนจึงปักใจเชื่อว่า การโหวตเลือกประมุขและรองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ มี “งูเห่า” จากทั้งขั้ว “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” เรียกว่าเสียงไม่นิ่งสวิงไปมา จนหลายคนสับสน ไม่รู้ว่าเป็นแท็กติกให้จับงูเห่าไม่ได้หรือไม่


          อย่างไรก็ตาม หากดูกันดีๆ “งูเห่า” จากขั้ว “พลังประชารัฐ” รวมถึงพรรคต่างๆ นั้นมีอยู่จริง แม้แกนนำ “พลังประชารัฐ” บางคนจะออกมาเปิดเผยหลังการโหวตว่า ไม่กังวล แม้การโหวตนายสุชาติ เป็นรองประธานสภา คนที่ 1 ชนะด้วยคะแนนเฉียดฉิวเพียง 2 เสียงเท่านั้น 

 

 

 

พปชร.ต้องระวัง"งูเห่า"ใน"พรรคร่วม"มากกว่าพรรคตัวเอง!

 



          ด่านต่อไปจากนี้คือ การฟอร์มเสียง พรรคที่คาดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ทั้งกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคเล็กๆ คือ เกมที่ต้องชิงไหวพริบ และฝ่าด่านสุดเขี้ยวจากบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาลให้ได้ 


          สำหรับทางป้องกันในอนาคต  หนึ่งในแกนนำพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า ต่อไปการลงมติต่างๆ ต้องวางแผนให้เข้มข้นว่าจะวางหมากแก้เกมอย่างไร เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำ ต้องแก้เกมนาทีต่อนาที และเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้สามารถทำให้อยู่ในระบบได้ด้วยการพูดคุยกับพรรคร่วมให้มากขึ้น 


          ส่วนการยุบสภา ที่มองกันว่าเป็นการแก้เผ็ดนักการเมืองพรรคร่วมที่เริ่มฮึดฮัด แม้จะมีการระบุกันว่าเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่จะใช้ แต่หากสถานการณ์บีบคั้นมากๆ “บิ๊กตู่” อาจดัดหลัง “พวกเขี้ยวลากดิน” ด้วยการยุบสภาเป็นทางเลือกแรกก็ได้ หรือมีใครอยากให้มีปฏิวัติอีก !!!

 


          ทั้งนี้ มีรายงานเปิดเผยว่า ในการโหวตประธานและรองประธานสภานั้น มีความพยายามจากทั้ง 2 ฝ่ายในการดึงเสียงสนับสนุนจากขั้วตรงข้ามให้มาโหวตหนุนแคนดิเดตของฝั่งตัวเอง และเป็นที่ชัดเจนว่า คะแนนของ “ชวน” ที่ได้ 258 นั้น มี “งูเห่า” จากขั้วที่จับกับ “เพื่อไทย” ถูกกระชากมาได้จากตัวเลขอย่างที่เห็น


          ส่วนการโหวต “สุชาติ” มีรายงานข่าวระบุว่า มีคนในประชาธิปัตย์บางส่วนที่ไม่โหวตให้ “สุชาติ” ด้วยเหตุผลจากเรื่องเก่า อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ส.ป.ก.4-01” เมื่อครั้งรัฐบาลชวน หลีกภัย โดย “สุชาติ” ในขณะนั้น เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 16 ที่ซักฟอกรัฐบาล มีการนำหลักฐานต่างๆ นานาออกมาประกอบ โดยหลักฐานเด็ดคือภาพกระจงในพื้นที่ป่า จนทำให้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้นต้องลาออก ก่อนจะยุบสภาในเวลาต่อมา การโหวตครั้งนี้ เหมือนเป็นการถอนแค้น “สุชาติ” อย่างไรอย่างนั้น

 

 

พปชร.ต้องระวัง"งูเห่า"ใน"พรรคร่วม"มากกว่าพรรคตัวเอง!

 


          นอกจากนั้น เสียงบางส่วนที่หายไปอยู่กับคู่แข่งของ “สุชาติ” ก็มีเสียงเล่าอ้างกันมาว่า เป็นเพราะ ส.ส.ส่วนหนึ่งของพรรคร่วมอีกพรรค ที่ตัดสินใจโหวตสวน “พลังประชารัฐ” ด้วยเหตุและปัจจัยบางอย่าง จนฝ่าย “พลังประชารัฐ” เกือบเอาตัวไม่รอด ยังดีที่ทีมงานหูตาไว สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไว้ได้


          ดังนั้น หากมีการจับมือตั้ง “รัฐบาลร่วมประยุทธ์ 1” ได้แล้ว สิ่งที่ต้องระวัง ไม่เฉพาะ “งูเห่า” ใน “พลังประชารัฐ” แต่ต้องระวัง “งูเห่า” ในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่าด้วยซ้ำ


          ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” เชี่ยวชาญนัก โดยเฉพาะ “ประชาธิปัตย์” ที่ทะนงใน “ความเขี้ยว” มานานหลายชั่วอายุคน ที่แม้จะเป็นขาลงคว้ามาได้เพียง 52 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ความเก๋าเกมสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส บริหารจัดการเสียงในมืออย่างมีประสิทธิภาพ จนได้ในสิ่งที่ต้องการ ประเดิมด้วยตำแหน่ง "ประธานสภา” และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เก้าอี้กระทรวงสำคัญ ก็จะได้ตามมา


          ดูอย่างวันนี้ที่ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อุตส่าห์ให้เกียรติขนคณะไปส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลถึงที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และก่อนหน้านี้ทางพรรคพลังประชารัฐก็ยอมยกเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเก้าอี้สำคัญให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว ใครๆ ก็นึกว่าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์คงตกลงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแน่ 

 


          แต่เอาเข้าจริงพรรคประชาธิปัตย์ก็ยัง “แทงกั๊ก” ไม่ยอมตกลงเข้าร่วมรัฐบาลง่ายๆ โดยบอกว่า การร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ยังต้องรอเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรคที่จะมีมติต่อไป


          “ต้องตอบสมาชิกพรรคกับคนทั้งหมดได้ว่า หากเราจะร่วมรัฐบาลเพราะอะไร หรือถ้าจะไม่ร่วมเพราะอะไร ดังนั้นขอให้รอหน่อย รอให้รอบคอบ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ 


          นอกจากนี้ประชาธิปัตย์ยังเสนอต่อพรรคพลังประชารัฐ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย 


          ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี หากร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐ เองไม่ต้องการยกให้ เพราะเป็นกระทรวงที่ทางพรรคพลังประชารัฐต้องการใช้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ อีกทั้งเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เก้าอี้สำคัญไปแล้วคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยแกนนำพรรคพลังประชารัฐยืนยันว่ากระทรวงด้านเศรษฐกิจควรอยู่ในการดูแลของพรรคพลังประชารัฐ จึงเสนอเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ กลับคืน เป็นการพบกันครึ่งทาง 


          วันนี้หลังการส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลเสร็จสิ้นลง ยังมี “วัชระ เพชรทอง”  อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถือกระดาษขนาด A4 พิมพ์ข้อความ “ไม่เอาประยุทธ์ เป็นนายก” มายืนบริเวณหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม หน้าทางเข้าอาคารพรรคประชาธิปัตย์ โดย “วัชระ” บอกว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากทั่วประเทศให้ตนมาส่งสาร แสดงเจตจำนงของสมาชิกพรรคที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

 

 

พปชร.ต้องระวัง"งูเห่า"ใน"พรรคร่วม"มากกว่าพรรคตัวเอง!

 


          อาจเป็นเพราะ “ประชาธิปัตย์” ไม่มีอะไรจะเสีย ไม่เคยหวั่นต้องเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น เมื่อมีจังหวะเหมาะๆ เลยเรียกอะไรไปเกินตัว แล้วก็มักจะได้ตามนั้น


          และถ้าต่อไป “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งวันนี้ได้ตอบตกลงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแล้ว  และที่ผ่านมากว่าจะตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ  ก็ดึงเกมอยู่นานเหมือนกัน โดยอ้างว่า ต้องรอฟังเสียงประชาชนก่อน  ดังนั้นดูเหมือน “ภูมิใจไทย” ก็กำลังจะเดินตามรอยนั้นให้เห็น


          ต่อไปหาก “พลังประชารัฐ” ไม่ตามใจ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” อย่างที่เป็นมา ก็อาจจะได้เห็นมุกเก่าเรื่อง “ขั้วที่ 3” ถูกงัดออกมาขู่จะย้ายฝั่งสลับขั้วอีกก็ไม่แน่


          แต่ที่แน่ๆ ถ้า “พลังประชารัฐ” โดนหักหลัง คงจะเจ็บใจน่าดู และคงดูไม่จืดในสายตาคอการเมือง ไม่รู้ว่าตอนนี้ “บิ๊กตู่” และพ้องพวก หาเซรุ่มแก้พิษงูติดกระเป๋าเอาไว้หรือยัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ