คอลัมนิสต์

"กำนันเป๊าะ-สมพงษ์" การเมืองในฟองเบียร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนา  บางปะกง

 


          พลันที่มีข่าวยืนยันการจากไปของประมุขบ้านแสนสุข สมชาย คุณปลื้ม ก็มีคนแชร์ภาพ “กำนันเป๊าะ” และแสดงความอาลัยกันมากมาย รวมถึงภาพกำนันเป๊าะเป็นนายแบบโฆษณา “เบียร์ขุนแผน” พร้อมวลีเด็ด “หนักแน่น แต่นุ่มนวล”

 

 

          40 ปีที่แล้ว ผู้อำนวยการสร้างหนังไทย ได้เชื้อเชิญกำนันคนดังแห่ง ต.แสนสุข มาเล่นหนังหลายเรื่อง รวมถึงหนังชีวประวัติกำนันเป๊าะ เรื่อง “เหนือนักเลง” 


          บริษัท ไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด จึงกล่อมกำนันเป๊าะมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาเบียร์ขุนแผน ที่มีเป้าหมายเจาะตลาดชาวบ้าน ขณะที่เบียร์อมฤตนั้นอยู่ในตลาดบน


          อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องธุรกิจเบียร์เพียวๆ หรอก เพราะเบียร์อมฤต เบียร์ขุนแผน เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด ที่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ชื่อ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” 


          ประวัติไทยอมฤตฯ เริ่มจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ตั้งโรงเบียร์ขึ้นภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บางกอกเบียร์ จำกัด เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ตระกูลอมรวิวัฒน์ จึงมารับช่วงดำเนินกิจการต่อ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด

 


          ปี 2524  “สมพงษ์” ลูกเขยเจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ โดย อบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ชักชวนสมพงษ์มาเป็นรองเลขาธิการ และเหรัญญิกพรรคชาติประชาธิปไตย

 


          ก่อนจะตัดสินใจเล่นการเมือง สมพงษ์ได้ตระเวนไปตามเมืองต่างๆ ในเยอรมนีอยู่หลายปี เพื่อค้นหาสูตรการผลิตเบียร์ เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะแข่งขันกับเบียร์สิงห์


          ในที่สุด สมพงษ์ได้ค้นพบเบียร์อมฤต ที่ปรุงแต่งให้มีรสชาติเช่นเดียวกับเบียร์นอก แต่ค่ายไทยอมฤตก็ต้องผิดหวัง เพราะความพยายามที่จะส่งเสริมการขายเท่าไร ก็ยังสู้เจ้าตลาดอย่างสิงห์ไม่ได้เสียที

 



          สมพงษ์จึงหันไปเปิดตลาด “คลอสเตอร์เบียร์” เฮ้าส์เบียร์ท้องถิ่นของเยอรมนี และเป็นแบรนด์แรกที่เข้ามาเปิดตลาดเบียร์พรีเมียมในเมืองไทย


          แม้เส้นทางธุรกิจเบียร์จะลุ่มๆ ดอนๆ แต่เส้นทางการเมืองของสมพงษ์ กลับแล่นฉิว เมื่อตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2529 โดยสังกัดพรรคชาติประชาธิปไตย


          การเลือกตั้งครั้งนั้น สมพงษ์ในฐานะเลขาธิการพรรค พร้อมกับผู้อำนวยการพรรคชาติประชาธิปไตย เป็นคนหน้าใหม่ในสนามเขต 1 ชลบุรี แต่ได้ “กำนันเป๊าะ” เป็นผู้สนับสนุนหลัก จึงเข้าป้ายได้เป็น ส.ส.อย่างสบายๆ 

 


          เหตุที่กำนันเป๊าะหนุนสมพงษ์ เพราะติดหนี้บุญคุณเจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ และ “โป้ยเสี่ย” ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์


          ก่อนหน้านั้น กำนันเป๊าะได้กรุยทางการเมืองระดับชาติ โดยส่งน้องภรรยา นิคม แสนเจริญ ลงสมัคร ส.ส.เขต 2 ชลบุรี พรรคกิจสังคม และได้เป็น ส.ส.สมใจผู้มากบารมีบูรพาทิศ 


          เมื่อ “พล.อ.เกรียงศักดิ์” วางมือไม่เล่นการเมือง สมพงษ์จึงย้ายไปสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ภายใต้ร่มธงพรรครวมไทย ของพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ


          เลือกตั้ง 2535/1 สมพงษ์ย้ายจากพรรครวมไทย ตามพ่อเลี้ยงณรงค์ไปตั้งพรรคสามัคคีธรรม สมพงษ์ยังเจรจากับกำนันเป๊าะ จนได้ข้อตกลงว่า จะส่งลูกชาย สนธยา คุณปลื้ม ลงสนามเลือกตั้งเป็นหนแรก และให้นิคม แสนเจริญ ลาออกจากกิจสังคม มาอยู่พรรคของบิ๊ก รสช. (นิคมเสียชีิวิตก่อนวันสมัคร ส.ส.)


          หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีเลือกตั้ง 2535/2 สมพงษ์ย้ายไปสังกัดพรรคชาติพัฒนา พร้อมกับลูกชายสองคนของกำนันเป๊าะคือ สนธยา-วิทยา คุณปลื้ม


          16 พฤศจิกายน 2535 สมพงษ์รวบรวม ส.ส.จากพรรคชาติพัฒนา และพรรคชาติไทย จำนวน 21 คน มาก่อตั้ง “กลุ่ม 16” 


          จะว่าไปแล้ว คณะผู้ก่อการกลุ่ม 16 ตัวจริงคือ สมพงษ์, กำนันเป๊าะ และไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ปลายปี 2536 สมพงษ์ จึงเปิดตัวกลุ่ม 16 ด้วยการพานักข่าวรัฐสภา “ทัวร์บูรพา” ไปดูงานอีสเทิร์นซีบอร์ด


          นับแต่การเลือกตั้ง 2544 สมพงษ์ปักหลักอยู่ในพรรคการเมือง เครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ด้านตระกูล “คุณปลื้ม” ก็ย้ายจากพรรคชาติไทย และเข้ามาสังกัดพรรคไทยรักไทยเฟื่องฟู


          เลือกตั้ง 2550 กลุ่มเรารักชลบุรีหรือซุ้มแสนสุข กลับไปสังกัดพรรคชาติไทย แต่สอบตกยกจังหวัด เลยหันไปตั้งพรรคพลังชล กลับมายิ่งใหญ่อีกหน


          พ.ศ.นี้ สมพงษ์ยังสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ซุ้มกำนันเป๊าะย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ คงเหลือแต่ตำนานเบียร์ขุนแผน กับการเลือกตั้งที่ดุเดือดเลือดพล่านเมื่อปี 2529 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ