คอลัมนิสต์

"มาตรฐานจริยธรรม"ดาบอีกด้ามใช้ฟันคนการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          ท่านผู้อ่านลองสังเกตหรือไม่ว่าเวลานักการเมืองจะเช็กบิลกันในยุคนี้มักจะอ้าง “มาตรฐานทางจริยธรรม” มาตรวจสอบกัน

 

          วันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็มี ส.ส.ฝ่ายค้าน (วันนั้นยังไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่เป็นพรรคเพื่อไทยกับอนาคตใหม่) หยิบยกประเด็น “มาตรฐานทางจริยธรรม” มาถล่มนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในช่วงเปิดประชุมสภาสัปดาห์นี้ก็จะนำประเด็นมาขยายแผลต่อ

 

 

          จากนั้นกรณี “คุณช่อ” พรรณิการ์ วานิช รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ภาพไม่ค่อยจะเหมาะสมในอดีต ก็มีบรรดา “นักร้องเรียน” ไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.และองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ “มาตรฐานทางจริยธรรม” เช่นเดียวกัน มาตรฐานที่ว่านี้มาจากไหน เหตุใดจึงกลายเป็นอาวุธประหัตประหารกันทางการเมือง วันนี้ “ล่าความจริง” มีคำตอบมาฝาก

 


          “มาตรฐานทางจริยธรรม” กลายเป็น 1 ใน 8 ข้อที่เป็น “คุณสมบัติ” ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็หมายรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย
 

          รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้แบบนี้ “รัฐมนตรีต้อง... (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” แล้วเราจะดูมาตรฐานทางจริยจธรรมได้จากที่ไหน ถ้าอยากดูต้องย้อนตามไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 219 จะมี “เข็มทิศ” ให้เราไปตามต่อ


          มาตรา 219 บอกว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนด “มาตรฐานทางจริยธรรม” และเมื่อประกาศใช้แล้ว ให้ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย


          นี่เองคือสาเหตุที่ “มาตรฐานทางจริยธรรม” ถูกอ้างถึงในการตรวจสอบทั้ง “นายกฯ ลุงตู่” ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และ “คุณช่อ” ซึ่งเป็น ส.ส.อนาคตใหม่ เพราะถูกกำกับด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมเอาไว้ทั้งสิ้น


          มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้บังคับคณะรัฐมนตรี ส.ส. และส.ว.ด้วย ใช้ชื่อว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มกราคม ปีที่แล้ว

 




          ลองพลิกดูข้อ 5 กับข้อ 6 ในหมวด 1 ที่ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย...ข้อนี้ถูกฝ่ายค้านหยิบมาใช้ถล่ม “บิ๊กตู่” เพราะเคยทำรัฐประหาร


          ขณะที่ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย.... ข้อนี้ถูกใช้ถล่ม “คุณช่อ”


          เมื่อตามไปดูข้อ 27 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามี “ลักษณะร้ายแรง” ซึ่งก็แปลว่า เข้าข่ายขัดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 นั่นเอง เพราะฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง


          ปัจจุบันยังมีมาตรฐานทางจริยธรรมประกาศออกมาเป็นกฎหมาย เป็นพระราชบัญญัติ เพิ่งมีผลบังคับใช้ในปีนี้อีกด้วย ชื่อว่าพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 เมื่อมาตรา 5 เอาแค่ (1) วงเล็บเดียวก็พอ “ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็จะพบว่านี่คือข้อความที่เขียนให้สอดคล้องกันมาจากมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่บังคับใช้ถึงรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ตลอดจนรัฐมนตรีด้วย


          และเป็นที่น่าสังเกตว่า ความซื่อสัตย์สุจริตก็เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมที่สำคัญที่สุดอีกมาตรฐานหนึ่งที่กล่าวถึงทั้งในกฎหมายและในมาตรฐานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


          จุดนี้เองที่ว่ากันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การตั้งครม.เสร็จช้า เพราะเกรงว่ารัฐมนตรีหลายๆ คนมีบาดแผล มีชนักติดหลัง ถูกกล่าวหาว่าทุจริต มีเรื่องร้องเรียนในป.ป.ช. อาจถูกขยายแผลเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้ว


          ทางออกที่หลายคนเลือกใช้บริการก็คือส่ง “นอมินี” ไม่ว่าจะเป็นน้องนุ่ง หรือภรรยา สามี เข้าไปนั่งเก้าอี้แทน


          มาตรฐานทางจริยธรรมยังมีอีกหลายข้อ เช่น ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ยึดมั่นหลักนิติธรรม ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ ไม่คบหน้ากับผู้มีอิทธิพล เป็นต้น


          ไม่แน่ว่าถ้าใช้มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างเคร่งครัดจะเหลือ ส.ส.กี่คนในสภา เหลือรัฐมนตรีกี่คนในทำเนียบรัฐบาล!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ