คอลัมนิสต์

สังคมดูแลกันและกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2562

 

 

          สถานการณ์การฆ่าตัวตายกลายเป็นปัญหาใหญ่ให้หลายๆ ประเทศหันมาให้ความสำคัญในการแก้ไขและสร้างความเข้มแข็งในสังคมตนเอง เช่นเดียวกับประเทศไทยมีการประมาณการว่าแต่ละปีมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน กระจายอยู่ทุกชุมชน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน ในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ต้นเหตุที่มักพบได้บ่อยที่สุดมาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์บุคคล สุรา ยาเสพติด สังคม และเศรษฐกิจ ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงมาจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด  ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก เป็นต้น

 


          จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ทุกๆ ปีจะมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 8 แสนคน เฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 40 วินาที โดย 78% เกิดในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าจะลดอัตราการเสียชีวิตลง 10% ภายในปี 2563 ซึ่งในประเทศไทยการฆ่าตัวตายทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุขได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียในเชิงเศรษฐศาสตร์พบมูลค่าที่ประเทศสูญเสียสูงถึง 16,000 ล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายกว่าครึ่งแสนคนต่อปีดังกล่าว ทำให้ประเทศต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจในการรักษาผู้พยายามฆ่าตัวตายปีละกว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ การฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบทางสังคมด้านอื่นๆ เช่น กระทบต่อความมั่นคง และปลอดภัยในจิตใจโดยเฉพาะคนใกล้ชิด ที่ยากต่อการประเมินความสูญเสียออกมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้

 


          หลายประเทศประสบปัญหาประชากรกระทำการฆ่าตัวตายและมีทีท่าที่จะทวีความรุนแรงขึ้น จึงได้มีมาตรการป้องปรามกันอย่างแข็งขัน บางประเทศอย่างสหราชอาณาจักรถึงกับตั้งกระทรวงป้องกันการฆ่าตัวตายโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการศึกษา ตระหนักรู้ และการสนับสนุนทางสุขภาพจิต รวมไปถึงการตีพิมพ์รายงาน “สภาพการณ์ชาติ” (State of the Nation) ที่จะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือให้โรงเรียนใช้ตรวจวัดสุขภาพจิตของนักเรียน โดยนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่า “เราสามารถหยุดยั้งตราบาปที่บีบให้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในความเงียบงัน เราสามารถป้องกันโศกนาฏกรรมการฆ่าตัวตายที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย สามารถดูแลสุขภาพจิตลูกหลานของเราให้ดีที่สุดได้”

 


          การฆ่าตัวตายทุกเหตุการณ์จะมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุและเป็นปัจจัยอันสลับซับซ้อนเสมอ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐรวมไปถึงเอกชนและภาคประชาสังคม ต่างให้ความสนใจกับความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกับตัวเองหรือคนที่คุณรัก คนที่คุณห่วงใย การฆ่าตัวตายสำเร็จของคน 1 คน จะมีผลกระทบต่อคนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 5 คน ได้แก่ พ่อ, แม่, พี่น้อง, เพื่อนสนิท, คนรัก และพร้อมที่จะหาทางป้องกันแก้ไขปัญหา โดยได้มีการกำหนดลดอัตราการฆ่าตัวตายให้เหลือ 6.0 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี 2564 และหากองคาพยพของชาติเดินหน้าไปตามครรลองอย่างเข้มแข็ง สังคมและประชาชนร่วมมือกันเฝ้าระวังปัญหาโดยการสังเกตสัญญาณเตือนของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม หรือจากสัญญาณเตือนจากการโพสต์ลงในโซเชียล เมื่อสังคมดูแลกันและกันเชื่อว่าปัญหาความเลวร้ายจะลดลงได้แน่นอน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ