คอลัมนิสต์

แผนสู้เพื่อสุขภาวะ "8กลุ่มเฉพาะ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

          คนชายขอบทั่วไทยกว่า 2,000 คน รวมตัวกันจัดเวทีครั้งใหญ่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หวังให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ด้านสุขภาพของกลุ่มคนที่มีหลากหลายแตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” !

 

 

          วันที่ 12-13 มิถุนายน 2562 “สสส.” เป็นเจ้าภาพจัดงานเวทีภาคประชาชน “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ Voice of the voiceless: the vulnerable populations” ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี


          ใครสนใจงานด้านจิตอาสา หรือชอบกิจกรรมทำประโยชน์เพื่อสังคม หากพลาดไม่ได้ไปงานนี้ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะเป็นการรวมตัวกันครั้งสำคัญในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการ งานเสวนาวิชาการ โชว์ศิลปะพื้นบ้าน ห้องอบรมปฏิบัติการเชิงลึกที่ช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เข้าใจสังคมไทยในวันนี้หลากหลายแง่มุม เช่น “อุดมการณ์และความร่วมมือเพื่อสังคมสูงอายุ”, “สุขภาวะมุสลิมไทย”, “การลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน”, “ปัญหาสถานะบุคคลและชาติพันธุ์”, “ความเป็นธรรมทางสุขภาพในมิติทางเพศ”, “นานาทัศนะต่อคุกไทย: สิ่งที่เห็น กับสิ่งที่ควรจะเป็น”, “ละครของผู้ไร้เสียง”, “เรื่องเล่าจาก อาสาพาเลิกบุหรี่” ฯลฯ


          “ภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ “สสส.” เล่าว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีการร่วมงานกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพในประชากรกลุ่มเฉพาะ 8 กลุ่ม ได้แก่ คนพิการ 2.04 ล้านคน ผู้ต้องขังหญิง 1.5 แสนคน ผู้สูงอายุ 13.3 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 21.19 ล้านคน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ 3.1 ล้านคน มุสลิม 3.2 ล้านคน คนไร้บ้าน 1,518 คน และผู้หญิง 37.7 ล้านคน กลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบจาก “ความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ” ซึ่งที่ผ่านมามีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะช่วยสร้างกลไกให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ช่วยส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะที่ดีในกลุ่มที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ส่งเสียงในสังคมมากนัก




          ในงานดังกล่าวมีการจัด “เวทีส่งเสียงสะท้อนปัญหาสุขภาพของแรงงานในระบบและนอกระบบ” เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์สุขภาพ (Health Literacy) ของกลุ่มคนทำงานภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทย โดย “ป้าอรุณี ศรีโต” ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คนงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่า 20 ล้านคนในไทย เช่น คนขายส้มตำ แผงกล้วยปิ้ง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนเย็บผ้า แม่บ้านล้างจ้าน เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ฯลฯ พวกเขาไม่เคยได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างแท้จริง ตั้งแต่สมัยกองทุนประกันสังคมยังไม่ให้เข้าร่วมเป็น “ผู้ประกันตน” เพราะถือว่าไม่มีนายจ้าง


          “แต่พอพวกเราช่วยกันต่อสู้จนมีสิทธิได้ส่งเงินประกันตนตามมาตรา 40 ก็มีเงื่อนไขการส่งเงินเยอะแยะ มีหลายทางเลือก เข้าใจยาก สิทธิไม่เท่ากับคนทำงานในระบบอื่นๆ เกิดความสับสน ทำให้ชาวบ้านไม่อยากเข้าร่วม เช่น มีให้จ่ายเดือนละ 70 บาทบ้าง จ่าย 100 บาทบ้าง รัฐก็สมทบน้อยเหลือเกิน พอพวกเราเจ็บป่วยต้องจ่ายแพง ก็ไม่อยากไปหาหมอ จนอาการหนัก ตอนนี้คงต้องรอให้จัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หวังว่าพวกเราจะเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกคนทำงานเป็นมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆ ขอให้แรงงานนอกระบบได้รับสิทธิในการรักษาสุขภาพได้จริง” ป้าอรุณีกล่าว


          ด้าน “ประทีป โมวพรหมานุช” และ “ธนกิจ สายโสภา” ตัวแทนเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ซึ่งทำงานคลุกคลีกับแรงงานมาหลายสิบปี สะท้อนถึงปัญหาการสร้างความรู้เรื่องสุขภาพในกลุ่มคนงานว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค เช่น คนงานไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น ทำงานยกของหนัก ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีสารเคมีพิษ หลายคนต้องทำโอทีด้วยวันละ 16 ชั่วโมง เพื่อให้ได้เงินค่าจ้างมากพอที่จะจ่ายค่าเลี้ยงดูครอบครัว


          ส่วนใหญ่ผู้ชายในโรงงาน เมื่อทำงานหนักก็อยากผ่อนคลายด้วยการกินเหล้าหรือสูบบุหรี่ ได้เงินมาก็หมดไป เจ็บป่วยก็ไม่อยากไปหาหมอ ต้องรอเจ็บหนักจนทนไม่ไหว เมื่อถึงเวลานั้นต้องพักงานหรือป่วยจนโดนนายจ้างไล่ออก ส่วนคนงานผู้หญิงมีปัญหาพวกโรคเบาหวาน ความดัน ฯลฯ โรคเรื้อรังเหล่านี้ค่อยๆ สะสมในร่างกายของแรงงานมาเป็นเวลานาน สิทธิประกันสังคมหรือประกันสุขภาพบัตรทองบางครั้งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงต้องหยุดพักรักษาตัวที่บ้าน ไม่ได้ค่าจ้างทำงาน


          “ภาคภูมิ สุกใส” ประธานสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ เล่าให้ฟังถึงปัญหาเรียกร้องสิทธิด้านต่างๆ ของคนทำงานว่า สถานประกอบการในเมืองไทยมีประมาณ 5 แสนแห่ง แต่มีสหภาพแรงงานแค่ 1,000 กว่าแห่งเท่านั้น โดยสหภาพแรงงานที่มีนั้น แบ่งการทำงานเป็น 3 รูปแบบคือ แบบที่ 1 ปกป้องสิทธิแรงงานเต็มที่ บางครั้งถึงกับต้องยอมชนกับนายจ้างโดยตรง เพื่อเจรจาต่อรองให้คนงานได้ประโยชน์สูงสุด มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์, แบบที่ 2 โอนอ่อนผ่อนตามนายจ้างบ้างเป็นกรณีหรือแล้วแต่สถานการณ์ แบบนี้มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และแบบที่ 3 คือตามใจนายจ้างทุกอย่าง แบบนี้มีประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกล่าวต่อว่า


          “ปัญหาตอนนี้คือ แรงงานไม่ได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะต่อรองสิทธิต่างๆ ที่ตัวเองควรได้รับ แม้แต่ระบบประกันสังคมที่กำหนดให้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีกับคนงานทุกคน หลายโรงงานจ้างทีมตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลมาตรวจที่โรงงานเลย แต่ปรากฏว่า ตรวจแล้วก็แค่แจ้งผลเป็นคนๆ ไป ไม่ได้บอกข้อมูลภาพรวมของสุขภาพคนโรงงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง เช่น มีคนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเท่าไร ความดัน เบาหวาน โรคกระดูกไขข้อ ฯลฯ ข้อมูลสถิติเหล่านี้ถ้าเอามาช่วยกันวิเคราะห์ จะทำให้สถานประกอบการได้ตระหนักว่า คนงานกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรสูงสุด แต่ละแผนกมีความแตกต่างกันอย่างไร เช่น ถ้ามีคนเป็นโรคเบาหวานเยอะมาก โรงอาหารต้องปรับให้มีอาหารผัก อาหารสุขภาพมากขึ้น หรือถ้าแผนกไหนป่วยระบบทางเดินหายใจมาก ก็ต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เรื่องแบบนี้ถ้าร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย สร้างกลไกดูแลสุขภาพร่วมกัน สุดท้ายนายจ้างก็จะได้ประโยชน์เพราะคนงานมีสุขภาพดีขึ้น ไม่เจ็บป่วยลาบ่อยๆ”


          จากเสียงสะท้อนข้างต้น แสดงให้เห็นว่า “คนที่อยู่ในวัยทำงาน” ทั้งแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีนายจ้าง หรือแรงงานอิสระนอกระบบนั้น ต่างมีปัญหาด้านสุขภาพแตกต่างกันไป รวมถึงการเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล


          ที่ผ่านมา “สสส.” คือองค์กรหลักสำคัญของประเทศไทย ในการทำงานผลักดันสร้างกลไกให้คนไทยมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย หรือเรียกรวมๆ ว่า “สุขภาวะ” โดยเฉพาะในกลุ่มคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ


          ดังนั้น การดูแล “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” ที่เป็นกลุ่มเปราะบางไม่ว่าจะเป็น นักโทษในเรือนจำ คนไร้บ้าน แรงงานต่างด้าว ฯลฯ ต้องสร้างกลไก “พื้นที่ต้นแบบการทำงาน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชากรกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ


          ล่าสุด “สสส.” เสนอให้มี “แผนพัฒนากลไกดูแลสุขภาพ” 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1.พัฒนากลไกช่วยพิสูจน์สิทธิของประชากรเพื่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่พึงมี 2.พัฒนากลไกการได้รับสิทธิบริการที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างกัน 3.พัฒนากลไกเข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ และ 4.พัฒนากลไกสื่อสารเพื่อการสร้างความเข้าใจการสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ


          กลไกทั้ง 4 ข้อข้างต้นนั้น หากทำได้ประสบความสำเร็จจริง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ สสส.คงทำงานฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมี “แผนสู้เพื่อสุขภาวะ” อย่างเป็นระบบ โดยการอาศัยความร่วมมือของ 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ 1 ตัวแรงงานหรือคนทำงานเองว่า หากอยากมีสุขภาพดีต้องร่วมมือที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ส่วนที่ 2 การร่วมมือกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อช่วยกันต่อสู้ผลักดันเรียกร้องรัฐให้ออกนโยบายหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และส่วนสุดท้าย คือ การร่วมมือกับกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ต่อสู้ให้บรรลุ “ความเป็นธรรมทางสุขภาพ”


          ยุทธศาสตร์การสร้างแนวร่วมสนับสนุน 3 ส่วนข้างต้น คือแผนสำคัญในการสู้เพื่อสร้างกลไก “สุขภาวะ” อย่างเท่าเทียมและเท่าถึง !

 

 รูปสีไม่ค่อยสวยเพราะแสงไฟในห้องประชุม ฝากปรับด้วยนะคะ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ