คอลัมนิสต์

"ดีล" การเมืองกับทิศทางของประเทศไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ


    

          นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง จนถึงวันเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 การเมืองไทยยังคงเข้มข้นและยากต่อการคาดเดา โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องอาศัยการต่อรองกับพรรคที่จะเข้ามาร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ 

 

 

          พรรคหนึ่งที่ระบุว่ายังไม่ให้คำตอบชัดเจนว่าจะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้เก้าอี้สภากว่า 52 ที่ ล่าสุดแม้จะมีข่าวจากพรรคว่า วันที่ 4 มิถุนายน พรรคจะลงมติว่าจะขอเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หลังจากที่มีเทียบเชิญมาตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม
    

          ศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคภูมิใจไทยที่เข้าร่วมฝ่าย พปชร. ไปตั้งแต่ทีแรกแล้วมีสถานะสำคัญ เพราะทั้งสองพรรคมี สส. กว่า 50 ที่ หากพปชร. มุ่งเป้าที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือ 250 ตำแหน่ง เพื่อความชอบธรรมทางการเมือง ก็ต้องการ สส.ทั้งสองพรรคร่วมกันทั้งหมด แต่หาก พปชร. ไม่พุ่งมาที่เป้านี้ ทั้งสองพรรคก็จะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ
    

          หากได้ ส.ส. ไม่ถึง 250 ก็ต้องอาศัยเสียงในวุฒิสภามากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องได้เสียง 376 เสียงของสองสภารวมกัน ซึ่งถ้าหากอาศัยเสียงในวุฒิสภามาตั้งรัฐบาลมาจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของวุฒิสภา ที่ถูกคัดเลือกมาจาก คสช. เป็นภาพของการสืบทอดอำนาจชัดเจน
    

          “แต่พรรคภูมิใจไทยแกนบริหารพรรคมีอำนาจเด็ดขาด ต่างกับประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่มีความเป็นอิสระสูง ไม่ได้ถือว่าเป็นพรรคของใครหรือกลุ่มบุคคลใดภาพลักษณ์ของพรรคนี้มีมานานแล้ว สมัยของ มรว.เสนีย์ ปราโมช ยุคก่อน 6 ตุลา หัวหน้าพรรคได้ชื่อว่าฤาษีเลี้ยงลิง สส. ในพรรคอยู่ไม่สุข ควบคุมยาก ความไม่ลงรอยในพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ ทางพรรคพยายามที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ โดยการสร้างความอึมครึมไม่ชัดเจนว่าจะร่วมไหม ร่วมเท่าไหร่ ร่วมทั้งหมดหรือไม่ เพราะถ้าร่วมหมด พปชร. ก็ได้เกิน 250 ถ้าร่วมไม่หมด ก็ไม่ถึง 250”  


    
          ความอึมครึมทำให้ พปชร. คาดการณ์ได้ยาก และหาก พปชร. ต้องการให้ได้เสียงเกินครึ่งของสภาฯ ก็จะต้องง้อ ปชป. มากขึ้น จากความอึมครึมนี้ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนี้จึงสำคัญ เพราะเป็นตัวแปรกำหนดผู้ที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่ขณะเดียวกัน พรรคเองก็ต้องหาหนทางอยู่รอดและสร้างภาพลักษณ์ที่กอบกู้คะแนนเสียงกลับคืนมา


          ศ.ดร. ไชยันต์ชี้ว่า ทิศทางของการเมืองไทยที่จะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้หลายทาง กรณีแรกคือหากประชาธิปัตย์เข้าร่วม พปชร. จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ก็ขาดเสถียรภาพอย่างชัดเจนเพราะมาจากพรรคจำนวนมากจัดตั้งรัฐบาล


          กรณีถัดมาพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับ พปชร. แค่บางส่วน หรือไม่เข้าร่วมเลย จะทำให้พรรค พปชร. เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และหากมี สว. สนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลก็อาจถูกประชาชนประท้วงเพราะมีการสืบทอดอำนาจ และเสี่ยงต่อการถูกยุบสภาได้โดยง่าย 


          หรืออาจไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นได้ เนื่องจากวุฒิสภาเลือกใช้วิธีตัดสินใจไม่ลงคะแนนเสียงแก่พรรคใดๆ เลย ได้คะแนนไม่ถึง 376 ที่ จึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้พลเอกประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการณ์อยู่ 
 

          “กรณีแรกคือข่าวงูเห่าที่เราเห็น รวมถึงพรรคร่วม พปชร. ที่ขอข้อต่อรองเยอะแยะเต็มไปหมด แบ่งโควต้า แย่งเก้าอี้รัฐมนตรี บางทีอาจจะตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะเสียงไม่พอ ขอเจรจากันไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดด้วยว่าต้องเลือกนายกภายในกี่วัน ผิดจากฉบับอื่นๆ ยืดเวลาไปได้โดยที่สภายังอยู่ และมีรัฐบาล คสช. รักษาการณ์ ในเมืองนอกประเทศเบลเยี่ยมมี พรรคเล็กเยอะมาก ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2010  พรรคต่างๆได้คะแนนเสียงไม่เกิน 20 % ใช้เวลาเจรจาเกือบสองปีกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ แต่เขาไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลรักษาการณ์ไม่ได้มาจากรัฐประหาร”          


          แต่รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 ยังเปิดช่องทางให้มีการเสนอชื่อนายกฯบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้เสนอไว้ตอนสมัครรับเลือกตั้งได้ การจะไปเส้นทางนี้ จะต้องมาจากการริเริ่มของ ส.ส. โดยหา ส.ส. ให้ได้ 250 แล้วนำไปให้วุฒิสภา และวุฒิสภาก็จะเปิดประชุมร่วมสองสภาในญัตติที่จะให้มีการเสนอชื่อนายกฯนอกบัญชี  แต่ญัตตินี้จะผ่านก็ต่อเมื่อ ที่ประชุมร่วมสองสภาที่มี 750 คน ลงคะแนนเห็นด้วยเป็นจำนวนสองในสาม นั่นคือ 500 เสียง  ถ้าผ่าน เรื่องก็จะกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร 

 

          เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้เฉพาะ ส.ส. เท่านั้นที่จะเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ แต่จะต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส. อย่างน้อย 25 คนขึ้นไปและจะต้องได้รับความเห็นด้วยเป็นจำนวนรวม 50 เสียง  เมื่อเรื่องกลับมาที่สภาผู้แทนฯ แต่คราวนี้เปิดกว้าง สามารถเสนอชื่อคนนอกบัญชีเป็นนายกฯได้ (หรือจะเสนอชื่อคนในบัญชีอีกทีก็ยังได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม)  และถ้าใครที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้เสียงสนับสนุน 376  คนนั้นก็จะได้เป็นนายกฯจัดตั้งรัฐบาลต่อไป    


          แต่ถ้าญัตตินี้ขอให้มีการเสนอชื่อคนนอกบัญชีไม่ผ่านคือ ไม่ได้เสียงเกิน 500  ก็ดูจะเข้าทางตัน หรือแม้ว่าผ่าน แต่เมื่อมาลงคะแนนเลือกตัวนายกฯ ยังได้ไม่ถึง 376  เพราะสองสภาเห็นไม่ตรงกันกับชื่อของคนที่จะเป็นนายกฯ ก็เข้าทางตันอีกเหมือนกัน


          ทางออกสุดท้ายที่อาจจะเกิดขึ้นคือสภาพติดล็อกทางการเมือง ไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เป็นทางตันทางการเมือง ซึ่งมีมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญ 60 ระบุว่าให้กลับไปใช้ประเพณีการปกครอง ซึ่งของไทยคือการเห็นพ้องของ สส. และ สว. คือการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลปรองดอง 


          และจัดตั้ง นายกฯ คนนอกที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งอาจารย์ไชยันต์ ได้เสนอชื่อบุคคลระดับ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อานันท์ ปันยารชุน หรือพลเอกธีรชัย นาควานิช เป็นบุคคลที่น่าจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย


          อย่างไรก็ตาม อาจารย์ไชยันต์ชี้ว่าหากเกิดในกรณีต้องอาศัยมาตรา 5 การดำเนินการที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไปน่าจะเกิดขึ้นหลังเดือนตุลาคม ซึ่งจะเป็นเดือนที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนการพยุหยาตราชลมารค 
“ได้รัฐบาลก่อนก็อาจจะได้ เช่น ร่วมรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ก็อาจได้ขึ้นโดยเร็ว แต่ถ้าไม่ได้ ก็คงต้องเป็นหลังเดือนตุลาว่าจะเป็นอย่างไร ว่ากันใหม่” 

    
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ